วันที่ 17 เมษายน 2564 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมปลัดกระทรวงและผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) องครักษ์ จ.นครนายก โดยมี รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนะกุล อธิการบดี มศว. ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย ผอ.โรงพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พญ.อมรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธาณรสุขจังหวัดนครนายก เข้าร่วม
ทั้งนี้ ผศ.พญ.นันทนา กล่าวว่า มศว.ได้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้ จำนวน 200 เตียง โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 18 เม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งการระบาดของโควิด - 19 ระลอกที่ 3 ถือว่าค่อนข้างหนัก โดยโรงพยาบาลสนามของ มศว. จะรับผู้ป่วยจากโซน จ.ปทุมธานีและ กทม.เป็นหลัก รวมทั้งนิสิตของมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสนาม มีศักยภาพสามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิดรู้ผลได้ภายใน 6 ชั่วโมง มีพยาบาล จำนวน 59 คน ผู้ช่วยพยาบาล จำนวน 20 คน อุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 11 เครื่อง มีรถเคลื่อนย้ายคนไข้ จำนวน 4 คัน มีโคมไฟฆ่าเชื้อ มีนักจิตวิทยาที่จะดูแลผู้ป่วย ถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างน่าพอใจ
ขณะที่ พญ.อมรรัตน์ กล่าวว่า การติดเชื้อใน จ.นครนายก ไม่มี แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากคนต่างพื้นที่ มาจาก จ.สมุทรสาคร 3 ราย จ.ปทุมธานี 13 ราย จากสถานบันเทิง 9 ราย มีนิสิตจาก มศว. 2 - 3 ราย เป็นต้น มีพยาบาลจาก 3 โรงพยาบาลใน 3 อำเภอมาช่วยโรงพยาบาลสนาม ด้าน ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า อว.ไม่ได้มีแต่เพียงมหาวิทยาลัย แต่ยังมีหน่วยวิจัยและพัฒนาอีกหลายแห่งที่จะเข้าไปช่วยตั้งโรงพยาบาลสนามเมื่อเกิดวิกฤติ ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขและมหาดไทย ทั้งกล่าวว่าตนเองดีใจที่ อว.เป็นกองหนุนที่พร้อมในการทำงานในทุกจังหวัดเพื่อรับมือกับโควิด - 19 ระลอกสาม
“ในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขวัญและกำลังใจ การที่ทุกหน่วยของ อว.ร่วมมือร่วมใจกันเปิดโรงพยาบาลสนาม ก็เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ ท่านทั้งหลายได้เสียภาษีให้รัฐบาลมาตั้งเป็นงบประมาณ สร้างโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาล เมื่อมีวิกฤติ อว.พร้อมที่จะเป็นกองหนุนช่วย ถ้าจำเป็นจะขยายมากกว่า 12,000 กว่าเตียงที่มีอยู่ในเวลานี้อีก อยากบอกประชาชนไทยว่า “อย่าวิตก ประเทศเรา มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก” และขอให้ความมั่นใจว่า “เราจะผ่านโควิด-19 ระลอก 3 ไปได้อย่างแน่นอน” รมว.อว. กล่าว
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้โรงพยาบาลสนาม ของ อว.ในทั่วประเทศ รวมแล้ว 1,179 เตียง ซึ่งทั้งหมดอาการไม่หนัก โดยใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ามา 346 ราย นอกจากนี้ เรายังมีระบบรองรับการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักให้ไปถึงโรงพยาบาลหลักอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
โอกาสนี้ ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. ) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ได้ส่งมอบนวัตกรรมชุดที่นอนยางพารา 1,000 ชุด
โดยมอบให้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ศูนย์พระนครศรีอยุธยาร่วมกับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา 250 ชุด และเตรียมให้กับโรงพยาบาลสนาม 350 ชุด ตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา แจ้งขอรับการสนับสนุน โดยจะนำไปใช้ที่โรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วยCovid-19 ที่ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อ.พนมสารคาม และที่อาคารสัมมนาบางประกง และหอประชุมภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ศูนย์บางคล้า
ความเห็น 0