โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ตอนยอน’ ครีเอเตอร์สุดสร้างสรรค์ผู้มีแพชชั่นกับการส่งต่อ 'ความสุข' ให้ผู้คน

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 22 ก.ย 2564 เวลา 17.00 น. • J.PNP

ไฮไลต์

  • ตอนยอนเป็นบัณฑิตคณะครุศาสตร์ผู้มีแพชชั่นในการสร้างสื่อบันเทิง ทำคอนเทนต์แบบลุยเดี่ยวสานฝันในสิ่งที่ตนเองชอบ และอยากจะส่งต่อ 'ความสุข' ให้กับผู้คน
  • จุดเด่นของคอนเทนต์ที่นอกจากถูกใจผู้คนในทุกโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มแล้ว คือ 'ความแฟร์' ที่ตอนยอนมอบให้ทุกฝ่าย
  • ตอนยอนอยากสร้างคอมมูนิตี้เพื่อกลุ่ม LGBTQ ที่เน้นทั้งการสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้ฉบับย่อยง่าย และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในชีวิตที่เคยพบเจอ

บนโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์มากมาย ความท้าทายที่นอกเหนือจากการมีผู้ติดตามหรือคนดูที่เพิ่มขึ้นแล้ว การเป็นตัวของตัวเอง และมีความชัดเจน หรือที่เรียกว่าลายเซ็นของคอนเทนต์นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า แต่กลับเป็นสิ่งที่ 'ตอนยอน' คอนเทนต์ครีเอเตอร์ไฟแรง ที่นิยามตัวเองเป็น แฮปปี้ บิวเดอร์ (Happy Builder) รู้สึกสนุกและหลงใหลเป็นอย่างมาก เพราะว่าจะได้ท้าทายกับตัวเองทั้งในเรื่องผลิตการคอนเทนต์ อีกทั้งยังแสดงความเป็นตัวเองให้ผู้คนได้เห็น ทั้งผลงาน Gaymar แกรมม่าฉบับเกย์, Basic Gay vocabulary, Vocab History ฯลฯ แสดงให้เห็นแล้วว่าตอนยอนมีแพชชั่น และพลังอย่างมากมายที่จะสร้างคอนเทนต์ให้กับคนดู

จุดเริ่มต้นของคอนเทนต์สุดฮา แชร์ความสุขต่อไม่หยุด

"เริ่มต้นจาก โควิด-19 ระลอกแรก ตอนนั้นยังเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4 อยู่ ทำให้ชีวิตของเราอยู่แต่ในห้อง และก็เป็นความบังเอิญจากที่เราก็ถ่าย Story IG ตามปกติ แต่ Story อันนี้มีคนตอบกลับมาเยอะมาก แบบมาขำเยอะมาก เราก็เลยลองเอาไปลงในเฟซส่วนตัว แล้วมีคนแชร์ต่อเยอะ ทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าคอนเทนต์ของเรา ความขำหรือรูปแบบความตลกในแบบของเรามันขายได้ คือคนมาขำ มามีความสุข เราก็เลยรู้สึกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเราโดยบังเอิญ แต่จริง ๆ เราอยากทำคอนเทนต์มานานมาก แต่ว่าไม่กล้าที่จะเริ่ม มัวแต่รอทุกอย่างพร้อม ต้องมีกล้อง มีคนตัดต่อ ความบังเอิญนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าคิดง่าย ๆ สั้น ๆ ก็ทำคอนเทนต์ได้"

ไหนใครบอกสงกรานต์นี้ห้ามเล่นน้ำ นี่วันแรกเองนะ #สงกรานต์2020

Posted by ตอนยอนฯ on Monday, April 13, 2020

ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค สานต่อความชอบของตัวเอง และลงมือทำ

