ผมเคยไปบ้านสามเรือน ตำบลสามเรือน อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เมื่อปลายปี 2561 ตอนที่มีกิจกรรมร่วมระหว่างกลุ่มชาวบ้านและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ซึ่งมีนักวิชาการมาทำงานวิจัยเรื่องเห็ดตับเต่า อันเป็นผลผลิตธรรมชาติที่สำคัญของชาวบ้านที่นี่มานมนาน เลยพลอยได้เห็นว่า งานวิจัยที่สนับสนุนโดย สกว. ในช่วง 5 ปีนี้ ได้ช่วยส่งเสริมให้อาชีพหาเก็บเห็ดตับเต่าของชาวบ้านมีแนวทางพัฒนาต่อยอดไปได้อีกมาก ทั้งเรื่องการขยายพันธุ์ ปรับปรุงพื้นที่ การตลาด ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่เดี๋ยวนี้ไปไกลถึงวิธีดองน้ำเกลือ อบแห้ง ปรุงน้ำพริกอร่อยๆ ผสมข้าวเกรียบ กับทั้งทางชาวบ้านเองก็คิดสูตรเชื้อเห็ดทั้งแบบแห้งแบบน้ำ จำหน่ายให้ใครก็ได้สามารถซื้อหาเอาไปหว่านเพาะต่อได้ด้วย
ที่ผ่านมา มีงาน “เห็ดตับเต่างามที่สามเรือน” ผมแวะไปเที่ยวมาด้วย งานนี้ ทุกปีทาง อบต.จะจัดใหญ่หลายวันเลยครับ แต่ปีนี้ พอมีวิกฤตโควิด 19 จังหวัดเลย ขอมาเป็นแม่งานแทน มีการจัดงานขนาดไม่ใหญ่นัก โดยทีมงานของหนังสือพิมพ์มติชน เข้ามารับอำนวยการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ประกวดปิ่นโตอาหารพื้นบ้าน อันเป็น “ของเด็ด” ของกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมบ้านสามเรือน (กับข้าวเขาอร่อยมากครับ) มีบรรยายสนุกๆ กับจำหน่ายผลิตภัณฑ์เห็ดตับเต่า ทั้งสดๆ ดอกใหญ่ๆ ทั้งแปรรูปอย่างที่กล่าวแล้ว
เสียดายที่คงเป็นวันหยุดยาว และความซบเซาจากวิกฤตโรคระบาดยังไม่จางหาย จึงมีคนมาเที่ยวงานไม่มาก อย่างไรก็ดี เมื่อใช้เวลาขับรถวนดูรอบๆ หมู่บ้าน ก็พบว่าปริมาณของดงต้นโสนมีมากขึ้นอย่างสังเกตได้ บางบ้านแทบจะล้อมรอบด้วยต้นโสนแทนรั้วเลยทีเดียว
นักวิจัยบอกว่า เห็ดตับเต่าเป็นเห็ดที่ต้องอาศัยพึ่งพาระหว่างตัวเห็ดเอง และรากพืชตระกูลถั่วบางชนิด อย่างเช่น ทองหลาง แค โดยเฉพาะโสน การที่ยังพบเห็นโสนเป็นดงใหญ่ๆ ในย่านนี้ย่อมเป็นสัญญาณที่ดี ว่ากิจการเพาะเห็ดของชาวบ้านเริ่มก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม
เห็ดตับเต่าจึงไม่ได้ขึ้นอยู่ริมเถาย่านางอย่างในเพลงมนต์รักลูกทุ่ง ผลงานการประพันธ์ของ ไพบูลย์ บุตรขัน ทว่าผูกพันอยู่กับดงโสนและท้องนาชายทุ่งบางปะอินอย่างแนบแน่น
……………..
