วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดโครงการบริการวิชาการแก่ประชาชนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๑ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เรื่อง “การรู้เท่าทันโรคเรื้อรัง และป้องกันโรคอุบัติใหม่ในผู้สูงอายุ” ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ๖ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
วันพุธที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำกลุ่มผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข ๕๓ ทุ่งสองห้อง จัดกิจกรรม “การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการรู้เท่าทันโรคเรื้อรังและป้องกันโรคอุบัติใหม่ในผู้สูงอายุ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๑ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความอุดมสมบูรณ์ สงบร่มเย็นของประเทศไทยและหลอมรวมจิตใจคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียว ด้วยทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยที่จะสืบสานรักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริ รวมทั้งพระราชกรณียกิจในพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขต่ออาณาประชาราษฎร์ตลอดมา
โดยกิจกรรมที่จัดในครั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพ กล่าวคำอาศิรวาทราชสดุดีหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ และทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อประชาชน ภายใต้ชื่อโครงการ “การรู้เท่าทันโรคเรื้อรัง และป้องกันโรคอุบัติใหม่ในผู้สูงอายุ” และเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมอันประกอบด้วยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) และผู้นำชุมชนด้านสุขภาพ ในเขตพื้นที่ทุ่งสองห้อง กรุงเทพมหานคร มีความรู้ ความเข้าใจ เกิดความตระหนัก สามารถนำไปใช้ในการปรับพฤติกรรม และถ่ายทอดสู่ประชาชนอื่นๆ ในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม การจัดประชุมครั้งนี้จึงทำในรูปแบบ “การประชุมเชิงปฏิบัติการ” ประกอบด้วยการบรรยาย สาธิต และให้ฝึกปฏิบัติจริงในเรื่องการเลือกอาหารเพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง การออกกำลังกายเพื่อชะลอความเสื่อม การวางแผนส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุโรคเรื้อรัง การเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เช่น Covid-19 เป็นต้น
วิทยากรในการฝึกอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย คณาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี และอาจารย์จากคณะวิชาภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งวิทยากรทุกท่านเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และป้องกันโรคระบาดในชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมจำนวน ๑๐๐ คน
การจัดกิจกรรมบริการวิชาการให้ประชาชน ถือเป็นภารกิจหนึ่งของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี สอดคล้องกับปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”
ความเห็น 0