"ก่อนหน้านี้ตอนยอนได้ไปเป็นเด็กฝึกงาน เรื่องราวชีวิตมันแปลก คือเราเองเรียนคณะครุศาสตร์ แต่ไม่ได้ชอบมาก เพราะคิดว่าเดี๋ยวเรียบจบคงไม่ได้เป็นครู ในช่วงชั้นปีที่ 3 เด็กคณะอื่น ๆ ก็จะไปฝึกงาน สำหรับคณะครุศาสตร์จะไม่มีการฝึกงาน เพราะต้องรอไปฝึกสอน ก็เลยรู้สึกว่าปิดเทอมที่ว่างช่วงนั้น เราต้องเตรียมโปรไฟล์ เตรียมประสบการณ์ของเราที่ไม่ได้เรียนคณะนิเทศศาสตร์ หรือศาสตร์อะไรแบบนี้ ต้องไปหาประสบการณ์เลยสมัครไปฝึกงานที่ Trasher Bangkok เนียนเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานก่อน พอฝึกงานเสร็จ พี่เขาก็มีโปรเจ็กจะทำเป็นวิดีโอไวรัล ก็ให้ตอนยอนมาเล่น ก็เลยได้มีผลงานออกสู่สายตาประชาชนหลังฝึกงาน

หลังจากที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานโปรดักชั่นใด ๆ เลย ไม่รู้เลยว่ากระบวนการจะมาเป็นคลิปหนึ่งคลิปจะเป็นอย่างไรบ้าง แต่การมาทำงานเบื้องหลังทำให้ได้เห็นทุกอย่าง ก็เลยเข้าใจยิ่งขึ้น และพอได้อยู่หน้าจอ ก็ชอบมาก ๆ เลยโมเมนต์ที่เราได้แสดง ได้ทำ ก็เลยรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่เราอยากทำ แต่แม้รู้ตัวแล้วก็ต้องทำหน้าที่ในการเรียนต่อในคณะครุศาสตร์ให้สำเร็จ

จากการต้องเรียนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง จึงพยายามอย่างเต็มที่ และส่งต่อบทเรียนของตัวเองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น

"การที่เราอยู่ชนบทมาก ๆ บอกเลยว่าคณะแปลก ๆ ไม่รู้จักเลย ไม่ว่าจะเป็น นิเทศศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ ไม่รู้จัก จบมาทำอะไร จะมีแค่ค่านิยม รับราชการ เป็นหมอ เป็นครู ทำให้เราติดภาพนั้นมาด้วยว่า ต่อให้เราเรียนที่ไหน เรียนเสร็จเราไม่ได้มีบ้านที่กรุงเทพ ก็กลับบ้านไปเป็นข้าราชการสิ ข้าราชการจะได้สวัสดิการ มีค่ารักษาฟรีนะ ไม่รู้จักการทำประกันหรือตัวเลือกอื่น ๆ ในชีวิต ก็เลยเรียนครูแหละ นอกจากค่านิยม และด้วยบริบทสังคมก็ไม่รู้จักคณะอื่น ๆ และไม่รู้จักตัวเองด้วย ก็เลยเลือกเรียนครู นึกไรไม่ออกก็เป็นครู หรือเป็นข้าราชการสักอย่าง เลยตัดสินใจเรียนครู 

"แต่พอได้เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม แม้เรียนคณะครุศาสตร์ แต่ก็เจอเพื่อนต่างคณะเพราะเราไปทำกิจกรรม เราก็รู้สึกไขว้เขวว่า เอ๊ะ เรียนครู จะเป็นครูต่อจริงเหรอ จริง ๆ เราเคยยื่นคะแนนใหม่ และติดคณะนิเทศศาสตร์ แต่เราต้องตัดสินใจว่าจะซิ่วไหม แต่ด้วยการที่เราเป็นมือใหม่มาก ๆ ของบ้านนอกเข้ากรุง เราก็ติดค่านิยมเดิม ๆ ไม่กล้าคิด คือไปเรียนนิเทศชอบนะ แต่จบมาจะทำยังไง ไปรับน้องอะไรแล้วนะ เปิดโลกมาก สนุกมาก เอนจอยมาก แต่ก็ตัดสินใจว่าไม่ซิ่ว เพราะเรียนจบกลัวไม่มีงานทำ ตกงานนะ เราจนนะ 

