โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พานาโซนิค ผนึก จุฬาฯ-3 ยักษ์อสังหาฯ นำร่องทดลอง ‘Home IoT’

The Bangkok Insight

อัพเดต 30 ก.ค. เวลา 06.31 น. • เผยแพร่ 30 ก.ค. เวลา 06.31 น. • The Bangkok Insight
พานาโซนิค ผนึก จุฬาฯ-3 ยักษ์อสังหาฯ นำร่องทดลอง ‘Home IoT’

พานาโซนิค จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 3 ดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ เสนา-เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง-สถาพร เอสเตท ทดลองระบบ Home IoT ร่วมสร้างนวัตกรรมที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน

นายมาซาอาคิ อิโซะดะ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท พานาโซนิค อีเล็คทริค เวิร์คส์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์Panasonic GREEN IMPACT ของพานาโซนิคทั่วโลก ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน พานาโซนิคจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ง่ายด้วยการสร้างโซลูชั่นส์ใหม่ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ของพานาโซนิคที่มีอยู่แล้ว ให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในที่อยู่อาศัย

Home IoT
Home IoT

ทั้งนี้ โซลูชั่นส์แรกที่พานาโซนิคคิดค้น เพื่อตอบโจทย์แนวคิดข้างต้น นั่นคือ การให้เทคโนโลยีอย่าง Home IoT และ algorithm มาช่วยควบคุม โดยคาดหวังว่าผลของการวิจัยจะทำให้สามารถค้นพบสภาวะน่าสบายภายในบ้าน สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคต ที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทย

นายฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคิดค้นระบบที่สร้างความน่าสบาย ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565 โดยมีการสร้างโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง Zen Model ขึ้นที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และทำการเก็บข้อมูล

จากนั้นได้นำไปสู่การทดลองกับบ้านจริงหลังแรก ภายในบ้านตัวอย่างของ โครงการเสนา แกรนด์โฮม บางนา กม. 29 โดยร่วมกับ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป เมื่อปลายปี 2023 ที่ผ่านมา

สำหรับในปีนี้ พานาโซนิคจะเร่งเดินหน้าพิสูจน์การทำงานของระบบ ว่าสามารถเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการลดการใช้พลังงานภายในบ้าน โดยจะทดสอบระบบในที่อยู่อาศัยจริง 12 หลัง จากบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมถึง บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด ซึ่งแต่ละหลังมีการออกแบบอาคารที่โดดเด่นเฉพาะตัว ในบริบทที่ต่างกันไป เพื่อใช้ในการทดสอบ

พร้อมกันนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก สำนักส่งเสริมโครงการระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อช่วยผลักดันการศึกษาวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว รวมถึงความร่วมมือจาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ของประเทศไทย ในการสนับสนุนด้านข้อมูลพร้อมทั้งเตรียมผลักดันแนวคิดดังกล่าวนี้สู่นโยบายบ้านประหยัดพลังงานในอนาคต

ภาครัฐไทยและญี่ปุ่น ร่วมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

นายทาคาชิ นารุเสะ ผู้อำนวยการบริหาร สำนักส่งเสริมโครงการระหว่างประเทศ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า NEDO มีพันธกิจหลักคือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในด้านพลังงาน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีเป้าหมายเพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในทางปฏิบัติและเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคม โดยการร่วมมือหลายประเทศ

สำหรับประเทศไทย NEDO ได้มีความร่วมมือกับภาครัฐบาลทั้ง กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา กระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น เพื่อดำเนินโครงการสาธิตหลายโครงการในด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานทางเลือก การลดคาร์บอน การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรม

การดำเนินโครงการทดลองระบบ Home IoT นับเป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การลดใช้พลังงานในภาคที่อยู่อาศัยในประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต NEDO จึงได้ให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณเพื่อช่วยเร่งการทดสอบประสิทธิภาพและยืนยันความสำเร็จของระบบได้เร็วยิ่งขึ้น และผลักดันให้การอยู่อาศัยในสังคมไทยให้มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (NET ZERO society) ได้รวดเร็วมากขึ้น

ด้าน นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนเชิงความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญ เนื่องจากเป็นโครงการสาธิตเรื่องการอนุรักษ์พลังงานในภาคครัวเรือนในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ระบบเครื่องปรับอากาศเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่กินไฟมาก ด้วยการนำใช้เทคโนโลยี IoT มาควบคุมช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ

ขณะเดียวกัน ยังมาพร้อมกับการออกแบบพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยยังคงรักษาและสร้างสภาวะน่าสบาย หรือ Comfort Environment ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้พักอาศัย สถานที่ตั้ง และรูปแบบของบ้าน โดยทางกรม ฯ จะช่วยให้คำปรึกษาด้านนโยบาย ช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นและอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และนำผลที่ได้จากโครงการไปขยายผลต่อรวมถึงการออกมาตรการส่งเสริมที่เกี่ยวข้องต่อไป

หากสามารถขยายผลเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้ ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งกับประเทศไทยและญี่ปุ่น และถือว่าเป็นโครงการที่มาถูกที่ถูกเวลา ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งตอนนี้ค่าไฟมีราคาสูงขึ้นมาก

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงานปี 2565 ของกระทรวงพลังงานที่ส่งเสริมการใช้ IoT มาช่วยเรื่องการประหยัดพลังงานในภาคครัวเรือนมากขึ้น นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมด้านพลังงานมาใช้ในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทย เพื่อร่วมกันสร้างสังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทย ตามกระแสโลกในปัจจุบัน