พอคนมาเที่ยวงานไม่มากนัก ผมก็เลยพอได้อาศัยพูดคุยกับ “คนเพาะเห็ด” บ้าง หลังจากซื้อขวดน้ำเชื้อเห็ดพร้อมเมล็ดโสนจากแผงของพี่สมพร สุทธลักษณ์แล้ว ผมก็ชวนพี่เขาคุยให้ฟังถึงผลผลิตเห็ดปีนี้
“ปีนี้เห็ดน้อย” พี่สมพรว่า “เพราะว่าฝนมันน้อยมากน่ะ น้ำในคลองเลยเน่า เห็ดนี่พอหน้าน้ำปลายปีแล้วน้ำไม่ท่วม มันจะไม่ค่อยขึ้นนะ แล้วน้ำน้อยน้ำเน่าแบบนี้ พอเราชักเข้ามาในแปลงโสน เห็ดมันยิ่งจะไม่ค่อยขึ้นหรอก ปกติสามเรือนบ้านเรานี่น้ำท่วมนานสามเดือนเลยแหละ พอน้ำลง ดินมันก็พร้อมพอดี สมมุติฝนเริ่มมานี่ ถ้าตกวันหนึ่ง เว้นไปสองวัน อากาศร้อนจัดๆ แบบนี้เห็ดจะออกเยอะมาก ตีเสียว่าพื้นที่ 3-4 ไร่ เก็บครั้งหนึ่งได้ 200-300 กิโลกรัมเลยก็มี” พี่สมพร บอกว่า ส่วนใหญ่จะขายส่งไปทางภาคอีสาน แถบอุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น เพราะคนอีสานชอบกินเห็ดตับเต่ามาก
“คนอีสานเขาชอบกินเห็ดแก่ ดอกโตๆ เนื้อออกฟ่ามๆ หน่อย เขาเอาไปแกงอ่อม ว่าน้ำใบย่านางมันซึมเข้าเนื้อเห็ดดีกว่าเห็ดอ่อน ที่จริงก็คนอีสานที่เข้ามาทำงานย่านนี้เมื่อห้าสิบปีก่อนแหละ ที่บอกเราว่าไอ้เห็ดนี่มันกินได้ แต่ก่อน คนแก่ๆ จะคอยเอ็ดเด็กๆ ว่า ‘มันเหม็น พวกเอ็งอย่าไปเหยียบเล่นสิ’ พอรู้ว่ากินได้ เราก็ลองเก็บไปขายตลาดวังน้อย ได้กิโลกรัมละ 10 บาทตอนนั้น คิดดูสิ ตอนนี้อย่างต่ำก็ตก 120 บาท”
พี่สมพร บอกอีกว่า นอกจากแกงกินแบบแกงลาวตามอย่างคนอีสานแล้ว ชาวบ้านสามเรือนชอบแกงคั่วใส่หอยแห้งหรือปลาย่าง หรือไม่ก็ผัดพริกใบโหระพา โดยล้างเห็ดพอเกลี้ยงๆ แช่น้ำปูนใสไว้ เห็ดจะกลายเป็นสีส้มแดง สีเหลือง กรุบกรอบอร่อยขึ้น กลิ่นดินก็จะอ่อนลงบ้าง
ผมถามถึงวิธีใช้น้ำเชื้อเพาะเห็ดตับเต่า ได้ความว่า ต้องปลูกต้นโสนก่อน โดยหว่านเมล็ดปลูกแค่ครั้งเดียว โสนจะสืบต่อพันธุ์เองตลอดไปตามธรรมชาติ โดยเราสับฟันต้นแก่ลงดินให้เป็นปุ๋ยได้ทุกปี เมื่อใกล้หน้าฝน ก็ราดน้ำเชื้อเห็ดที่โคนต้น อย่างไรก็ดี อัตราการงอกของเห็ดตับเต่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ คือน้ำท่าธรรมชาติในย่านนั้นต้องไม่เน่าเสีย ปราศจากมลพิษตกค้างจากสารเคมีเกษตรอุตสาหกรรม แม้แต่หากมีการฉีดยาฆ่าหญ้า เห็ดก็จะไม่ขึ้น
ดังนั้น การที่ชุมชนใด หรือละแวกบ้านใครจะสามารถเพาะเชื้อเห็ดตับเต่าให้ได้ผล ก็จำต้องพยายามรักษาสภาพแวดล้อมของดินฟ้าอากาศโดยรวมให้มีสภาวะปลอดสารพิษที่สุดเท่าที่จะทำได้
แปลงเห็ดตับเต่าที่งอกงามดีจึงเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสภาพแวดล้อมในชุมชนที่สำคัญอย่างหนึ่ง
…………………..