"วันสุดท้ายที่จะลาออกได้ ฝ่ายสำนักทะเบียนที่มหาวิทยาลัยก็ยังบอกว่าได้ แต่ต้องให้หลายคนอนุมัติ ก็เลยรู้สึกว่าเป็นโชคชะตาว่าจะต้องเรียนครูต่อ ทั้ง ๆ ที่ย้อนกลับไป เราย้ายคณะในมหาวิทยาลัยเดิม มันน่าจะพูดคุย และยื่นได้อยู่ แต่เราดันเลือกยอมแพ้ การตัดสินใจครั้งนั้นเป็นบทเรียนทำให้เรากล้าที่จะคิดมากขึ้น แต่สุดท้ายก็เรียนคณะครุศาสตร์ จริง ๆ จบปีสองเรายื่นอีกรอบนะแต่คราวนี้ไม่ติด ก็เลยต้องเรียนที่เดิม จึงได้บทเรียนหลายอย่าง

"เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำค่ายจุฬา - พังงา รวมเพื่อนในมหาวิทยาลัย ให้เด็กต่างจังหวัดกล้าที่จะฝัน กล้าที่จะคิด ดูพี่ เดี๋ยวพี่ทำให้ดู ก็เขียนโครงการมหาวิทยาลัยลงใต้ เพื่อจัดค่ายสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก เพื่อให้เด็กกล้าฝัน ให้ลงมือทำ ไม่ว่าจะมีข้อจำกัดอะไร เราก็อยากใช้พื้นที่ของเราต่อยอดในการเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก การตัดสินใจของเราแม้จะผิดพลาด ก็ยังหาทางตามฝันได้อยู่นะ"

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ การใช้ความรู้จากครุศาสตร์มาสร้างคอนเทนต์สุดเป็นตัวเอง

"แม้ว่าจะไม่อยากเป็นครู แต่การเรียนครุฯ ก็ทำให้เราได้ประสบการณ์มาเหมือนกัน นำกระบวนการคิดมาใช้ในการผลิตคอนเทนต์ ก็มีคนบอกว่าคอนเทนต์เราเหมือนครูกะเทยมาสอนคำศัพท์กะเทย ทำคอนเทนต์โดยใช้วิชาครุศาสตร์มาเขียนคอนเทนต์ มีกระบวนการสอน ซึ่งเราได้มาจากการเรียนคณะครุศาสตร์ ก็เลยได้นำสิ่งนี้มาเป็นจุดเด่นของเราด้วย ก็นำมาปรับใช้กับการผลิตคอนเทนต์ เวลาเพื่อนดูจะบอกว่าเหมือนเขียนแผนการสอนเลย

View this post on Instagram

A post shared by @tonyon__

ตามเทรนด์หนักมาก แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นตัวเอง และยึดหลัก 'ความแฟร์' เป็นจุดเด่น

"กระบวนการในการทำงาน จะดูว่าคอนเทนต์หลักของเราคืออะไร เช่นตอนนี้เราเป็น Gay Culture, LGBTQ Culture เรื่องราววัฒนธรรมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์ แกรมม่าฉบับเกย์ ถอดไวยากรณ์ที่กะเทยพูดกัน เหล่านี้คือคอนเทนต์หลักของเรา พอในช่วงกระบวนการคิดก็ไปดูกระแส ดูเทรนด์ บางช่วงจะเป็นละคร บางช่วงก็การเมือง หรือกระแสเพลง เราก็ต้องพยายามเอาคอนเทนต์ของเรากับเทรนด์มารวมกัน เพื่อให้คอนเทนต์ของเราเป็นกระแสและยังเป็นตัวเองอยู่

