โลกออนไลน์มีกระแสให้ตามกันต่อเนื่อง ฮอตบ้าง ไวรัลบ้าง กลายเป็นแฮชแท็กสุดฮิตให้ต้องติดตามกันอย่างต่อเนื่อง และปี 2018 ที่กำลังจะจบลงก็มีแฮชแท็กแห่งปีอยู่เพียบ แต่ละเรื่องเป็นประเด็นร้อน เรื่องฮิตทั้งนั้น แต่เราคัดมาเน้น ๆ แค่ 10 แฮชแท็กส่งท้ายปี 2018 ไปด้วยกันเลย
ประเดิมแฮชแท็กแห่งปี #ของมันต้องมี วลีติดปากของ “สู่ขวัญ บูลกุล” ในรายการ Celeb's Blog จากนิตยสารแพรวที่สลัดคราบความเป็นผู้ประกาศข่าวมาเป็นบล็อกเกอร์แนะนำไอเทมเด็ดของสาว ๆ ที่ดูจริงใจ น่ารัก สดใส ไม่ขายของเกินเหตุ ทำให้ #ของมันต้องมี กลายเป็นวลีเด็ดที่ใช้ให้กำลังใจตัวเองเวลาเกิดกิเลสกับของที่อยากได้ และถึงแฮชแท็กนี้จะเป็นคำพูดของ “พี่ขวัญ” แต่ “พี่ขวัญ” บอกเลยว่าไม่ได้อยากให้ทุกคนซื้อทุกอย่างที่อยากได้ ต้องดูความจำเป็นและเงินในกระเป๋าด้วยเหมือนกันนะจ๊ะสาว ๆ
#บุพเพสันนิวาส ละครพีเรียดยอดฮิตที่ดูกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนกลายเป็นกระแสที่สามารถดึงคนที่เลิกดูทีวีไปแล้ว ต้องกลับมาดูละครหลังข่าวกันอีกครั้ง ไม่ว่านางเอกจะหยิบจับอะไร ก็กลายเป็นไวรัลที่ฮิตกันต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่นางเอกเท่านั้นที่โด่งดัง แต่ตัวละครทุกตัวได้รับความนิยมตามไปด้วย เรียกว่าเป็นการแจ้งเกิดอีกครั้งให้กับนักแสดงหน้าเดิมก็ได้
นอกจากละครจะดังเป็นพลุแตกแล้ว อีกสิ่งที่หลายคนอยากรู้ไม่แพ้กันก็คือเรื่องของประวัติศาสตร์ในยุคพระนารายณ์ และวัดวาอารามที่นางเอกกล่าวถึงใน #บุพเพสันนิวาส ทำให้ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญยังปลุกกระแสรักความเป็นไทยให้กลับมาอีกครั้งด้วย เรียกว่าเป็นละครที่ตราตรึงอยู่ในใจใครหลายคนเลยทีเดียว
#สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ เจ้าของแฮชแท็กนี้ก็คือเน็ตไอดอลสายสะบัด "สิตางศุ์ บัวทอง" หรือที่รู้จักกันในฉายา "สิตางศุ์ สายสะบัด" ที่มีดีตรงความฮาทำให้ครองใจชาวโซเชียลหลายแสนคน ที่มาของ #สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ มาจากความฮือฮาในโลกโซเชียลเมื่อ “สิตางศุ์” โพสต์คลิปโชว์เต้นสะบัดเอวอย่างแรง พร้อมแคปชั่นโดน ๆ ว่า “หมอบอก..ห้ามเครียด #สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ” ทำให้ยอดวิวแตะล้านในเวลาไม่นาน แถมคลิปนี้ยังมีคนดูต่อเนื่องจนถึงตอนนี้มียอดวิวกว่า 4 ล้านไปเรียบร้อยแล้ว
นอกจากคลิป #สะบัดต่อไม่รอแล้วนะ “สิตางศุ์” ยังสะบัดลีลาเต้นเซ็กซี่ขยี้ใจออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ได้แค่โด่งดังในไทยเท่านั้น แต่โกอินเตอร์ มีงานโชว์ตัวที่จีนแล้วด้วย ทำเอาเน็ตไอดอลคนอื่นต้องยอมสยบในความแรงไปเลย
#ยกเลิกสัมปทานBTS เกิดจากความโกรธของชาว กทม. โดยแท้ เมื่อรถไฟฟ้า BTS ที่พึ่งสุดท้ายของชาวกรุง เกิดอาการเสียอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดหย่อน ทำเอาคนกรุงฯ ต้องเกรี้ยวกราดเพราะได้ผลกระทบที่แก้ปัญหาไม่ได้ซักที เรียกว่าเสียซ้ำ เสียซ้อน เสียแล้ว เสียอีกอยู่หลายวัน จนเกิดคำใหม่อย่าง “อาณัติสัญญาณขัดข้อง” ที่คนกรุงจำไม่มีวันลืม แต่จนป่านนี้ก็ไม่มีใครรู้ซักทีว่าเจ้าอาณัติสัญญาณที่ว่าคืออะไร
ด้วยความที่ BTS เจ้ากรรมเสียติดกันหลายวัน ๆ ละหลายรอบ ทำให้ #ยกเลิกสัมปทานBTS ยิ่งร้อนระอุขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งบริการที่สวนทางกับคุณภาพ ต่อเนื่องด้วยข่าวขึ้นราคาค่าโดยสาร น้ำแอร์รั่ว แอร์ไม่เย็น ไม่มีที่กั้น และอีกสารพัดปัญหาที่ชาวกรุงถึงกับเอือมทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ #ยกเลิกสัมปทานBTS ให้มันรู้แล้วรู้รอดไป