ความที่ไม่ได้มีพื้นเพอยู่ในวัฒนธรรมน้ำท่วม ผมนึกไม่ค่อยออกในสิ่งที่ครูบาอาจารย์มักสอนว่า น้ำท่วมในลุ่มน้ำภาคกลางจะช่วยสร้างสมดุลให้พื้นที่ แต่พอช่วงหลังๆ มานี้ เมื่อไปได้ยินจากปากคำเจ้าถิ่น มันค่อนข้างเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว
ผมกับเพื่อนชวนกันขับรถไปบ้านโคกห้วย อำเภอบางซ้ายพระนครศรีอยุธยา ตามพิกัดที่ระบุในอินเตอร์เน็ตว่า มีชุมชนที่ยังผลิตน้ำปลาจากปลาน้ำจืดบรรจุขวดขาย ผมชอบตามไปชิมไปซื้อน้ำปลาแบบนี้ครับ เพราะพบว่า บางแห่งที่ยังทำแบบดั้งเดิมจริงๆ คือปรุงรสน้อยมากๆ นั้น หอมกลิ่นปลาชวนกินอย่างที่หาไม่ได้ในน้ำปลาที่ผลิตระดับอุตสาหกรรม
ปรากฏว่าไปถึงได้พบผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเธอสารภาพว่า ไม่ได้ทำกันมาหลายปีแล้ว เพราะน้ำฝนน้อย โดยเฉพาะปีนี้ ซึ่งแล้งจัดมาก นอกจากจะไม่มีปลาธรรมชาติมากพอทำกะปิน้ำปลาเหมือนอย่างเคยแล้ว ในเมื่อไม่มีน้ำท่วมมาช่วยชะล้างดิน สารเคมีพิษที่ตกค้างจากการทำนาก็แพร่ไหลปะปนกับน้ำตามคูคลอง ทำให้พืชผลเสียหาย ปลาที่เลี้ยงในบ่อตายเกือบหมดเมื่อเผลอชักน้ำเข้ามาเติม
ผืนดินที่จำต้องอาบยาพิษเพิ่มขึ้นทุกปี ในเมื่อไม่ถูกชะล้างด้วยน้ำท่วมตามธรรมชาติ พิษยานั้นก็เริ่มย้อนกลับมาคุกคามวิถีท้องถิ่นของผู้คน
ช่วงหลังๆ ผมเริ่มชินแล้วครับ กับการพบว่า ผมมักมาสายไปในหลายๆ แห่ง “คุณมาช้าไปห้าปีเองน่ะ ตอนนี้ไม่มีใครเขาทำกันแล้ว” เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยๆ เมื่อดั้นด้นไปถามหากะปิ น้ำปลา น้ำเคย ฯลฯ จนถึงแหล่งผลิตดั้งเดิม
ได้แต่หวังว่า อีกหลายปีข้างหน้า ถ้าได้กลับไปบ้านสามเรือนอีก ที่นั่นจะยังมีเห็ดตับเต่าให้ผมและเพื่อนๆ พอได้ซื้อหา ท่ามกลางแนวไสวของดงโสนที่ขยายขอบเขตออกไปจนรอบตำบลหมู่บ้านมากกว่าทุกวันนี้..
……………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2563
ความเห็น 0