"การหาไอเดีย ก็คือการดูเยอะ ๆ ตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เราก็จะสามารถจับเทรนด์ได้ พอได้ก็เริ่มร่างไอเดีย และเริ่มเขียนสคริปต์ มาวางดีเทลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมุมกล้อง การจัดไฟ การแต่งกาย พอเตรียมการเสร็จ ก็ตั้งกล้อง จัดไฟ หลัง ๆ จะต่างจากคอนเทนต์ช่วงแรกของตัวเองมาก ตอนแรกจะเป็นฟีลแบบ gag สั้น ๆ คิดอะไรได้ก็ตั้งโทรศัพท์ถ่ายเลย หลัง ๆ รู้สึกว่าต้องอัปเกรด ภาพต้องชัด สีต้องสวย เสียงต้องดี ก็วางแผน และถ่ายทำ และตัดต่อ กระบวนการก็เป็นอย่างนี้ จะเห็นว่าคอนเทนต์หนึ่งจะผ่านกระบวนการคิด และเราทำคนเดียวหมดเลย 

View this post on Instagram

A post shared by @tonyon__

"แม้หลาย ๆ ครั้งก็เครียดว่าบางคอนเทนต์จะปล่อยไม่ทัน แต่เราก็มีคอนเทนต์ที่ลงได้โดยไม่ต้องตามกระแสมาก ซึ่งมาจากความชัดเจนในคอนเทนต์หลักของเรา บางอันมันทำตอนไหนก็ได้ เราไม่ต้องตามกระแส แต่คนก็ยังดู เพราะเป็นคอนเทนต์ของเรา

"การดูเทรนด์บนโลกออนไลน์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนที่สำคัญคือการรู้จักตัวเอง ว่าตัวเองจะสามารถนำเสนอคอนเทนต์อะไรได้ อะไรคือสิ่งที่เราทำแล้วไม่ฝืน มันจะมีบางช่วงที่เราทำคอนเทนต์ที่เราทำแล้วเบื่อคนดูก็เบื่อ ทำไปก็ฝืน เราก็ต้องมาดูว่าเราทำอะไรแล้วไม่ฝืน ทำอะไรแล้วยังสนุกกับมันเสมอเราจะทำไปได้เรื่อย ๆ ไอเดียจะแตกแขนงไปเรื่อย ๆ

View this post on Instagram

A post shared by @tonyon__

"ส่วนหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของตัวเองคือ 'ความแฟร์' ความยุติธรรมกับทุก ๆ ฝ่าย พอจุดนึงเมื่อมันมีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง มีลูกค้ามากจ้างงาน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตัวคอนเทนต์ในเพจ กับงานจ้างของเรามาเจอกันได้ และทำให้ทุกฝ่ายมีความสุข 

"องค์ประกอบตรงนี้มันมี 3 ส่วน ก็คือ คนดู เรา และลูกค้า เพราะเรารู้สึกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ลูกค้ามาจ้างงาน เราจะมัวแต่ขายของจนลืมไปว่าคอนเทนต์จริง ๆ ของเราคืออะไร และตอนที่เราขายของ เราเอาเปรียบคนดูของเรา เพราะคนดูต้องเสียเวลา เสียอินเตอร์เน็ตมาดูเรา แล้วเราเหมือนจะไปขายของอย่างเดียวเหรอ เราก็คิดว่าไม่แฟร์กับเขา 

"จุดที่ทำให้ทุกคนมีความสุขคือเราต้องมีความแฟร์ นอกจากขายของ ต้องมีอะไรไปแลกกับเขา ก็คือคอนเทนต์และความสร้างสรรค์ของเรานั่นเอง ทำให้ทุกครั้งที่เราลงงานที่มีไทล์อินลูกค้า คนดูก็จะคอมเมนต์ว่าแบบขายแบบนี้ไม่โกรธ ขายแบบนี้อยากดู ขายไปเลยดีใจด้วยที่มีลูกค้าเข้า จะได้มีคอนเทนต์มาทำให้เราดูอีก เราจะมาขายของเอาเปรียบคนดูอย่างเดียวไม่ได้" 

