โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 เม.ย. 68

AEC10NEWs

อัพเดต 08 เม.ย. เวลา 13.03 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. เวลา 06.02 น. • AEC10NEWS

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น และลูกเห็บตกบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

คาดการณ์ : วันที่ 9-11 เม.ย. 68 ความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 12–13 เม.ย. 68 ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางอีกระลอกจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ในขณะที่ลมตะวันออกกำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 61% ของความจุเก็บกัก (48,807 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 42% (24,579 ล้าน ลบ.ม.)

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 10 แห่ง ดังนี้

ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่มอก และทับเสลา

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำนางรอง และสิรินธร

ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล และคลองสียัด

เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 83 แห่ง ดังนี้

ภาคเหนือ 9 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47 แห่ง ภาคกลาง 5 แห่ง ภาคตะวันออก 11 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง และภาคใต้ 2 แห่ง

สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการวางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง และสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ

3. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : สทนช. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนปีนี้

จากอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี 2568 คาดว่าประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปกติและจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมากกว่าปกติ โดยอาจทำให้ปรากฏการณ์ฝนตกมีรูปแบบผิดปกติ เช่น เกิดฝนตกหนักมากอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่ จนทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขัง ประกอบกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบการทรุดตัวของกรุงเทพฯ ก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว (5–17 มี.ค. 68) และหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว (17–29 มี.ค. 68) ด้วยข้อมูลดาวเทียม Sentinel-1 และเทคนิค InSAR พบว่าการทรุดตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะทางตอนบนของกรุงเทพฯ บางพื้นที่มีค่าทรุดตัวสูงสุดถึง 7.3 ซม. ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ (ในช่วงเวลาปกติก่อนเหตุการณ์แผ่นดินไหว อัตราการทรุดตัวของกรุงเทพฯ ประมาณ 1-2 ซม./ปี) โดยสันนิษฐานว่าแรงสั่นสะเทือนอาจมีผลต่อโครงสร้างของชั้นดินอ่อนในพื้นที่ (ดินเหนียวอัดแน่นน้อย) ทำให้เกิดการทรุดตัวแบบเฉียบพลันและเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำท่วมขังบ่อยขึ้นและนานขึ้น ระดับพื้นที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อระบบระบายน้ำ รวมถึงได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง และน้ำล้นตลิ่งเพิ่มขึ้น

ดังนั้น สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการวางแผนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน และเพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ ดังนี้

- การทบทวนปรับปรุง/ออกแบบโครงข่ายระบบท่อระบายน้ำ คลอง ให้สอดคล้องกับระดับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลง

- การเพิ่มระบบสูบน้ำระบายน้ำ โดยเฉพาะจุดในพื้นที่เสี่ยง

- การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่จุดเสี่ยง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสาร การคาดการณ์สภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 เม.ย. 68