โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิวัฒนาการ ‘ซีรีส์วาย’ ไทย จาก รักในวัยเรียน สู่ความรักสุดแฟนตาซี

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 27 มี.ค. 2565 เวลา 02.46 น. • เผยแพร่ 27 มี.ค. 2565 เวลา 04.11 น.

ส่องประวัติ "ซีรีส์วาย" ตั้งแต่อดีตที่เป็นเพียงความรักในวัยเรียนของผู้ชายสองคน จนถึงปัจจุบันที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายไปยังแนวแฟนตาซี ที่ไม่ใช่ความรักระหว่างมนุษย์เท่านั้น เช่น “คุณหมีปาฏิหาริย์” ที่จะกลายเป็นละครวายหลังข่าวเรื่องแรก ของ “ช่อง 3”

ส่องประวัติซีรีส์วาย ซีรีส์ที่ได้รับความนิยมที่ได้รับความนิยมจนมีการสร้างเป็นจำนวนมาก ทั้งในทีวีดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้ยังคงมีซีรีส์วายให้ดูอย่างต่อเนื่อง ที่ไม่มีเพียงแค่เรื่องรัก ๆ ในวัยเรียนเพียงเท่านั้น แต่ได้พัฒนาให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยแนวแฟนตาซีและความรักต่างสายพันธุ์ เช่น “คุณหมีปาฏิหาริย์” ที่จะกลายเป็นละครวายหลังข่าวเรื่องแรก ของ “ช่อง 3

ซีรีส์วาย” (Boylove Series) คือ ซีรีส์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากการดัดแปลงนวนิยายวาย หรือแต่งขึ้นมาใหม่เพื่อเล่าถึงความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย ซึ่งส่วนใหญ่เนื้อเรื่องจะเน้นฉากจิ้น ความรักโรแมนติกของพระเอกและนายเอก (ตัวละครชายที่ทำหน้าที่เหมือนนางเอก) ซึ่งไม่สอดคล้องกับรูปแบบความสัมพันธ์และเรื่องราวชีวิตของกลุ่มเกย์ที่ต้องพบเจอในชีวิตจริง เพราะกลุ่มคนดูหลักของซีรีส์วายนี้ คือ ผู้หญิงที่เรียกว่า “สาววาย”  มีระยะเวลาออกอากาศ 60 นาทีต่อตอน มีจำนวน 8 – 13 ตอน ออกอากาศผ่านทางทีวีดิจิทัล หรือผ่านทางช่องทางออนไลน์ 

ในปี 2557 ซีรีส์วายเรื่องแรกได้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ใช้ชื่อ “Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ” ออกฉายทางช่อง 9 ถูกสร้างมาจากนวนิยายออนไลน์ในชื่อเดียวกัน นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นของนักเรียนมัธยมชาย 2 คนที่มีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน โดยที่ไม่แน่ใจในความรู้สึกของตนเอง 

Love Sick The Series รักวุ่น วัยรุ่นแสบ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนมีการสร้างซีซันต่อมา โดยเพิ่มตัวละครและเส้นเรื่องให้มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยความสำเร็จนี้เองทำให้ค่ายต่าง ๆ เริ่มหันมาผลิตซีรีส์วายเพื่อเรียกคนดู แต่ยังคงอยู่ในแค่วงจำกัด

จนกระทั่ง ในปี 2559 ที่ “SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง” ที่เป็นเรื่องราวของระบบการรับน้องที่เรียกว่าโซตัส ถูกสร้างมาจากนิยายชื่อดังที่มีคนที่ติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก SOTUS The Series ได้สร้างปรากฏการณ์ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้งที่ออกอากาศ ถูกพูดถึงในวงกว้าง คนดูเริ่มเปิดใจให้กับซีรีส์วาย ทำให้ซีรีส์วายสามารถเข้ามาสู่กระแสหลักได้

อีกทั้งยังช่วยฉุดให้วงการนิยายวายสามารถวางขายในร้านหนังสือ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนสมัยก่อน จนมีสำนักพิมพ์เป็นของตนเอง ทำให้ในปัจจุบันมีนวนิยายวายออกมาวางขายเป็นจำนวนมาก 

ขณะที่นักแสดงนำของเรื่องแจ้งเกิดอย่างสวยงาม พร้อมทั้งมีแฟนคลับชาวไทย และต่างประเทศทั่วเอเชีย และกลายเป็นนักแสดงแถวหน้าจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นจึงส่งผลให้ ผู้สร้างซีรีส์สามารถต่อยอดความสำเร็จนี้ เดินสายจัดงานแฟนมีทติ้งได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในเกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่นมาก ถึงแม้ว่าจีนจะแบนซีรีส์วายก็ตาม เห็นได้จากการที่บัตรแฟนมีทติ้งที่ประเทศจีนที่ขายหมดภายในเวลา 5 นาที 