อีกหนึ่งเคล็ดลับการทำคอนเทนต์ คือ "จงนอนให้อิ่ม"

"เวลาสมองตันจะนอนเลย จะรู้สึกว่าการดันทุรังกับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด หรือเวลาความคิดสร้างสรรค์ไม่พุ่ง ให้นอนก่อน ตื่นมาสมองจะโปร่ง ทำให้คิดไอเดียง่ายขึ้น เวลาเราคิดไม่ออก พอได้พักและร่างกายพร้อม เราก็จะพร้อมตะลุยต่อในโลกของคอนเทนต์ บางทีถ้านึกอะไรไม่ออกแล้วนอน เคยนะที่แต่งหน้าเสร็จแล้ว ติดขนตาแล้ว เตรียมสคริปแล้ว ตั้งกล้องถ่าย จัดไฟ พอถ่ายแล้วมุมกล้องไม่โดนใจ เริ่มเครียด ก็เลยนอน นอนทั้งแบบนั้นเลย เดี๋ยวตื่นมาถ่าย สรุปหลับยาว ตื่นมาก็หลับต่อ เลือกที่จะให้ร่างกายพร้อมก่อนค่อยมาทำ จะไม่ทำอะไรในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม"

กระแสลบ ๆ ถ้าไม่บวก ไม่ช่วยให้พัฒนา ก็ทิ้งมันไปเลยสิคะ!

"เราเองเป็นคนเครซี่กับการอ่านคอมเมนต์มาก ๆ ทุกครั้งที่ตัดต่อเสร็จ ลงคลิปเสร็จ หลังจากลงคลิปต้องมีเซสชั่นเช็กฟีดแบ็ก ก็คือ 1-2 ชั่วโมงนั้นก็จะดูคอมเมนต์ตลอดเลย ซึ่งรู้สึกว่าเสพติดกับการอ่านคอมเมนต์เยอะมาก และแน่นอนว่ามันต้องมีคอมเมนต์เชิงลบมาบ้าง ก็เคยเจอว่าไม่ขำเลย แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ให้มองที่เจตนาของคอมเมนต์ ถึงเป็นคอมเมนต์ติมันก็สามารถเป็นบวกได้ถ้าทำให้เราพัฒนายิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นอะไรที่ไม่ได้ตัดสินเราจากคอนเทนต์ แต่เป็นการไม่ถูกใจเฉย ๆ ก็จะไม่สนใจ พยายามที่จะเพิกเฉยไป 

"มองว่าเป็นสิทธิที่เขาจะวิจารณ์ในแบบของเขา และก็เป็นสิทธิของเราที่จะไม่สนใจคอมเมนต์แบบนั้น เพราะเรารู้ว่าต่อให้เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะว่า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่หัวใจมันเจ็บ ก็อย่าไปมอง อย่าไปดูมันเยอะอะไรที่เราไม่ได้อยากเห็น"

เป็นคอมมูนิตี้ของคนมีความหลากหลายทางเพศ และมีรายการทอล์กโชว์คือความฝัน

"เป็นคนที่รู้สึกว่าเติบโตมาแล้วเรียนรู้การเป็น LGBTQ การเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาแต่เด็ก และตอนเด็กสังคมมันสร้างให้เรารู้จักแค่คำว่า ตุ๊ด และเราเจ็บปวดจากสิ่งที่เราเป็น เพราะถูกล้อต่าง ๆ พอเราขยับออกมาในสังคมมหาวิทยาลัย เราได้เห็นกับความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น ได้รู้จัก เกย์ ทอม เลสเบี้ยน ซึ่งเมื่อก่อนเราอยู่ชนบทเราน้อยที่จะได้เห็น และเราจะสนุกที่เราได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเขา และบางอย่างมันเป็นปัญหาที่เราได้เจอที่เราเป็น LGBTQ และเราอยากเป็นคนหนึ่งที่ได้มาแลกเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ต่อ