จุฬาฯ ใช้ระบบ BIM ผนึก Home IoT

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการนี้เริ่มต้นจากสมมติฐานที่ว่าการเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส อาจไม่ใช่วิธีการประหยัดพลังงานที่ดีที่สุด และไม่ใช่อุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไทย

ดังนั้น จึงทำการทดลองหาค่า Predicted Mean Vote (PMV) หรือสภาวะน่าสบายของคนไทย มาตั้งแต่ปี 2022 ผ่านโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง ZEN Model ที่มีการเขียนแบบบ้านโดยใช้ระบบ BIM (Building Information Modeling) และระบบต่าง ๆ ภายในบ้านถูกควบคุมด้วยระบบดิจิทัล Home IoT (the Internet of Things)

ปัจจุบันสามารถประมวลผลจากการทดลอง PMV ขั้นต้นได้ว่า สามารถจัดการพื้นที่ภายในบ้านให้ผู้พักอาศัยยังคงรู้สึกสบาย โดยที่ประหยัดค่าไฟได้จริง นอกจากนี้ขั้นตอนการเก็บข้อมูลและจัดการสภาวะภายในที่พักอาศัยด้วยการประยุกต์อุปกรณ์ IoT ผ่าน Platform BIM และ Digital Twin ก็ถือเป็นอีกความพยายามของทีมวิจัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตามเงื่อนไขที่สามารถรักษาสภาวะดังกล่าวได้

ในการจัดการพื้นที่ภายในบ้านให้ผู้พักอาศัย จะมีการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ พัดลม สวิตซ์ และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งทํางานผ่านอุปกรณ์และระบบ Comfort Air and Home IoT ของพานาโซนิค ภายในบ้านพักอาศัยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น ขนาดประมาณ 140-180 ตารางเมตร

ขณะที่อุปกรณ์ในการทดลองจะถูกติดตั้งตามการออกแบบที่เหมาะสมกับบ้านแบบต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลผ่านซอฟต์แวร์ของพานาโซนิค ซึ่งส่งผลให้อาคารแต่ละหลังอาจมีจํานวน และตําแหน่งของอุปกรณ์แตกต่างกันไป โดยจะทําการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อสังเกตประสิทธิภาพในแต่ละฤดูของประเทศไทย ซึ่งจะมีการวัดค่าและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประสิทธิภาพการประหยัดงานของระบบ ผ่านการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ความเร็วลม เป็นต้น

3 ยักษ์อสังหาฯ สนับสนุนบ้าน 12 หลัง ร่วมวิจัย

ดร. เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยเพื่อค้นหาสภาวะน่าสบายมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยการให้พานาโซนิคได้ทำการทดสอบระบบในบ้านตัวอย่างของโครงการเสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29 เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นโปรเจคที่ให้คุณค่าต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน

อีกทั้งยังตรงกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานของ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ SENA Low Carbon ที่สนับสนุนการใช้ชีวิตแบบ Decarbonized Lifestyle ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิต ไม่เพียงแค่พัฒนาที่อยู่อาศัยคุณภาพ แต่ยังพัฒนาสินค้า บริการ และธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกช่วงวัย ลูกบ้านสามารถใช้ชีวิตรักษ์โลกได้ง่าย ๆ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้ให้การสนับสนุนบ้านตัวอย่าง โครงการเสนา วิลเลจ บางนา กม. 29 จำนวน 4 หลัง แบ่งออกเป็น บ้านแฝด THANN+ จำนวน 2 หลัง ขนาดประมาณ 35 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 165 ตร.ม. และบ้านทาวน์โฮม THEE+ จำนวน 2 หลัง ขนาดประมาณ 27 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 140 ตร.ม.

บริษัทฯ หวังว่าจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวคิด SENA Low Carbon ทั้งในด้านประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย

นายสมนึก ตันฑเทอดธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด Home Expert Living Care ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในโครงการเพื่อเพิ่มมูลค่าและความสะดวกสบาย รวมถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

การได้ร่วมมือกับ พานาโซนิคในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ในการพัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยสู่ความยั่งยืน และประหยัดพลังงานเพื่อคนไทย โดยทางบริษัทฯ ได้ให้การสนับสนุนบ้านตัวอย่างในโครงการ บ้านฟ้ากรีนเนอรี่ NEOLA รังสิต คลอง 2 เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย จำนวน 4 หลัง แบ่งออกเป็น บ้านแฝด Modish จำนวน 2 หลัง ขนาดพื้นที่ 39 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 140 ตารางเมตร และบ้านเดี่ยว Louis จำนวน 2 หลัง ขนาด 57 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 155 ตารางเมตร

ทางด้าน นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มอบบ้านที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ 4 หลัง จากโครงการ ดิ อิเธอร์นิตี้ กรีนวู้ด รังสิต- วงแหวน โดยเป็นบ้านเดี่ยวแบบ Companion จำนวน 1 หลัง ขนาด 53.7 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร และบ้านเดี่ยวแบบ Beloved จำนวน 3 หลัง ขนาด 50.6 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 185 ตารางเมตร ให้ Panasonic ได้ทำการวิจัยอย่างอิสระ เพื่อให้ได้แนวทางอันเป็นประโยชน์ต่อการอยู่อาศัยที่ดี ภาวะน่าสบาย และการบริหารจัดการพลังงานด้วยเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น