นอกจากนี้ กลุ่มแฟนคลับ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมซื้อสินค้าต่างที่นักแสดงเป็นพรีเซ็นเตอร์ และทุ่มเงินทำโปรเจคต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนนักแสดงที่ชื่นชอบ เช่น การซื้อป้ายบิลบอร์ดทั้งในไทย และ บนตึกใน Time Square ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐ  ซื้อโฆษณาบนรถไฟฟ้าเพื่ออวยพรวันเกิดให้แก่นักแสดง ซื้อรถยนต์ ส่งอาหารให้กับนักแสดงเวลาไปออกงานต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Food Support ตลอดจนซื้อดวงดาวให้เป็นชื่อนักแสดงก็มีมาแล้ว

ด้วยเม็ดเงินและรายได้ที่เกิดขึ้นจากซีรีส์วาย ส่งผลให้ค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ต่าง ๆ มีการผลิตซีรีส์วาย ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ออกอากาศผ่านทีวีดิจิทัลและ ทางแพลตฟอร์มบริการสตรีมมิงออนไลน์ต่าง ๆ ในรูปแบบของ "Original Content" ที่หาชมที่อื่นไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “GMMTV” ที่ผลิตซีรีส์วายออกมาอย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จเกือบทุกเรื่อง ซึ่งให้กำเนิดคู่จิ้นออกมาเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน

จากผลการวิจัยเชิงประจักษ์ของหนังสือพิมพ์ นิสิตนักศึกษา ของนิสิตสาขาวิชาเอกและโทวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ปริมาณของซีรีส์วายมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 มีซีรีส์วายทั้งสิ้น 34 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีเพียง 5 เรื่องเท่านั้น

ซีรีส์วายและนิยายวายที่ออกมาหลังจาก SOTUS The Seriesเกือบทั้งหมดเป็นเรื่องรักในวัยมหาวิทยาลัย และมักจะมีตัวละครนำ อาจจะเป็นพระเอกหรือนายเอกคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคู่ เรียนอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “Together with Me อกหักมารักกับผม” (2560), “2Moons The Series เดือนเกี้ยวเดือน” (2560), “บังเอิญรัก Love by Chance” (2561), “ทฤษฎีจีบเธอ” (2562), “Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว” (2562), “TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดี ๆ” (2562), “En of Love รักวุ่น ๆ ของหนุ่มวิศวะ” (2563), “Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า” (2563), “เกียร์สีขาวกับกาวน์สีฝุ่น” (2563) “ต้นหนชลธี” (2563), “My Engineer มีช็อป มีเกียร์ มีเมียรึยังวะ” (2563) และ “แค่เพื่อนครับเพื่อน BAD BUDDY SERIES” (2564)

ขณะที่ยังมีซีรีส์วายบางส่วนที่ได้รับความนิยม เล่าเรื่องความรักในวัยมัธยม เช่น “Make It Right The Series รักออกเดิน” (2559) “อาตี๋ของผม” (2560) ส่วนซีรีส์วายที่เล่าเรื่องรักในวัยมหาวิทยาลัย ที่เล่าเรื่องในคณะอื่น ๆ ที่ไม่วิศวกรรมก็ยังมีที่ได้รับความนิยมอยู่บ้าง เช่น “ทฤษฎีจีบเธอ” (2562), “เพราะเราคู่กัน” (2563) และ “ปลาบนฟ้า” (2564) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ซีรีส์วายที่ประสบความสำเร็จในช่วงนี้มักจะมีการสร้างภาคต่อ เป็นวัยทำงาน ซึ่งช่วยให้มีปมขัดแย้งใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนมากจะเป็นเรื่องของการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนต่อสังคม เช่น SOTUS The Series พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง มีภาคต่อในชื่อ “SOTUS S the Series” (2561), Together with Me อกหักมารักกับผม มีภาคต่อในชื่อ “Together with Me the Next Chapter” (2561) 

ส่วน เพราะเราคู่กัน ซีรีส์วายระดับปรากฏการณ์ที่ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก นักแสดงมีแฟนคลับจากทั่วโลก ไม่เพียงแค่ในเอเชีย และยอดติดตามอินสตาแกรมของนักแสดงเพิ่มขึ้นหลักล้านในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ซึ่งเป็นจุดที่ไม่เลยมีเรื่องไหนทำได้ ได้สร้างภาพยนตร์ที่เล่าถึงชีวิตวัยทำงานของทั้งคู่ในชื่อ “เพราะเราคู่กัน The Movie” (2564) โดยนำเอาภาพจากเพราะเราคู่กัน และ “เพราะเรายังคู่กัน” ซีรีส์ภาคต่อพิเศษมาตัดต่อใหม่และใส่รวมในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นและประสบความสำเร็จเช่นกัน

ซีรีส์วายที่ได้รับความนิยม ที่พล็อตเล่าถึงวัยทำงาน โดยไม่ใช่ภาคต่อเรื่องแรก คือ “นับสิบจะจูบ” (2562) เป็นเรื่องของนักเขียนและนายแบบ ตามมาด้วย “พฤติการณ์ที่ตาย” (2563) เป็นซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่มีตัวเอกเป็นตำรวจและหมอนิติเวช ขณะที่ “นิทานพันดาว” (2564) เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ที่พบรักกับครูอาสาบนดอย ส่วน “นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series” (2565) เรื่องราวของผู้ชาย 2 คนที่หมั้นหมายกันแต่เด็ก และล่าสุดกับ “KinnPorsche The Series รักโคตรร้าย สุดท้ายโคตรรัก” (2565) ซีรีส์วายแนวแอคชัน เรื่องของมาเฟียกับบอร์ดี้การ์ด