ร้อนแรงไม่แพ้แฮชแท็กอื่นเลย #DEK61 ที่ทำเอาพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเอามือกุมขมับกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ของเด็กปี 61 ในระบบ TCAS ที่นำมาใช้เป็นปีแรกก็เกิดปัญหาไม่รู้จบ ถึงแม้ความตั้งใจของ TCAS จะต้องการให้ลดขั้นตอนการสอบลง ป้องกันการกั๊กที่ แต่ด้วยระบบที่ยังไม่พร้อม และไม่ชัดเจน ทำให้ปัญหาตกอยู่เด็กปีนี้ที่ต้องเอาอนาคตมาเป็นเดิมพันว่าจะสอบติดหรือไม่ และติดในคณะที่อยากเรียนจริง ๆ หรือไม่
แม้ TCAS ปีนี้จะผ่านไปอย่างกระท่อนกระแท่นท่ามกลางเสียงกร่นด่ารอบด้าน แต่สำหรับปี 62 ที่เริ่มรอบแรก รอบ Portfolio ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายืนยันหนักแน่นว่าได้แก้ไขปัญหา และเตรียมระบบทุกอย่างเพื่อรองรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในครั้งนี้แล้ว แต่เด็กหลายคนก็ได้แต่ภาวนาอย่าให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ขึ้นอีก เพราะชีวิตของพวกเค้าขึ้นอยู่กับการสอบครั้งสำคัญนี้ด้วยเหมือนกัน
ปีนี้กระแสละครมาแรงกว่าปีที่ผ่าน นอกจาก #บุพเพสันนิวาส แล้วที่ฮิตจนกลายเป็นแฮชแท็กแห่งปีอีกเรื่องก็คือ #เมีย2018 ที่ส่งให้พระเอกของเรื่องดังเป็นพลุแตก แถมเนื้อเรื่องก็โดนใจคนสมัยนี้ที่เมียไม่ใช่ผู้ถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่เป็น #เมีย2018 ที่ไม่อ่อนแอ ไม่ยอมแพ้ และสามารถประสบความสำเร็จในงานที่ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย เรียกว่าเป็นละครที่พูดแทนผู้หญิงหลาย ๆ คนสมัยนี้ ทำให้โดนใจทั้งสาวน้อย สาวใหญ่จนกลายเป็นละครแห่งปีที่ทำให้ติดงอมแงมกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยทีเดียว
นอกจาก #เมีย2018 แล้ว อีกแฮชแท็กละครที่กระแสแรงเวอร์ไม่แพ้กันก็คือ #ใครฆ่าประเสริฐ จากละครเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ที่นำเสนอเรื่องราวของคนไทยเชื้อสายจีนพร้อมกับการแก่งแย่งชิงดีกันภายในครอบครัวจนถึงขั้นต้องฆ่าพี่ชายในสายเลือด ซึ่งทำเอาเหล่านักสืบต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อตามหาว่าใครเป็นคนฆ่าประเสริฐตั้งแต่ต้นเรื่อง เรียกว่าปังตั้งแต่ตอนแรกแม้กลางเรื่องจะเปิดเผยว่าใครคือคนฆ่าประเสริฐ แต่ทุกคนก็ยังสงสัยในปมฆ่าจนกลายเป็นปมซ้ำ ปมซ้อนให้คนดูตามสืบกันจน #ใครฆ่าประเสริฐ ติดกระแสไวรัลอย่างต่อเนื่อง
#เกาะโต๊ะ แฮชแท็กสุดร้อนทางการเมืองที่เริ่มต้นเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ต่างแดน “ทักษิณ ชินวัตร” ออกมาทวิตถึงเหตุการณ์ครบรอบ 12 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 พร้อมทิ้งท้ายว่าอโหสิกรรมให้กับทุกคนที่กลั่นแกล้ง ทำเอา “พลเอกประวิตร” ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “บ้านเมืองที่วุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เป็น เพราะใคร แต่ไม่ใช่พวกเราแน่นอน ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ยังมีเรื่องที่ทำผิดกฎหมายอยู่ ขอให้ไปเคลียร์ตรงนั้นให้ได้ก่อน” ร้อนถึง “ทักษิณ” ต้องออกมาทวิตตอบโต้ว่า “น่ากลัวจัง ไม่อ่อนหวานเหมือนตอนเกาะโต๊ะ ขอเป็น ผบ.ทบ.”
