คำว่า “พระบรมราชโองการ” หมายถึง คำสั่งราชการของพระมหากษัตริย์ หลายคนคิดว่าเป็นคำที่ใช้กันมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ที่จริงแล้วเพิ่งมาเริ่มใช้ในรัชสมัย“พระจอมเกล้า” (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2411) โดยมีความเกี่ยวพันกับ “พระปิ่นเกล้า” ซึ่งก่อนหน้านี้คำว่า “ตรัส” ของพระมหากษัตริย์ จะใช้คําว่า “พระราชโองการ” เท่านั้น ไม่มีคำว่า “บรม” นำหน้า
ที่มาของคำว่า “พระบรมราชโองการ” ต้องย้อนความไปว่า รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัว (ครองราชย์ พ.ศ. 2394-2404) โดยให้มีพระราชอิสริยยศเทียบ “พระมหากษัตริย์” หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ที่ฝรั่งเรียกว่า “Second King”
การสถาปนา “พระปิ่นเกล้า” ครั้งนี้ มีความพิเศษแตกต่างจากการสถาปนาพระมหาอุปราชหรือวังหน้า ตามโบราณราชประเพณีเช่นแต่ก่อนมา ทั้งในอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า (จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยกอง บก. ศิลปวัฒนธรรม)
“นามวังน่าซึ่งเคยเรียกในราชการว่า ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า ‘พระบวรราชวัง’ พระราชพิธีอุปราชาภิเศกให้เรียกว่า ‘พระราชพิธีบวรราชาภิเศก’ พระนามที่จาฤกในพระสุพรรณบัตรแบบเดิมว่า ‘พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล’ พระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า ‘สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’
*แลขานคำรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯ เคยใช้ว่า ‘พระบัณฑูร’ โปรดให้เปลี่ยนเป็น ‘พระบวรราชโองการ’ เติมคำ ‘บรม’ เป็นฝ่ายวังหลวง แลคำ ‘บวร’ เป็นฝ่ายวังน่าเป็นคู่กัน“*
การเติม “บรม” หรือ“บวร” เข้าไปในคำว่า “พระราชโองการ” คงเป็นพระบรมราชกุศโลบายในรัชกาลที่ 4 เพื่อแยกให้เห็นความแตกต่าง และไม่ให้สับสนระหว่าง “พระเจ้าแผ่นดินวังหลวง” และ “พระเจ้าแผ่นดินวังหน้า” คำว่าพระบรมราชโองการจึงเพิ่งเริ่มใช้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. 2394 เป็นต้นมา
การที่รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนคำตรัสของพระมหากษัตริย์ จากพระราชโองการ เป็นพระบรมราชโองการ คงด้วยพระราชประสงค์เพื่อแยกพระบรมราชอิสริยยศอัน “เทียบเท่า” แต่ “ไม่เท่าเทียม” กัน ระหว่าง “กษัตริย์วังหลวง” กับ “กษัตริย์วังหน้า” นั่นเอง
นอกจากนี้ คงเป็นเหตุที่ทำให้ทรงสถาปนา พระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ (องค์ใหม่) ขึ้นแทน พระราชลัญจกรมหาโองการ หรือมหาอุณาโลม (องค์เดิม) เพื่อทรงย้ำพระราชดำริดังกล่าวให้เป็นที่ชัดเจนในพระราชลัญจกร ซึ่งจะต้องใช้ประทับกำกับในเอกสาร อันเป็น “คำสั่ง” ของพระมหากษัตริย์ ด้วยการระบุคำว่า “พระบรมราชโองการ” เป็นตัวอักษรลงในพระราชลัญจกร จากเดิมที่เป็นเครื่องหมายอุณาโลม เช่น ในพระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์เดิม)
รัชกาลที่ 4 ยังทรงใช้อักษรขอม เพื่อให้คำว่าพระบรมราชโองการดูศักดิ์สิทธิ์ เป็นประกาศิต แต่ก็ยังทรงรักษาสาระสำคัญของพระราชลัญจกรมหาโองการ (องค์เดิม) ที่ประกอบด้วยเครื่องหมายอุณาโลมเอาไว้ด้วย ดังเห็นได้จากอักขระ 3 ตัว ที่อยู่ด้านบนของคำว่า “พระบรมราชโองการ” ซึ่งประกอบกันเป็นคำว่า “โอมฺ” ซึ่งเทียบได้กับเครื่องหมาย “อุณาโลม”
อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ในพระราชหัตถเลขาบางองค์ของรัชกาลที่ 4 ก็ทรงใช้เครื่องหมายอุณาโลมเป็นเครื่องหมายขึ้นต้นบรรทัดด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า หนังสืออริยกะ 3 ตัวในพระราชลัญจกรพระบรมราชโองการ เป็นการนำคำว่า “โอมฺ” อันแทนด้วยเครื่องหมายอุณาโลม ซึ่งใช้เป็นพระราชลัญจกรมหาโองการหรือมหาอุณาโลม (องค์เดิม) มาใช้ในรูปแบบของหนังสืออริยกะ
ทั้งนี้ เพื่อให้พระราชลัญจกรเหล่านี้มีความหมายเป็นประกาศิต ประดุจ “โองการ” ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นสมมติเทพ
ดังที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงค์ ทรงวิจารณ์ไว้ว่า “อักขระ โอม นั้น ไม่มีทางเถียงว่าจะไม่ใช่ทางไสย ไม่ได้ใช้ในทางพระพุทธศาสนา และอักขระนั้นเองทำให้พระราชลัญจกรนั้นได้ชื่อว่า มหาโองการ และตรงกับคำที่ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า พระบรมราชโองการ”
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้จัก “อริยกะ” อักษรที่รัชกาลที่ 4 “ทรงประดิษฐ์” อักษรนี้คืออะไร ทำไมชื่ออริยกะ ?
- ก่อนพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ทรงกราบทูล “ความลับ” เรื่องใดถวายรัชกาลที่ 4 ?
อ้างอิง :
พิชญา สุ่มจินดา. ถอดรหัส พระจอมเกล้า, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2557
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2562