โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มะเร็งรักษาทุกที่ผู้ป่วยพุ่ง 830% โรงเรียนแพทย์แบกไม่ไหว จี้ สปสช.จ่ายเงินให้ครบด้วย

Manager Online

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2567 เวลา 04.48 น. • MGR Online

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น สะท้อนภาพโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ Cancer Anywhere ทำผู้ป่วยแห่ใช้บริการพุ่ง 830% แทบแบกไม่ไหว แถม สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลต่ำมาก บางเคสไม่จ่ายเลย รับภาระด้านการเงินไม่ไหวมาแล้ว 3 ปี จี้กลับไปเป็นระบบเดิม เพราะโรงพยาบาลจังหวัด ศูนย์มะเร็งก็รักษาได้ และควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ครบด้วย

วันนี้ (15 ธ.ค.) จากกรณีที่โรงพยาบาลรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ประกาศให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ต้องมีหนังสือส่งตัวรับรองค่ารักษาพยาบาล จากหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิของตนทุกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยโรคมะเร็ง ตามโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer Anywhere) โดยรับผิดชอบเฉพาะค่ายาเคมีบําบัด และฮอร์โมนที่ใช้รักษามะเร็ง รังสีที่ใช้รักษามะเร็ง และค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับยาที่ใช้เท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมถึงยาอื่นๆ เช่น ยาความดัน ยาแก้คลื่นไส้ ยาระบาย และไม่รับผิดชอบค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเอ็กซเรย์ ค่าตรวจเลือด

อ่านประกอบ : "ศิริราช-รามา-จุฬาฯ-ภูมิพล" แจ้งผู้ป่วยมะเร็งบัตรทอง ต้องใช้ใบส่งตัวจากต้นสังกัดเท่านั้น

เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ของ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โพสต์ข้อความในหัวข้อ "ทําไมโรงพยาบาลสังกัดคณะแพทย์จึงต้องการให้มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ" ดังนี้

1. จํานวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ Cancer Anywhere เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนส่งผลเสียต่อระบบการบริการผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน ทุกสิทธิการรักษา และผู้ป่วยโรคอื่นๆ ด้วย

2. สปสช. จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเรียกเก็บต่ำมากๆ และมีจํานวนหนึ่งที่ไม่จ่ายเลย ทําให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระด้านการเงินไม่ไหว เป็นแบบนี้มา 3 ปี ไม่มีการแก้ไข เคยสัญญาว่าจะจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ทําตามสัญญา

3. จานวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาจํานวนมาก ส่งผลกระทบต่อการฝึกอบรมแพทย์ประจําบ้าน แพทย์ต่อยอด และนักศึกษาแพทย์

4. ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานการรักษาที่ควรจะเป็นได้ เนื่องจากเกินกําลังในการให้บริการ

5. จํานวนผู้ป่วย Cancer Anywhere ของ รพ.ศรีนครินทร์ ปี 2564 ที่เริ่มโครงการมีเพียง 3,617 ครั้ง ปี 2565 เพิ่มเป็น 16,514 ครั้ง ปี 2566 เพิ่มเป็น 25,896 ครั้ง และปีล่าสุด 2567 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 30,241 ครั้ง หรือเทียบเท่า เป็น 830% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เริ่มโครงการ

สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขควรเลิกนโยบายนี้ กลับไปเป็นระบบเดิม เพราะส่วนใหญ่ของผู้ป่วยนั้น โรงพยาบาลจังหวัด ศูนย์มะเร็งก็รักษาได้ ถ้าเกินศักยภาพของโรงพยาบาลจังหวัด หรือศูนย์มะเร็ง จึงส่งต่อมารักษาที่โรงเรียนแพทย์ และ สปสช. ควรจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ครบด้วย

เฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao ระบุอีกว่า "ประชาชนโปรดเข้าใจ และเห็นใจโรงพยาบาล สังกัดโรงเรียนแพทย์ เราพยายามทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว แต่ในขณะนี้เกินความสามารถในการแบกรับภาวะจำนวนผู้ป่วยที่มีมากเกินกำลังของแพทย์ พยาบาล เภสัช เจ้าหน้าที่เอกซเรย์แล้วครับ ร่วมกับ สปสช.จ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบไม่เป็นธรรม"

ด้านชาวเน็ตต่างออกมาแสดงความคิดเห็น อาทิ

- รัฐบาลจัดโปรการรักษาเพื่อประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่จัดเงินให้ทางโรงพยาบาลเขาด้วย หรือลองไปดูซิ สปสช. บริหารเงินยังไง โรงพยาบาลรัฐและเอกชนจึงเรียงหน้ากระดานออกมาอย่างพร้อมเพรียงกันแบบนี้

- รมต.หายไปไหน สปสช.ก็แบะๆๆ ทำตามนายสั่งทั้งที่หมอทั้งนั้นที่นั่งอยู่ในนั้น จะให้สวัสดิการประชาชนเป็นประชานิยมโดยไม่ควักเงินจ่ายคืออะไร

- กองทุนการรักษาพยาบาลแบบที่ไม่มีการวางแผนการเงินทั้งรายรับ รายจ่าย จากงบประมาณแผ่นดินล่วงหน้า เช่น การวางแผนจัดเก็บภาษีเฉพาะ การร่วมจ่าย เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในกองทุนเพิ่มขึ้น มีแต่ประเทศไทย ประเทศเดียวในโลก ที่รักษาฟรี โดยไปขูดรีด ลดการจ่ายเงินจากผู้ให้บริการ ทำให้ผู้ให้บริการขาดทุนย่อยยับ เหตุผลคือ ประชานิยม สงสารประเทศไทย

- สนับสนุนอาจารย์ แต่โรงพยาบาลที่จะส่งต่อ ก็น่าจะไม่มีเงินจ่ายคืนโรงเรียนแพทย์เหมือนกันแล้วครับ

- ถูกใช้เป็นเครื่องมือหาผลงานเพิ่มงานเอาหน้าแล้วก็ทอดทิ้งวนไป ภาระเก่าและใหม่พอกพูน

- สปสช. ถังแตกครับ ง่ายๆ แต่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช. ยอมรับความจริงนี้ไม่ได้

- สปสช. ทำตัวไม่เป็นคู่ค้าที่ดี เอาเปรียบคู่สัญญา ทำตัวเหมือนเจ้านายเอาเปรียบลูกน้อง แต่ปลายปีมา สปสช. ประกาศผลประกอบการดีเยี่ยม เพราะไปเอาเปรียบโรงพยาบาลต่างๆ อย่าว่าแต่โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยครับ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็แย่ตามๆ กัน

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น