หลังจากนั้นทวิตดังกล่าวก็ทำให้ #เกาะโต๊ะ กลายเป็นแฮชแท็กยอดฮิตติดเทรนด์อย่างรวดเร็ว จนคนเอาล้อกันมากมาย เพราะลำพัง รองนายกฯ ก็มีประเด็นเยอะแล้ว พอมีเรื่อง #เกาะโต๊ะ เข้ามาอีกก็เลยเป็นกระแสให้คนพูดถึงกันจนถึงตอนนี้เลย
#บอยสกล อีกหนึ่งแฮชแท็กร้อนที่หลายคนสงสัยว่าทำไปทำไม เมื่อ “บอย-สกล เอี่ยมสะอาด” หนุ่มผู้จริงจังกับการแต่งเรื่อง เนียนใส่ชุดนักเรียน ชุดนิสิตเข้าไปนั่งเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ ทั้งคณะจนเป็นที่รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตาของเพื่อน ๆ มาหลายปี แต่ที่พีคก็คือการแอบอ้างว่าเป็นนิสิต จุฬาฯ จนได้ถือป้ายในงานฟุตบอลประเพณี เรียกว่าเนียนจนได้เป็นตัวคณะซะงั้น แต่ก็ต้องตกม้าตาย ทำให้งานมโนขั้นเทพต้องถูกเปิดเผยก็เพราะดันเป็นผู้ดูแลค่าย ทำให้ต้องใส่ชื่อจริง ซึ่งในระบบไม่มีชื่อของบอย เป็นเหตุให้ความจริงเปิดเผยแบบไม่คาดฝัน
หลังจากต้องปิดจ๊อบงานมโนด้วยภาวะจำยอม ความจริงทุกอย่างเปิดเผยว่า “บอย สกล” ไม่ใช่นิสิตจุฬาฯ แต่อาศัยเข้ามาเนียนเรียน ทำกิจกรรมด้วยเท่านั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า “บอย สกล” ทำเรื่องดังกล่าวขึ้นทำไม
ปิดท้ายแฮชแท็กแห่งปีด้วยประเด็นร้อนแรง #ประเทศกูมี เพลงแรปจากกลุ่มแรปต้านรัฐประหาร ที่เนื้อเพลงหนักหน่วงไปด้วยความจริงของสังคมไทย พร้อมด้วยวลีสุดฮิต #ประเทศกูมี ที่ทำเอาคนฟังร้อน ๆ หนาว ๆ ในความจริง กลายเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง เพราะด้วยความแรงของเนื้อเพลงที่บางคนก็เห็นด้วย ประกอบกับความจริงที่บางคนก็ยอมรับไม่ได้ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความถูกต้อง เสรีภาพ และภาพลักษณ์ของประเทศ ถึงขั้นต้องระงับการเผยแพร่เพลง แต่สุดท้ายเมื่อมาดูกันที่กฎหมายก็ไม่พบว่า #ประเทศกูมี ผิดที่ตรงไหน กลายเป็นว่าเผยแพร่ได้อย่างถูกต้องเหมือนเพลงทั่วไป
ความเห็น 0