โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

แม่และเด็ก

เชื่อมโยงโลก ลูก และเรา ด้วยการอาบป่า ‘forest bathing’

Mood of the Motherhood

อัพเดต 12 พ.ค. 2565 เวลา 13.03 น. • เผยแพร่ 13 พ.ค. 2565 เวลา 00.02 น. • Features

การอาบป่า (forest bathing) หรือชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่าชินริน โยกุ (shinrin – yoku) เป็นการบำบัดร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยการเดินป่า เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติโอบกอดร่างกาย บรรเทาความเครียด เสริมสร้างสุขภาพ และนำพาจิตใจที่อ่อนล้าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แพทย์และนักวิจัยชาวญี่ปุ่น Qing Li ผู้ก่อตั้ง The Japanese Society of Forest Medicine ซึ่งสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของป่าที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ และให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับการฝึกอาบน้ำในป่า ระบุว่า ‘ทุกที่ที่มีต้นไม้ เราก็จะมีสุขภาพดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น’สำหรับเด็กเล็กก็เช่นกัน การให้เด็กที่กำลังเจริญเติบโตได้ใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวอันกว้างใหญ่ เพื่อให้ธรรมชาติได้โอบอุ้มร่างกาย จิตใจ และการเรียนรู้โดยปราศจากสิ่งใดมากั้นกลางนั้นจะส่งผลต่อพฤติกรรมที่ดีของเด็กๆ ได้ตรงกับที่ทางด้านศาสตราจารย์ทันจา ซอบโก จากคณะวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ มหาวิทยาลัยฮ่องกง และศาสตราจารย์ Kevin Brown จากมหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ระบุว่า จากการสำรวจของผู้ปกครองที่มีลูกเล็กก่อนวัยเรียน การอาบป่าช่วยให้พฤติกรรมของคนในครอบครัวดีขึ้น อารมณ์คงที่ มีสมาธิและสติมากขึ้น บรรยากาศในครอบครัวก็สดชื่นขึ้นตามไปด้วยการอาบป่ากับเด็ก เริ่มต้นได้บนพื้นที่สีเขียว อาจเป็นสวนสาธารณะในเมือง อุทยานแห่งชาติใกล้เมือง หรือเพียงแค่แนวรั้วต้นไม้ใหญ่ สวนดอกไม้เล็กๆ ในหมู่บ้านที่ต่างจังหวัด ทุกที่ที่มีธรรมชาติ เด็กน้อยก็พร้อมแล้วที่ออกสำรวจโลกกว้าง ด้วยวิธีธรรมชาติที่ง่ายที่สุด และมีประโยชน์ต่อลูกมากที่สุดสำรวจความลับของโลก ลูก และเรา ด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

ก่อนที่จะพาลูกเดินเล่นในธรรมชาติ แนะนำให้สวมชุดที่ระบายอากาศได้ดี สวมหมวกกันแดด วางสมาร์ตโฟนหรือกล้องถ่ายรูปไว้ก่อน แล้วกระชับรองเท้าของเราและลูกให้แน่น พกกระบอกน้ำ และสมุดเล่มเล็กและดินสอสีแท่งน้อยติดไปด้วย เพื่อชวนลูกบันทึกสิ่งที่เห็นเบื้องหน้า เสร็จแล้วก็เตรียมพร้อมให้ประสาทสัมผัสของลูกเปิดทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อฟื้นฟูจิตใจและส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ด้วยการรับกลิ่น สัมผัสพื้นผิว อุณหภูมิ และสีสันที่หลากหลายของธรรมชาติ

‘ตาดู’ เริ่มต้นการอาบป่าด้วย ‘ตาดู’ มองทางเดินในป่า มองต้นไม้รอบด้าน มองท้องฟ้า และมองทุกสิ่งที่เห็น การมองของลูกคือ การบันทึกในใจ พ่อแม่ก็เช่นกัน ที่จะได้เห็นการเรียนรู้ พฤติกรรม และความเป็นตัวตนของลูกตามไปด้วย

‘เท้าย่อง’ ค่อยๆ เดินไปตามเส้นทางเล็กๆ ให้เท้าได้เหยียบใบไม้แห้งดังกรอบแกรบ สัมผัสหินที่ขรุขระ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่โหมดสร้างสมาธิและจดจ่อให้กับลูก เท้าน้อยๆ ของลูก ที่ก้าวเดินยังสัมพันธ์กับจังหวะการก้าวเดินของชีวิตพ่อแม่ ทุกก้าวที่ลูกก้าว คือ การเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ เท้าของเขาที่แข็งแรง จะนำทางให้ลูกเดินไปสู่หนทางที่มั่นคงและถูกต้อง

โอบกอดต้นไม้ และใช้ ‘มือแตะเบาๆ’ เปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสสายลม ใบไม้ ดิน หิน ที่อยู่ระหว่างทาง ตั้งคำถามปลายเปิด และบอกลูกเสมอว่า ไม่ควรนำสิ่งใดกลับบ้าน แต่สิ่งที่นำกลับบ้านได้คือ ความรู้สึกที่พบเจอระหว่างทาง รวมทั้งอ้อมกอดของพ่อแม่ ที่จะยังคงอยู่เคียงข้างลูกในทุกๆ การเติบโต

‘หูฟัง’ ชวนลูกนั่งลง ฟังเสียงธรรมชาติ แม้ว่าเด็กเล็กๆ มักจะไม่ชินกับการนั่งเฉยๆ แต่เราสามารถแนะนำลูกได้ด้วย การชี้ชวนลูกให้รู้ว่า สิ่งที่เขากำลังทำต่อไปนี้ เป็นการค้นพบโลกแห่งธรรมชาติที่มองไม่เห็น แต่จะเห็นได้ด้วยการตั้งใจฟังเพียง 15 นาที ช่วยให้ลูกเรียนรู้ธรรมชาติได้ด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน การฟังของลูก จะช่วยสะท้อนความคิดและเป็นกระจกให้พ่อแม่ ได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี เหมือนที่ธรรมชาติกำลังสอนลูก และสอนเราไปในตัว

สุดท้าย ‘สูดหายใจ’ ไม่ว่าจะในพื้นที่สีเขียว หรือออกทริปไปเดินป่าเส้นทางสั้นๆ ที่อุดมสมบูรณ์ อย่างเช่นที่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผืนป่าจะมีความเข้มข้นของออกซิเจนมากกว่าในเมือง จะได้กลิ่นธรรมชาติที่ไร้มลพิษ สมองก็จะปลอดโปร่ง เด็กๆ จะได้มีโอกาสระบายพลังงานด้านลบออกไป แล้วรับพลังงานบวกเข้ามาอย่างเต็มที่ พ่อแม่อย่างเราก็เช่นกัน การอาบป่ากับลูก ทำให้ได้เรียนรู้โลก ลูก และตัวเองได้อย่างน่าอัศจรรย์ที่มาchildhoodbynaturegreatergood.berkeley.eduscmp

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0