โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สุรชาติ บำรุงสุข | PSYOP MISO IO! สงครามแย่งชิงมวลชน

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 25 เม.ย. 2563 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 25 เม.ย. 2563 เวลา 04.30 น.
สุรชาติ2070

“เพื่อให้ปฏิบัติการจิตวิทยาประสบความสำเร็จ ปฏิบัติการนี้จะต้องอยู่บนรากฐานของความจริง”

คำสอนในวิชาสงครามจิตวิทยา

ในยุคสงครามเย็น อุดมการณ์เป็นแกนกลางใหญ่ของการต่อสู้

จนมีการกล่าวว่า สงครามเย็นเป็น “สงครามอุดมการณ์” ในตัวเอง

ฉะนั้น การต่อสู้ในสงครามเช่นนี้จึงต้องมียุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างภาพของความเหนือกว่าทางอุดมการณ์เพื่อ “ช่วงชิงมวลชน”

และสงครามชิงมวลชนกระทำผ่านวิธีการหนึ่งที่สำคัญคือ “การโฆษณาทางการเมือง” หรืออาจเรียกในอีกด้านหนึ่งว่า “การโฆษณาชวนเชื่อ” (propaganda) ที่สร้างภาพให้ฝ่ายเราเป็นบวก

ด้วยความหวังว่าการโฆษณาเช่นนี้จะเป็นการ “โน้มน้าวใจ” (persuade) ให้ผู้รับสารเข้ามาเป็นฝ่ายเดียวกับเรา

และขณะเดียวกันก็สร้างภาพให้ศัตรูเป็นลบ เพื่อที่จะมี “อิทธิพล” ต่อมวลชนไม่ให้หันไปสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม

สงครามในบริบทเช่นนี้กระทำผ่านความรับรู้และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในฐานะของการเป็นผู้รับสาร และคาดหวังว่าเมื่อรับฟังสารที่ถูกส่งออกมาจากการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว เป้าหมายจะเปลี่ยนระบบความคิด เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนการให้เหตุผล

และสุดท้ายคือเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจเป็นในระดับตัวบุคคลในสังคม หรืออาจจะเป็นสังคมโดยรวมหรือกลุ่มองค์กรและขบวนการต่างๆ ในสังคม การทำเช่นนี้เพื่อให้ฝ่ายกระทำมีอิทธิพลทางความคิดเหนือจิตใจของผู้รับสาร

แต่ในอีกด้านปฏิบัติการนี้มีลักษณะของการข่มขู่ให้ฝ่ายตรงข้ามยอมจำนน หรืออาจเรียกว่าเป็นการสร้างอิทธิพลเชิงลบ ด้วยการใช้ข่าวสารเพื่อให้เป้าหมายเกิดความกลัว และยอมที่จะเปลี่ยนการตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

เช่น ยอมยุติความคิดที่จะเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐ

PSYOP

ในบริบทของการต่อสู้เช่นนี้ สงครามจึงมีลักษณะเป็น “สงครามจิตวิทยา” (psychological warfare) คือเป็นกระบวนการที่ดำเนินการผ่านปัจจัยด้านจิตวิทยาเพื่อให้เกิดอิทธิพลเหนือจิตใจเป้าหมาย

การดำเนินการที่เกิดขึ้นจึงถูกเรียกว่า “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (psychological operations หรือมีคำย่อว่า PSYOP) และคำย่อในภาษาไทยที่ใช้ในวงทหารและวงการความมั่นคงคือ “ปจว.”

นิยามของปฏิบัติการนี้จึงหมายถึงการดำเนินการที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเป้าหมาย ที่พฤติกรรมใหม่จะเป็นบวกแก่ทางฝ่ายผู้ปฏิบัติ

ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทำให้มีการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเป็นส่วนประกอบของการดำเนินนโยบายของรัฐ ทั้งในทางการเมือง การทูต และทางเศรษฐกิจ

อันอาจกล่าวได้ว่า งาน ปจว. มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อให้เป้าหมาย “ยืน” อยู่กับฝ่ายเรา (หรือให้การสนับสนุนฝ่ายเราในทางนโยบาย)

งาน ปจว. จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการต่อสู้ทางการเมืองในยุคสงครามเย็น

และในส่วนของไทย ปฏิบัติการเช่นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายทหารโดยตรง

