ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เปิดเผยว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ปรับระบบการให้คำแนะนำการเดินทางของคนอเมริกัน จากเดิมที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศแนะนำให้คนอเมริกันไม่เดินทางไปต่างประเทศทุกประเทศ (Do Not Travel advisory) ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา รวมทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้ยกระดับความเสี่ยงเรื่องการเดินทางโดยแนะนำให้ไม่เดินทางโดยไม่จำเป็น (Non-essential Travel)
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประเมินสถานการณ์ในระดับโลกและระดับประเทศใหม่ เนื่องจากแต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดโรคโควิด-19ได้ไม่เท่ากัน บางแห่งสถานการณ์ดีขึ้น ในขณะที่บางแห่งสถานการณ์แย่ลง
ดังนั้นจึงได้เปลี่ยนจากการประกาศคำแนะนำการเดินทางรวมกันทั่วโลกมาเป็นการประเมินเป็นรายประเทศ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศและศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้วิเคราะห์จากสถานการณ์การติดเชื้อ
ปัจจัยเรื่องการเดินทาง โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการควบคุมและบริหารสถานการณ์ จึงได้ออกเป็นคำแนะนำเรื่องการเดินทางให้กับคนอเมริกันเป็นรายประเทศ ซึ่งจะประเมินสถานการณ์เป็นระยะ
ในการนี้ ประเทศและดินแดนต่างๆส่วนใหญ่ทั่วโลก (207 ในจำนวน 241 ประเทศหรือดินแดน) ยังถูกจัดอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งยังแนะนำให้ไม่เดินทางไปยังประเทศหรือดินแดนดังกล่าว รวมทั้งไม่มีประเทศใดจัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง และอีก 14 ประเทศมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินได้
สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงต่ำซึ่งมีเพียง 7 ประเทศหรือดินแดนเท่านั้น ได้แก่ไทย นิวซีแลนด์ ฟิจิ หมู่เกาะโบแนเรอ ซาบา ซินต์เอิสตาซียีส และเซนต์บาร์เตเล
มีโดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำมากอีก 13 ประเทศ/ดินแดน เกือบทั้งหมดเป็นเกาะหรือประเทศขนาดเล็กหรือมีประชากรไม่มาก
สรุปข้อมูลการประเมินความเสี่ยงเพื่อคำแนะนำการเดินทาง โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC)ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีดังนี้
1. กลุ่มความเสี่ยงสูง จำนวน 207 ประเทศ/ดินแดน
2. กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง ไม่มี
3. กลุ่มความเสี่ยงต่ำ จำนวน 7 ประเทศ/ดินแดน โดยในทวีเอเชีย ได้แก่ ไทย และนิวซีแลนด์
4. กลุ่มความเสี่ยงต่ำมาก จำนวน 13 ประเทศ/ดินแดน โดยในทวีปเอเชีย ได้แก่ บรูไน ลาว มาเก๊า ไต้หวัน ติมอร์-เลสเต
5. กลุ่มที่ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมิน จำนวน 14 ประเทศ/ดินแดน
ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19ในระดับนานาชาติ ( 8 สิงหาคม 2563 ) พบว่าการระบาดยังรุนแรงมากทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันเกือบ 300,000 คนหรือเพิ่มขึ้นหนึ่งล้านคนในทุก 3-4 วัน ที่สำคัญคือแนวโน้มการระบาดได้เปลี่ยนไปอีกระยะ จากการมีจุดศูนย์กลางการระบาดเป็นบางหย่อมกลายเป็นการระบาดในเกือบทุกจุดทั่วโลกพร้อมๆ กัน รวมทั้งได้เกิดการระบาดระลอกที่สองในหลายประเทศที่เคยควบคุมการระบาดได้ดีมาก่อน