"เราเองเคยโดนบูลลี่จากคนในคอมมูนิตี้เดียวกัน เพราะเมื่อก่อนเรามีช่วงที่ไว้ผมยาว ตอนนั้นทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นกะเทย อยากมีนม อยากมีมิจิหรือเปล่า ทำให้สิ่งที่เขาปฏิบัติกับเรา เวลาพูด สอบถาม หรือคุย จะมีความคิดอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เราแค่อยากไว้ผมยาวเฉย ๆ นั้นเป็นอีกหนึ่งความหลากหลายที่เราจะสามารถมาพูดถึงกันได้

"เคยโดนเหยียดจากคนในคอมมูนิตี้เดียวกัน ก็งงว่าอยู่หมู่บ้านเดียวกัน จะมาบูกี้ (Bully) ทำไมแค่ฉันผมยาว นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราพูดเรื่องนี้แล้วคนฟัง ก็อยากพูดอยากเล่า ให้คนอื่นเองที่อาจจะมีอคติ หรือไม่เข้าใจความเป็นเราที่เป็นคนมีความหลากหลายทางเพศ ให้เข้าใจคนอื่น ๆ มากขึ้น เราก็มีประสบการณ์ตรง ซึ่งทำให้มีคอนเทนต์หนึ่งที่เราเคยทำเป็นการพูดถึง 'เทิร์นบอยเอฟเฟค' เราใช้พื้นที่ของเราในการนำเสนออีกหลายแง่มุมที่คนอาจจะไม่พูดถึง หรือไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึง 

View this post on Instagram

A post shared by @tonyon__

"และอยากใช้พื้นที่ในการเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นในการใช้ชีวิต และเรื่องการศึกษา เรามาจากพื้นฐานศูนย์ ครอบครัวยากจน มาจากสังคมที่อะไรก็ไม่รู้ เขาขาดความเข้าใจในการเป็นเรา ขาดการยอมรับ พอเราได้มาอยู่ในสังคมที่คนมีการคิดไตร่ตรองมากขึ้น ทำให้แง่มุมต่าง ๆ เปลี่ยนไป ทำให้เรากล้าคิด กล้าฝันมากขึ้น รวมถึงหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นของเรา เราเข้าคณะที่ไม่ชอบ และสามารถเบนเข็มตัวเองทำสิ่งที่ชอบได้ มันก็เป็นเส้นเรื่องหนึ่งที่หลาย ๆ คนเคยตัดสินใจผิดพลาด เด็กซิ่วก็อาจจะมองเราเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่าถ้าเรามีความฝัน ถ้ามีข้อจำกัดอะไร ไม่ว่าจะเป็นบ้านจน เลือกเข้าขณะผิด ถ้าเราสู้จริง มีแพชชั่น ก็จะสามารถตะเกียกตะกายคุ้ยทางหาทางเพื่อทำตามฝันของเราได้เช่นกัน

"อีกความฝันคืออยากมีรายการของตัวเอง เป็นพิธีกรรายการสักอย่าง เป็นรายการทอล์กก็ได้ เพราะเป็นคนที่ชอบคุยกับคนใหม่ ๆ ชอบเปรียบเทียบทุกอย่างเป็นหนังสือ แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เหมือนเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือหลายประเภท ชีวิตคนก็เป็นเหมือนหนังสือที่เราได้เรียนรู้ แบบเราอยากรู้จักคน ๆ หนึ่ง ก็สามารถไปถามเขา ขุดเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งต่อ เราคิดว่าเราสามารถทำตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ และส่งต่อความสุขได้"

ความสร้างสรรค์ของตอนยอนยังคงไม่หยุด และยังพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อส่งความสุขต่อให้กับผู้คนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สามารถเข้าไปเฮฮากับตอนยอนได้ที่ Instagram : tonyon__ และทางเฟซบุ๊ก ตอนยอนฯ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0