สัมภาษณ์
การระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้จำนวนมาก การรับมือกับภาวะวิกฤตถือเป็นบททดสอบสถาบันการเงินทุกแห่ง เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทยที่มีพอร์ตสินเชื่อลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีสูงถึง 6.74 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อลูกค้ารายย่อยกว่า 5.52 แสนล้านบาท วิกฤตรอบนี้จึงถือได้ว่าแบงก์รวงข้าวเจ็บตัวไม่น้อย ซึ่ง “พัชร สมะลาภา” กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยได้จัดงาน “คุยกันหลังคลายล็อกดาวน์” ได้เปิดใจถึงการดูแลลูกค้าในปัจจุบัน และแนวโน้มผลกระทบในระยะข้างหน้า
ฝนโควิดแบงก์ไม่หุบร่ม
โดย “พัชร” เปิดเผยว่า แบงก์ได้ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ลูกค้าบุคคลและลูกค้าธุรกิจรวม 6.5 แสนราย คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 8.28 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าบุคคลที่ได้รับพักเงินต้น 8.2 หมื่นล้านบาท จำนวน 3.56 แสนราย และให้เงินสินเชื่อเพิ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท จำนวน 3.4 หมื่นราย
ขณะที่ลูกค้าธุรกิจได้รับการพักเงินต้น 2.93 แสนราย วงเงิน 7.46 แสนล้านบาท และได้สินเชื่อเพิ่ม 1.43 แสนล้านบาท จำนวน 6 หมื่นราย
“หลายคนชอบบอกว่า เมื่อฝนตกแบงก์ก็หุบร่มทันที แต่จากตัวเลขที่เราช่วยเหลือลูกค้าให้เงินสินเชื่อเพิ่มอีก1.43 แสนล้านบาท เติบโต 30% ถือว่าสูงกว่าช่วงปกติ และยังมีโครงการเถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ หรือสินเชื่อ0% รักษาการจ้างงานเอสเอ็มอี โครงการนี้เราเอาเงินจากกระเป๋าผู้ถือหุ้น 1,100 ล้านบาทเข้าไปช่วยพนักงานกว่า 4.9 หมื่นราย”
เชื่อลูกหนี้ 60% ชำระได้ปกติ
สำหรับโจทย์ใหญ่ที่ทุกแบงก์ต้องเจอขณะนี้คือ เมื่อจบมาตรการพักชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้จะกลับมาชำระหนี้ได้แค่ไหนนั้น “พัชร” ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นมรสุมลูกใหม่โดยเป็นโจทย์ที่ทุกคนเป็นห่วง โดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจที่พักเงินต้น 2.93 แสนราย อย่างไรก็ดี จากข้อมูลว่าลูกค้าธุรกิจมียอดเงินฝากที่เติบโตขึ้น 13% หรือเพิ่มมาอยู่ที่ 9.34 แสนล้านบาท ณ วันที่ 22 มิ.ย. 2563 จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 8.27 แสนล้านบาทชี้ให้เห็นว่าลูกค้ายังพอมีสภาพคล่องและคืนหนี้ได้
“เท่าที่ประเมินศักยภาพลูกหนี้ด้วยdata analytic เชื่อว่ากลับมาชำระหนี้ได้ราว 60% ลูกค้าเองก็ไม่รู้เมื่อไหร่ธุรกิจจะกลับมา แบงก์จะหุบร่มเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ หรือเกิดโควิดรอบ 2 พนักงานจะอยู่อย่างไร แต่การจะประเมินศักยภาพทำได้ยากแต่ผมเดาว่า 60% น่าจะกลับมาจ่ายได้ ส่วนที่เหลืออีก 40% ถือเป็นบททดสอบธนาคารคือเราช่วยได้ถูกคน ทำให้เขารอดได้หรือไม่”
อุ้มลูกหนี้แม้ไม่มีหลักประกัน
“พัชร” บอกอีกว่า แม้ว่าในจำนวนสินเชื่อที่ช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ 7.46 แสนล้านบาท จะมีหลักประกันต่อวงเงินสินเชื่อ (LTV) ถึง 80-81% ซึ่งส่วนหนึ่งครอบคลุมวงเงินกู้ทั้งหมด เช่น กู้ 100 บาท แต่มีหลักประกัน 120% แต่ไม่ได้สะท้อนว่าธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ไม่มีหลักประกัน เพราะหากดูที่ปล่อยให้ลูกค้าธุรกิจ 6 หมื่นราย มี 2-3 หมื่นรายเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน
“เราปล่อยสินเชื่อลูกค้าทุกกลุ่ม แม้จะไม่มีหลักประกันก็ตาม และเราไม่ได้ต้องการหลักประกันของลูกค้า เราไม่อยากจะยึดหลักประกันไว้ ถ้าลูกค้าชำระหนี้ไม่ไหว เพราะแบงก์ยึดมาก็ไม่รู้จะนำไปทำอะไร”
ลด ดบ.กระทบ “หน้าตักแบงก์”
สำหรับมาตรการช่วยลูกหนี้เฟส 2 ที่ลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปนั้น “พัชร” ยอมรับว่ากระทบต่อรายได้แบงก์แน่นอน แต่ที่ผ่านมากสิกรไทยก็ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกค้าเต็มเพดานอยู่แล้ว แต่ก็มีผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป และรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประกันก็ลดลงตามเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น
“หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและรายได้ลดลงเรื่อย ๆ จนกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคาร ก็จะทำให้ธนาคารมีเงินไปช่วยเหลือลูกค้าน้อยลงโจทย์สำคัญคือ ถ้าลดดอกเบี้ยลงเรื่อย ๆ อาจจะกระทบต่อระบบแบงก์ในอนาคต”
ชูธง K PLUS บริการยุคดิจิทัล
“พัชร” บอกว่า การจะช่วยให้งบการเงินของธนาคารดีขึ้นก็ต้องพิจารณา จากต้นทุนที่ยังมาจากเรื่องคนและการลงทุนระบบเทคโนโลยี ทั้งนี้ แบงก์กสิกรไทยยืนยันไม่มีแผนลดคน แต่พิจารณาจะทำอย่างไรให้คนที่มีอยู่ 2 หมื่นคนสามารถพัฒนาทักษะใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ ที่สำคัญต้องปรับตัวให้พนักงานเป็นฝ่ายเข้าไปหาลูกค้า และการทำให้ลูกค้าสามารถชำระหนี้คืนได้
“รูปแบบการบริการหลังโควิด ทุกคนจะไปดิจิทัลกันหมด ทุกอย่างจะไปอยู่บน K PLUS และการกู้เงินบนช่องทางหรือแพลตฟอร์มอื่นจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเราทำเรื่องนี้ได้ดี แต่สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปคือการให้เงินสินเชื่อโดยไม่ต้องให้ข้อมูลหรือเจอหน้ากัน แต่สามารถวัดความตั้งใจในการชำระหนี้ได้ หากสามารถทำได้รายได้ก็จะดีขึ้นได้”
อีกไม่กี่เดือนพายุลูกใหม่จะเข้ามาวัดฝีมือแบงก์แต่ละแห่งว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุด