โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยแบบ‘Glass Onion’

MATICHON ONLINE

อัพเดต 06 ก.พ. 2566 เวลา 09.55 น. • เผยแพร่ 06 ก.พ. 2566 เวลา 02.33 น.
ภป-การเมืองไทยแบบGlass Onion
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สถานีคิดเลขที่ 12 : การเมืองไทยแบบ‘Glass Onion’

ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ยิ่งนึกถึงหนังฝรั่งแนวสืบสวนสอบสวนเรื่อง“Glass Onion: A Knives Out Mystery” ที่ได้ดูทางเน็ตฟลิกซ์เมื่อช่วงต้นปี

นอกจากเปรียบเปรยว่า การสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมเพื่อค้นหาตัวคนร้ายตัวจริง นั้นเปรียบเสมือนการค่อยๆ ปอกเปลือกหอมหัวใหญ่จากชั้นนอกสุดลงไปสู่ใจกลางชั้นในแล้ว

ประเด็นหลักอีกประการของหนังเรื่องนี้ก็คือ การสื่อสารว่า ในการประเมินบุคคลคนหนึ่ง เราต้องมองเขาให้ทะลุผ่านเปลือกกระพี้ใสกลวงตรงชั้นนอกๆ แล้วพยายามสืบค้นจนเจอแก่นสาร-แก่นแท้ภายใน เพื่อจะได้รู้ชัดว่าเขาเป็นคนอย่างไร

กระบวนการเลือกสรรพรรคการเมืองก็ไม่ต่างอะไรกับการปอกเปลือกหอมหัวใหญ่

นั่นคือกระบวนการไล่พิจารณาคุณสมบัติของพรรคการเมือง-นักการเมืองไปจนถึงแกนกลาง-แก่นสารด้านในสุด

โดยขึ้นอยู่กับว่าประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในปี 2566 จะมอง ประเมิน หรือคาดหวัง ถึงแก่นแท้ใจกลางดังกล่าวเอาไว้อย่างไร?

แก่นสารแท้ๆ ข้างในที่พวกเขาอยากมองเห็นอย่างประจักษ์แจ้ง ภายหลังการตัดหั่นเปลือกกระพี้นานัปการออกไปแล้ว คืออะไรกันแน่?

แน่นอนว่า ประชาชนแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีแนวโน้มจะคิดเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน

ยิ่งกว่านั้น บริบท-ยุคสมัยก็ส่งผลต่อกระบวนการประเมินค่า คือ บางเวลา แก่นสารหลักทางการเมืองอาจถูกปกคลุมห่อหุ้มด้วยค่านิยมทางสังคมรูปแบบหนึ่ง แต่บางเวลา แก่นสารที่ว่าก็อาจถูกกระตุ้นเร้า-ผลักดันด้วยบรรทัดฐานใหม่ๆ อื่นๆ

ณ ปัจจุบัน ดูเหมือนพรรคการเมืองต่างๆ จะประเมินสถานการณ์ข้างต้นผ่านความเชื่อสองแบบ

แบบแรก คือ การประเมินว่าแก่นแกนของพรรคการเมืองที่ประชาชนกำลังมองหา นั้นวนเวียนอยู่ตรงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขึ้นอยู่กับว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะออกแบบแก่นสารดังกล่าวอย่างไร ท่ามกลางทางเลือกหลากหลายวิธี ตั้งแต่การแจกเงินกันแบบดื้อๆ นโยบายสวัสดิการที่ยั่งยืนกว่า การคิดเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างจริงจัง ตลอดจนการโชว์วิสัยทัศน์เรื่องแผนกระตุ้น-ฟื้นฟู-เดินหน้าเศรษฐกิจในระดับมหภาค

แบบที่สอง คือ การประเมินว่า อย่างไรเสีย การเลือกตั้งกลางทศวรรษ 2560 ก็ยังจะเป็นการสำรวจตรวจสอบจุดยืนทางการเมืองของบรรดานักการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจัง

หากเชื่อเช่นนี้ คำถามแรกที่นักการเมือง-พรรคการเมืองควรตอบให้ชัด ก็คือ คุณจะยืนอยู่ตรงจุดไหนในสังคมการเมืองไทย? จะยืนอยู่ใน “ฝ่ายประชาธิปไตย/ก้าวหน้า” หรือยืนอยู่กับ “ฝ่ายเผด็จการ/อนุรักษนิยม”

ถ้าเลือกยืนตรงตำแหน่งแห่งที่ “ฝ่ายประชาธิปไตย/ก้าวหน้า” ก็หมายความว่า คุณต้องไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่นำโดยอดีตหัวหน้าหรือผู้นำคณะรัฐประหารอย่างเด็ดขาด

คำถามต่อมาที่เริ่มทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ นักการเมือง-พรรคการเมืองมีจุดยืนอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกคนในสังคมจำนวนไม่น้อยมองว่า “ไม่เที่ยงตรง”? พวกเขามีจุดยืนอย่างไรต่อกฎหมายที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าสร้างผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และ ม.116?

โดยส่วนตัว มองว่าไปๆ มาๆ การแข่งขันกันเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องนั้น อาจเป็นเพียงกระบวนการปอกเปลือกหัวหอมชั้นนอกๆ ที่ถกเถียงกันได้เรื่อยๆ และมี “มรรควิธี” หลายแบบให้เลือกใช้

ทว่า ปัญหาเรื่องจุดยืนทางด้านการเมืองและกระบวนการยุติธรรมนี่สิ ที่อาจเป็นประเด็น “แก่นสาร-ใจกลาง” ที่ต้องการคำตอบเรียบง่าย คมชัด ทำนอง“ใช่หรือไม่ใช่” “เอาหรือ ไม่เอา” แต่กลับพูดอธิบายแจกแจงลงรายละเอียดได้ยาก

แน่นอนว่า นี่คือชุดคำถามที่นักการเมืองระดับแคนดิเดตนายกฯ กำลังจะถูกคาดคั้นจากบรรดานักสัมภาษณ์ในอีกไม่กี่เดือน-สัปดาห์ข้างหน้า

เป็นคำถามที่ “ตอบให้ดี” ได้ไม่ง่าย หรือคงถูกสบประมาทไม่น้อย ถ้า “เลี่ยงจะไม่ตอบ”

ปราปต์ บุนปาน