จนสงครามจิตวิทยาและ/หรือปฏิบัติการจิตวิทยากลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของกองทัพไทยในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่แตกต่างกับบทบาทของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทหารจะมีความรู้และทักษะ ตลอดรวมถึงเครื่องมือต่างๆ ดังกล่าว จนกลายเป็น “มรดกทางวัฒนธรรม” ของทหาร

เมื่อโลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 และเทคโนโลยีสารสนเทศมีพัฒนาการมากขึ้นด้วยความเป็นโลกไซเบอร์… โลกออนไลน์ ทหารไทยก็อาศัยทักษะและเครื่องมือที่กองทัพมีในการทำสงครามครั้งใหม่ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์

แต่การต่อสู้ครั้งนี้กลับเป็น “สงครามต่อต้านประชาธิปไตย” เพราะไม่มีคอมมิวนิสต์เหลือให้เป็นภัยคุกคามอีกต่อไป และประชาธิปไตยกลายเป็น “ภัยคุกคามใหม่” ที่ผู้นำทหารไทยไม่ยอมรับ งาน ปจว. จึงถูกนำเอาเข้ามาเพื่อรับใช้ภารกิจในสงครามการเมืองของผู้นำกองทัพ

ด้วยเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงใหญ่ในทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น หรือในศตวรรษที่ 21 คำว่า “งาน ปจว.” จึงถูกเรียกใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่เป็น “ยุคข่าวสาร” (Information Age) และการมาของโลกไซเบอร์ว่าเป็น “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operations หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “IO”)

ทั้งที่ในความเป็นจริงในทางทหารแล้ว ปฏิบัติการจิตวิทยากับปฏิบัติการข่าวสารมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

แต่การนำภาษามาใช้ในบริบทแบบไทย จึงทำให้เกิดความเข้าใจว่าปฏิบัติการในลักษณะของการใช้ข่าวสารของทหารในปัจจุบันเป็น “ไอโอ” ในตัวเอง

MISO

ในยุคสงครามเย็นนั้น ภาษาที่ใช้จนเป็นหนึ่งในปฏิบัติการหลักชุดหนึ่งในทางทหารของกองทัพสหรัฐในยุคสมัยดังกล่าวคือคำว่า “ปจว.”

แต่ในยุคหลังสงครามเย็น คำคำนี้ก็เปลี่ยนกลับไปกลับมา เช่น ในระหว่างปี 2009 จนถึงปี 2014 ปจว. ถูกเรียกใหม่ว่าเป็น “ปฏิบัติการสนับสนุนทางทหารด้านข่าวสาร” (Military Information Support Operations) คือเปลี่ยนจาก PSYOP เป็น MISO แต่ในตอนกลางปี 2014 ก็เปลี่ยนกลับมาใช้คำว่า PSYOP ใหม่

แต่แล้วในปี 2015 กลับมาใช้คำว่า MISO จนในช่วงปลายปี 2017 จนถึงปัจจุบันกองทัพสหรัฐก็หันกลับมาใช้คำว่า PSYOP อีกครั้ง

ซึ่งอาจจะต้องทำความเข้าใจว่าในทางภาษานั้น คำสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับการบัญญัติศัพท์ของกองทัพสหรัฐในแต่ละช่วงเวลา

IO

ในบริบททางทหารของกองทัพสหรัฐ ปฏิบัติการข่าวสารคือการดำเนินการทางด้านข่าวสารเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม (เอกสารหลักของกองทัพสหรัฐในเรื่องนี้คือ Joint Pub 3-13, Joint Doctrine for Information Operations)

ดังนั้น ไอโอจึงหมายถึงการบูรณาการการใช้เครื่องมือใน 5 ส่วนหลักเข้าด้วยกัน ได้แก่ สงครามอิเล็กทรอนิกส์ (EW) ปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (CNO) ปฏิบัติการจิตวิทยา (PSYOP) การลวงทางทหาร (MILDEC) ความมั่นคงของปฏิบัติการ (OPSEC) [ตัวย่อในภาษาอังกฤษเป็นคำศัพท์เทคนิคในทางทหาร]

ปฏิบัติการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้กระทบกับข่าวสารและระบบข่าวสารของฝ่ายข้าศึก และขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันข่าวสารและระบบข่าวสารของฝ่ายเรา