จะเห็นได้ว่า ซีรีส์วายในยุคแรกตั้งแต่ 2557 จนถึงช่วงปี 2563 ซีรีส์วายมักจะมีแต่เรื่องราวรักโรแมนติกของวัยเรียน ทั้งวัยมัธยมที่อยู่โรงเรียนชายล้วน และวัยมหาวิทยาลัย มักจะอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากเป็นคณะที่มีความเป็นชายสูง พร้อมกับความเป็นชายในอุดมคติของตัวละครหลัก หรือ “ชายในฝัน” ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา ฐานะ ลักษณะนิสัย อีกทั้งขายเรือนร่างและฉากเข้าพระเข้านาย ขณะเดียวกันสร้างวาทกรรมว่า ซีรีส์วาย ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มชายรักชาย แต่เป็นเรื่องของผู้ชาย 2 คนที่รักกัน โดยสามารถรักผู้ชายคนนี้ได้คนเดียว ซึ่งเป็นการกดทับอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มชายรักชาย และสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้แก่สังคม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563 ที่มักหยิบนิยายวายที่ได้รับอิทธิพลจากความสำเร็จของ SOTUS The Series ทำให้ภาพรวมในวงการซีรีส์วายมีแต่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ แม้จะมีการสร้างซีรีส์วายเพิ่มมากขึ้น แต่เรื่องราวที่เล่ากลับไม่ได้เปลี่ยนไปไหน เหมือนเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น ขณะเดียวกันมีซีรีส์วายหลายเรื่องที่พยายามสอดแทรกอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มชายรักชาย สิ่งที่กลุ่มชายรักชายต้องเผชิญ ตลอดจนปัญหาสังคมไว้หลายเรื่อง เช่น “Until We Meet Again the Series ด้ายแดง” (2562) “NOT ME เขา…ไม่ใช่ผม” (2564)

 

เห็นได้ชัดในปี 2565 แม้ว่าจะยังมีซีรีส์วายที่นำเสนอเรื่องรักในวัยมัธยมและวัยมหาวิทยาลัยอยู่ แต่ก็มีซีรีส์วายแนวใหม่ ๆ เตรียมออกฉายอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแนวรักแฟนตาซี ความรักระหว่างคนกับโลกวิญญาณ เช่น “ผมกับผีในห้อง SOMETHING IN MY ROOM” (2565) เช่นเดียวกับ “เขามาเชงเม้งข้าง ๆ หลุมผมครับ” ที่เป็นซีรีส์วายเรื่องแรกที่พูดถึงเรื่องความรักของคนกับผี ออกฉายในปี 2562 ขณะที่ “คุณหมอครับ ผมมารับวิญญาณคนไข้” (2565) เป็นเรื่องราวความรักของหมอกับยมทูต

นอกจากนี้ยังมีความรักต่างเผ่าพันธุ์อย่าง “Meow Ears Up! น้องเหมียวในห้องผม” (2565) ความรักของคนกับชนเผ่าหู ที่แปลงร่างเป็นแมวได้ หรือ “คุณหมีปาฏิหาริย์” (2565) ละครวายหลังข่าวเรื่องแรกของ “ช่อง 3” ที่เป็นความรักของคนกับตุ๊กตาหมีที่แปลงร่างเป็นคน ส่วน “หอมกลิ่นความรัก” (2565) เป็นซีรีส์วายแนวย้อนยุคเรื่องแรก

ขณะที่ ผู้นำซีรีส์วายอย่าง GMMTV ปีนี้ได้เตรียมส่งซีรีส์วายแนวแฟนตาซีออกมาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น แนวสลับร่างอย่าง “พินัยกรรมกามเทพ Cupid's Last Wish (2565), แนวจักรวาลคู่ขนาน “Vice Versa รักสลับโลก” (2565), แนวย้อนเวลา ใน “บทกวีของปีแสง” (2565), แนวคำสาป เรื่องลึกลับอย่าง “คาธ” (2565), แนวแอคชันไล่ล่า “เพื่อนายแค่หนึ่งเดียว” (2565)

แม้ว่าซีรีส์วายจะถูกผลิตออกมาจำนวนมาก มีความหลากหลายยิ่งขึ้น และแจ้งเกิดนักแสดงหลายต่อหลายคน จนกลายเป็นบันไดก้าวแรกของการเข้าสู่วงการบันเทิง แต่ไม่ได้หมายความว่า ซีรีส์วายจะสะท้อน หรือเป็นภาพตัวแทนของกลุ่มชายรักชายทั้งหมดในสังคม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์วายช่วยทำให้ความรักของกลุ่มชายรักชายกลายเป็นเรื่องปรกติ แม้จะยังมีเงื่อนไขในการยอมรับกลุ่มชายรักชายอยู่บ้างก็ตาม

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค. 2565) 

กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น