อีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ จากกรณีเพจ "จอดับ" เผยเรื่องราวสุดเศร้า "ใครว่าทำงานจนตายไม่มีจริง" เคสของคนทำสื่อทีวีดิจิทัลตำแหน่งคนทำผังรายการ ที่ทำงานหนักจนถึงขั้นฟุบเสียชีวิตคาโต๊ะทำงานอย่างเงียบๆ สู้ทำงานหนักบางสัปดาห์ก็ทำงาน 7 วันรวดไม่มีวันหยุดพัก
ล่าสุดสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์แสดงความเสียใจ เรียกร้องให้ต้นสังกัดเยียวยาครอบครัวตามสิทธิ์ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบว่ากระบวนการทำงานของสำนักข่าวดังกล่าว เป็นไปตามกฎหมายแรงงานหรือไม่
โดยวันที่ 6ก.พ.66 นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงรายงานข่าวข้างต้นว่า ตนขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของสื่อมวลชนคนดังกล่าว และมีข้อเรียกร้องต่อกรณีที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้
- เพจดังเผยคำพูด หนุ่มใหญ่เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ชาวเน็ตร่วมแสดงความอาลัย
- หนุ่มใหญ่ทำงานหนัก ขนาดวันลายังโดนโทรตาม สุดท้ายพบเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน
- ช่างดังโคราช เผยโฉมรถดริฟท์คันโปรด เบนซ์ เดม่อน เล่าการติดต่อครั้งสุดท้าย
1.ขอให้สำนักข่าวต้นสังกัดของสื่อมวลชนที่เสียชีวิต เยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตตามสิทธิ์ที่พึงได้รับ พร้อมกับสอบสวนที่มาของเหตุดังกล่าว และออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก
2. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อหาข้อสรุปว่า กระบวนการทำงานของสำนักข่าวดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายแรงงานและหลักปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่
นายธีรนัยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมสื่อยังมีวัฒนธรรมการทำงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายแรงงานหลายเรื่องๆ โดยเฉพาะในวงการดิจิตัลทีวีที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็น การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน การอยู่โยงเข้าเวรติดต่อกันโดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ การไม่ให้สิทธิ์พนักงานได้ใช้วันหยุดและวันลาตามสมควร เป็นต้น”
“เรื่องนี้เป็นปัญหาที่คนทำงานในวงการสื่อมวลชนทราบกันมาตลอด แต่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด ประเด็นนี้จึงสมควรได้รับความสนใจและแก้ไขเป็นรูปธรรมในเร็ววัน”
อย่างไรก็ตาม นายธีรนัยเสนอแนะว่า ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนใดๆที่ต้องการร้องเรียนการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการกระทำใดๆของนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงาน สามารถติดต่อ “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ได้ที่ tjareporter@gmail.com และ/หรือ “สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย” ได้ที่ nujtthailand@gmail.com
ที่มา จอดับ / สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมที่ Tnews
ความเห็น 0