โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

“ทำประกันแล้วใช้ชีวิตเสี่ยงขึ้น” เพราะรู้ว่าไม่ต้องแบกรับต้นทุนเอง รู้จัก Moral Hazard ภัยทางศีลธรรม

aomMONEY

อัพเดต 15 มิ.ย. 2566 เวลา 19.54 น. • เผยแพร่ 15 มิ.ย. 2566 เวลา 12.54 น. • aomMONEY

เคยมั้ย !! ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบมีประกัน ก็เลยใช้งานแบบไม่ถนอม ใช้งานแบบสมบุกสมบันเต็มที่ เพราะคิดง่ายๆ ว่า ถ้ามันเสียก็เปลี่ยนใหม่ได้ หรือ เอาไปให้ศูนย์ซ่อมก็ได้แล้ว ถ้าคุณเคยทำแบบนี้ บอกเลยพฤติกรรมของคุณเข้าข่าย Moral Hazard แล้วล่ะ

Moral Hazard คือ อะไร?

ถ้าแปลตามความหมายใน พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๐ แปลความหมายว่าคือ “ภาวะภัยทางศีลธรรม”

คราวนี้ เลยงงกันไปใหญ่ว่า แล้ว “ภาวะภัยทางศีลธรรม” คืออะไรล่ะ

อธิบายง่ายๆ ก็คือ การที่บุคคล หรือ กลุ่มธุรกิจ มีพฤติกรรมเข้าหาความเสี่ยงมากขึ้น เป็นเพราะรับรู้ว่า มีผู้รับผิดชอบความเสี่ยงแทน จึงไม่จำเป็นต้องห่วงผลของการกระทำ

จริงๆ แล้ว Moral Hazard มีต้นกำเนิดมาจากธุรกิจประกันภัย พูดให้เห็นภาพ ก็คือ เวลาที่คนเราซื้อประกันภัยสิ่งของไว้แล้ว ก็จะมีแนวโน้มว่าจะใช้งานสิ่งนั้นโดยขาดความระมัดระวัง ผิดกับตอนที่ยังไม่ได้ซื้อประกัน ก็มักจะใช้งานอย่างทะนุถนอม

ยกตัวอย่าง เจ้าของรถที่ทำประกันอุบัติเหตุรถยนต์ไว้ ก็มักจะขับรถด้วยความประมาทมากกว่าตอนที่ยังไม่ได้ทำประกัน เป็นเพราะเจ้าของรถ รู้ดีว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาแล้วล่ะก็ บริษัทประกัน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหาย หรือ ค่าซ่อมรถให้นั่นเอง

เอาเข้าจริง Moral Hazard ก็ไม่ได้สร้างความได้เปรียบซะทีเสีย เพราะถ้าเจ้าของรถ ไม่สนใจความเสี่ยง คิดว่าพอเกิดอุบัติเหตุก็เคลมได้ ก็เลยเคลมถี่ๆ คราวนี้ พอยอดเคลมสูงขึ้น บริษัทประกัน ก็ไม่ยอมเสียเปรียบหรอกนะ เขาก็จะคิดเบี้ยประกันในปีถัดไปสูงขึ้นกว่าเดิม

บอกเลย ถ้าบริษัทประกัน เจอลูกค้าที่มีพฤติกรรม Moral Hazard บ่อยๆ คราวนี้ นอกจากจะกำหนดเบี้ยประกันแพงขึ้น ยังกำหนดเงื่อนไขจุกจิกยิบย่อยในสัญญา สุดท้ายทำให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ต้องแบกรับเงื่อนไขที่ยุ่งยากของบริษัทประกันตามไปด้วย

เท่านั้นยังไม่พอ เวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นจริงๆ นอกจากเสียเวลา เสียอารมณ์แล้ว ยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วย

นอกจากนี้ คำว่า Moral Hazard ยังถูกหยิบยกมาพูดในแวดวงการเงินระดับโลกด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับ นโยบายลดหนี้ หรือ ยกหนี้ให้ หรือการให้อีกฝ่ายเป็นผู้คุ้มครองและรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ แทน อย่าง กรณีล่าสุด เมื่อ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ FED เข้ามาแทรกแทรงและให้ FDIC คุ้มครองวงเงินของผู้ฝากเงินแบบเต็มจำนวน แก่ลูกค้า ธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB จากเดิมที่กำหนดเพดานการรับประกัน อยู่ที่ 250,000 ดอลล่าห์สหรัฐฯเท่านั้น

เรื่องนี้ Ken Griffin ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ Citadel บอกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯแข็งแกร่งมากพอที่จะปล่อยให้ผู้ฝากเงินของ SVB สูญเสียเงินของพวกเขาทั้งหมด เพื่อมอบบทเรียน Moral Hazard ให้

ที่สำคัญ การที่ FED เข้าไปอุ้มบรรดาลูกค้าของ SVB จะทำให้สูญเสียวินัยทางการเงิน และเป็นการทรยศต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของสหรัฐอเมริกาแบบต่อหน้าต่อตา

ไม่เพียงแต่ในแวดวงการเงินเท่านั้น Moral Hazard ยังถูกนำมาประเด็นในมิติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ การเมือง อย่างกรณีนักการเมืองหลายคน ข้อเสนอให้ยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เพื่อเรียกฐานเสียง โดยหลงลืมไปว่า กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการกู้ยืม มิใช่กองทุนเรียนฟรีเพื่อสนับสนุนการศึกษา

หรือ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มต้นจากการมีเจตนาดีให้คนยากคนจน ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ในราคาที่จ่ายได้ แต่นโยบายนี้กลับคนให้หลายๆ คน ต่างละเลยการดูแลสุขภาพ เพราะเวลาเจ็บป่วย ไปหาหมอ ก็จ่ายในราคาที่ถูกแสนถูก แทบเหมือนการรักษาฟรีอยู่แล้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0