วันนี้ขอเล่าเรื่องเบา ๆ เกี่ยวกับ APEC อีกตอน ต่อจากครั้งที่แล้วเพื่อให้การประชุม APEC ครั้งนี้เป็นที่น่าสนใจและประสบความสำเร็จเพราะประเทศเราเป็นเจ้าภาพ หน้าตา ความน่าเชื่อถือและเกียรติภูมิของประเทศเรา ผูกไว้กับการเป็นเจ้าภาพ
เรื่องแรก ผู้เขียนได้ไปทัวร์ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่หลังจากที่เปิดไม่กี่วัน และจะเป็นสถานที่ประชุมผู้นำ APEC ครั้งที่ 20 นี้ ได้พบของสิ่งหนึ่งที่เข้าท่าจนต้องนำมาเล่าต่อ
สิ่งนั้นคือ รูปปั้นขนาดใหญ่ ตั้งไว้ในอาคารหน้าห้องประชุมใหญ่ เป็นรูปยักษ์กับนักรบจีนโบราณตัวติดกัน ข้อความบนป้ายเขาเขียนไว้ดังนี้
“ด้วยแรงบันดาลใจจากรูปปั้นหินนักรบจีนโบราณและทวยเทพลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่จีนส่งมาให้สยาม งานศิลปะของคมกฤษ (ผู้ปั้น ไม่ปรากฏนามสกุล) ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จึงเป็นส่วนผสมระหว่างจีนกับสยาม ผ่านการดัดแปลงตำนานของฝาแฝดสยามอินจัน ศิลปินนำเอารูปร่างมหึมาของยักษาและลักษณะของนักรบจีนมาควบรวม
และสร้างสัญรูปที่เป็นตัวแทนความสัมพันธ์ไทย-จีน เขายังใช้ชิ้นส่วนเลโก้ที่ผลิตขึ้นในประเทศจีนในการสร้างผลงาน “ครุฑ” ประติมากรรมสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งนก คมกฤษยังสร้างชุดของเล่นขนาดจิ๋วอันประกอบไปด้วยเหล่านักปราชญ์ขี่สัตว์ในเทพนิยายที่ดูราวกับกลุ่มซุปเปอร์ฮีโร่ออกผจญภัย
ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นการรวมกันของวัฒนธรรมหลายวัฒนธรรมและการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของความสัมพันธ์ไทย-จีน แสดงออกมาให้รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย ซึ่งกระตุ้นให้ผู้คนได้พิจารณาและค้นพบสิ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของตัวเอง ยักษ์คู่ แสดงถึงความต้องการของคนเราที่ต้องการความช่วยเหลือและการสนับสนุน รวมไปถึงความสมดุลและความอยู่ดีมีสุขในสังคม”
เรื่องที่สอง ตราสัญลักษณ์การประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้มีที่มาจากชะลอม ซึ่งเป็นตะกร้ามีหูหิ้วข้างบน สานด้วยตอกไม้ไผ่ และเป็นสิ่งที่คนไทยรู้จักและใช้กันมานานนม ตรานี้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์
ผู้ออกแบบและชนะการประกวดคือ นายชานนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชะลอมนี้คือความเป็นไทย ดังคำอธิบายของเขาในการส่งเข้าประกวด ดังนี้
“ชะลอม” เป็นตราสัญลักษณ์สื่อถึงวิถีชีวิตของชุมชนไทย การออกแบบและหัตถศิลป์สะท้อนภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำวัตถุดิบมาแปลงสภาพเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้สะดวก มีนวัตกรรม ทนทาน และร่วมสมัย
และยังสื่อถึงการร่วมสานพลัง รวมจุดแข็งที่หลากหลาย เพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน
นอกจากนี้ ชะลอมยังเป็นสัญลักษณ์ของการค้า การเดินทาง ความเชื่อมโยงในภูมิภาคซึ่งเป็นหัวใจของเอเปค สีน้ำเงิน (Convenience Blue) สะท้อนการเปิดการค้าของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สีชมพู (Connection Pink) สะท้อนการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค สีเขียว (Sustainable Green) สะท้อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน”
เรื่องที่สาม “เจ้านวล” กำลังดังไปทั่วโลก เพราะเป็น “แมวเอเปค” การเอาแมวมาช่วยประชาสัมพันธ์ เป็นไอเดียที่เข้าท่าและคนทั่วโลกชื่นชม ข้อเขียนในอินเตอร์เน็ตเล่าเรื่อง (คุณน้องนวลแมวเอเปค) ดังต่อไปนี้
“กระทรวงการต่างประเทศเปิดตัว “น้องนวล” แมวพรีเซ็นเตอร์การประชุมเอแปค 2022 เสียงฮือฮาก็อื้ออึงจากกลุ่มคนรักแมว ด้วยดวงตาใสแบ๊ว หน้าตาเฟรนด์ลี่ ขนสามสี แถมไม่มีค่าตัว ขอแค่ได้เดินเตร่ไปมาในกระทรวง ประวัติความเป็นมาของ “น้องนวล” แมวน้อยผูกกระดิ่งกรุ๋งกริ๋งประจำกรมสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ มีดังนี้
น้องเป็นแมวสามสี มักอวดโฉมอยู่หน้าตึกกระทรวงเสมอ ๆ นิสัยเป็นมิตรกับผู้คนที่แวะเวียนมาทักทาย น้องจึงเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ โลเกชั่นหลักที่มักจะเจอะเจอน้องนวลนั่ง ๆ นอน ๆ อวดโฉมตัวเอง คือ หน้ากรมสารนิเทศ
น้องมักจะเดินตรวจตราเป็นเจ้าถิ่นบริเวณพื้นที่รอบ ๆ กระทรวง และกล้าที่จะพบเจอผู้คนมากกว่าแมวตัวอื่น คุณสมบัตินี้เลยทำให้น้องนวลไม่กลัวกล้อง ได้จังหวะก็จับมาโพสท่าหน้าป้ายเอเปคได้สบาย ๆ
โฆษกกระทรวงฯ คุณธานี แสงรัตน์ หนึ่งในแฟนคลับน้องนวล กล่าวว่า น้องแมวสามสีตัวนี้มีแฟนคลับเยอะ ตนเองก็ทักทายเล่นกับน้องนวลบ่อยครั้ง ทั้งช่วงเช้า เย็น ตอนมาทำงานและกลับบ้าน พร้อมแนะนำว่าหากอยากพบน้องนวลตัวจริงเสียงจริง น้องจะมาอวดโฉมให้แฟนคลับได้ทักทายบริเวณชั้นล่างของห้องประชาสัมพันธ์ด้านถนนกระราม 6 ทุกเช้า
ถามว่าเอาจริง ๆ ทำไมถึงนำแมวน้อยมาเป็นพรีเซ็นเตอร์งาน APEC 2022 คำตอบที่ท่านอธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงไขข้อข้องใจก็คือ “เนื่องจากเราอยากให้การประชาสัมพันธ์ของกระทรวงมีสีสันและมีภาพลักษณ์ที่น่ารักไปอีกแบบ แต่ในวันการประชุม (เอเปค) เราไม่ได้พาน้องนวลไปด้วย เขาเป็นเพียงพรีเซ็นเตอร์ของกรมสารนิเทศที่ส่งข่าวการประชุม APEC เท่านั้น”
เมื่อหมดงาน APEC แล้ว คนไทยทุกคนก็ยังเป็นเจ้าภาพการมาท่องเที่ยวของเพื่อนต่างชาติจำนวนมากเสมอ คนไทยร่วมกันทำหน้าที่มาเป็นอย่างดี ทั้งเป็นมิตรที่มีน้ำใจด้วยรอยยิ้ม ประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
มิฉะนั้นจะมีนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคนเมื่อก่อนโควิด-19 หรือการท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เราอย่ายอมให้คนไทยนิสัยไม่ดีที่ดูจะเริ่มมีจำนวนมากขึ้นที่ชอบหลอกลวง ต้มตุ๋นนักท่องเที่ยวมาทำลายความสำเร็จที่เราได้ทำร่วมกันมาเป็นอันขาด
ความเห็น 0