และสำหรับกองทัพสหรัฐแล้ว ไอโอถือเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของสงครามนอกแบบในยุคปัจจุบัน ที่สหรัฐใช้ทำกับเป้าหมายที่เป็นรัฐศัตรู หรือเป็นกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่เป็นข้าศึกของสหรัฐ เช่น ขบวนการกองโจรหรือกลุ่มติดอาวุธ เป็นต้น

องค์ประกอบ 5 ประการของไอโอ เป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการเครื่องมือของกองทัพสหรัฐ

ดังจะเห็นได้ว่าในปฏิบัติการเช่นนี้ มีการใช้อากาศยานที่มีภารกิจในการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาสนับสนุน เช่น เครื่องบินแบบอีซี-130 (EC-130) เพราะถือว่าสงครามอิเล็กทรอนิกส์เป็นแกนสำคัญของปฏิบัติการข่าวสาร

และขณะเดียวกันก็ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ของกองทัพสหรัฐในการต่อสู้กับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของฝ่ายข้าศึก

อันมีนัยถึงการทำลายระบบข่าวสารของฝ่ายตรงข้าม

ปฏิบัติการนี้จะมีประสิทธิภาพได้เมื่อมีการสนับสนุนด้วยงาน ปจว. หรืออาจกล่าวได้ว่า ปจว.เป็นกิ่งหนึ่งของไอโอ

ซึ่งในกระบวนการนี้จะเป็นการส่งออกข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเก่าที่เป็นสิ่งพิมพ์ หรือเป็นในรูปแบบใหม่ที่เป็นสื่อออนไลน์ หรือบรรดาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเป้าหมายคือผู้รับสารที่เป็นชาวต่างชาติ เพื่อให้เกิดอิทธิพลเหนืออารมณ์ ความรู้สึก การใช้เหตุผล และการตัดสินใจ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (เช่นที่เป็นวัตถุประสงค์ของงาน ปจว.โดยทั่วไป)

นอกจากนี้ งานไอโอยังโยงเข้ากับเรื่องของการทำแผนลวงทางทหาร เพื่อให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดของฝ่ายข้าศึก และเกี่ยวข้องในอีกส่วนกับเรื่องของความมั่นคงในปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้น ด้วยการไม่เปิดโอกาสให้ข้าศึกเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ต้องการได้ หรือไม่ปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นแผนทางทหารของฝ่ายเรา เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไอโอในความหมายทางทหารของสหรัฐมีความซับซ้อนทั้งในเชิงแนวคิดและในส่วนของปฏิบัติการจริงอย่างมาก

และยังมีการนำเอาอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนปฏิบัติการนี้

เช่น อากาศยานที่มีภารกิจในสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดรวมถึงระบบเครือข่ายสื่อสารมวลชนในรูปแบบต่างๆ ที่อยู่ในมือของรัฐบาลสหรัฐ

ทั้งยังรวมถึงทีมทำเนื้อหาเพื่อที่จะใช้ในการกระจายออกไปยังผู้รับสาร ซึ่งเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก

เพราะความสําเร็จหรือล้มเหลวนั้น ถูกชี้ขาดอย่างมีนัยสำคัญจากเนื้อหาสาระที่ถูกเผยแพร่ออกสู่ภายนอก

ปัญหาในบริบทไทย

สิ่งที่ถูกเรียกว่า “ไอโอ” ในบริบทของไทยนั้น มีความหมายแตกต่างจากภาษาที่ใช้ในมิติของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐอย่างมาก แน่นอนว่ากองทัพไทยไม่ได้มีศักยภาพในแบบของสหรัฐ เช่นเดียวกับที่กองทัพไทยก็ไม่ได้มีทั้งงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมือเช่นของสหรัฐ

ดังนั้น ไอโอที่มีการเรียกขานในไทย โดยความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงปฏิบัติการจิตวิทยาที่อยู่ในพื้นที่ไซเบอร์

แต่สาระของปฏิบัติการนี้เป็นภาพสะท้อนถึงบทบาททางการเมืองของทหารไทยอย่างชัดเจน เพราะหากพิจารณาเปรียบเทียบกลับไปสู่การต่อสู้ในยุคสงครามเย็น งาน ปจว.เป็นหนึ่งในหัวใจของสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลไทย

แต่เมื่อสงครามเย็นจบลงในเวทีโลก เช่นที่สงครามคอมมิวนิสต์ก็จบลงในเวทีไทยนั้น

ทักษะและเครื่องมือสำหรับปฏิบัติการเช่นนี้ยังคงอยู่ในความควบคุมของผู้นำกองทัพ

ดังนั้น จึงไม่เป็นเรื่องแปลกใจแต่อย่างใดที่เมื่อกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองไม่ว่าจะเป็นในช่วงก่อนและหลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 นั้น ปฏิบัติการชุดนี้ถูกนำมาใช้ในทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้งาน ปจว.เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่บทบาทของทหารในการเมืองไทย

ดังจะเห็นได้ว่ามีการจัดทำรายการในรูปแบบต่างๆ ของฝ่ายทหาร จนรวมไปถึงการจัดทำรายการของฝ่ายรัฐบาล ขณะเดียวกันก็อาศัยทั้งสื่อเก่าและสื่อใหม่เป็นเส้นทางของการเผยแพร่ข้อมูลที่ฝ่ายทหารได้จัดทำขึ้น

หรืออาจกล่าวในภาพรวมของปฏิบัติการนี้ได้ว่า ประชาชนไทยกลายเป็นเป้าหมายของการทำ ปจว.ของทหาร

หรือกล่าวได้ว่า ประชาชนในสังคมไทยมีสถานะเป็น “ผู้รับสาร” ที่ผู้นำทหารที่เป็น “ผู้ส่งสาร” โดยมีบุคลากรและองค์กรของฝ่ายรัฐบาล/กองทัพเป็น “ผู้ผลิตสาร”

สภาวะเช่นนี้ชี้ให้เห็นอีกว่ากองทัพได้นำเอาบุคลากร เครื่องมือ และงบประมาณที่มีเพื่อใช้ในภารกิจทางทหาร กลับถูกนำมาใช้ในทางการเมืองอย่างชัดเจน

ซึ่งไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะคงบทบาทและอำนาจของกองทัพไว้ในเวทีการเมืองเท่านั้น

หากยังเป็นสัญญาณถึงความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่ของฝ่ายทหารในการเมืองไทยอีกด้วย ปฏิบัติการจึงมีส่วนสนับสนุนโดยตรงต่อการทำรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบทหาร

ในอีกด้านของการต่อสู้ เครื่องมือนี้ถูกใช้เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะใช้ในการทำลายภาพลักษณ์ของบุคคลเป้าหมาย ซึ่งต่างจากหลักการในวิชาทหารที่หวังว่า ปจว.จะทำลาย สร้างความสับสน หรือทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดแก่ฝ่ายศัตรู หรือเป็นปฏิบัติการที่คาดหวังให้ทหารในกองทัพข้าศึกเปลี่ยนใจไม่เป็นศัตรูกับฝ่ายเรา กล่าวคือ เป็นปฏิบัติการที่มีเป้าประสงค์เป็นเรื่องทางทหารโดยตรง กล่าวคือเป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตวิทยากับฝ่ายข้าศึก

แต่ในบริบทของไทยนั้น ประเด็นนี้แทบจะเป็นเรื่องของปฏิบัติการที่มีความมุ่งประสงค์ทางการเมืองทั้งหมด และใช้เพื่อกระทำกับเป้าหมายบุคคลทางการเมือง (ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลที่ผู้นำทหารให้การสนับสนุน)

นอกจากนี้ยังพบว่าปฏิบัติการดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการที่ใช้ในการต่อต้านขบวนการนิสิต นักศึกษา ที่มีการใส่ร้ายป้ายสีเพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชัง จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2519 จนทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทของทหารในกรณีนี้อย่างมาก

เพราะเท่ากับว่าปฏิบัติการของฝ่ายทหารที่มองฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นเสมือน “ข้าศึกในสงคราม” จึงต้องดำเนินการทางจิตวิทยากับเป้าหมายเหล่านี้ กำลังกลายเป็นปัจจัยในการสร้างความแตกแยกในสังคม และยังเป็นการบ่อนทำลายสถานะและความน่าเชื่อถือของกองทัพเองด้วย

ปฏิบัติการเช่นนี้ทำให้เสียงเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพและส่วนงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กอ.รมน. ดังมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในอนาคต อาจถูกทำลายได้ง่ายจาก ปจว.ของทหารปีกขวาและฝ่ายอำนาจนิยม

ขบวนประชาธิปไตยไทยต้องตระหนักในเรื่องนี้!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น