โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เศรษฐกิจกัมพูชา กำลังมีปัญหาระดับวิกฤต

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 08 ส.ค. 2566 เวลา 08.47 น. • เผยแพร่ 08 ส.ค. 2566 เวลา 08.46 น.
000_1P075Q-2048x1366

มองผิวเผินจากภายนอก กัมพูชายังคงเป็นกัมพูชา ประเทศที่มีเสถียรภาพทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่น้อย สะท้อนออกมาให้เห็นผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) พรรครัฐบาลสามารถครองเสียงข้างมาก “เด็ดขาด” ในสภาผู้แทนราษฎรได้อีกคำรบ ไม่ว่าจะด้วยกรรมวิธีใดก็ตาม

ในทางเศรษฐกิจ การประเมินขององค์กรระดับโลกไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวในระดับสูงจากภาวะวิกฤตจากโควิด-19 ที่ 5.5 เปอร์เซ็นต์ และ 5.8 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

แต่คนในประเทศกลับรู้สึกแตกต่างออกไป เศรษฐกิจของประเทศไม่เพียงไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วตามที่คาดหวังเท่านั้น

แต่ยังเต็มไปด้วยบรรยากาศอึมครึมด้วยเหตุปัจจัยหลากหลายประการบรรจบกัน

เริ่มจากปัญหาในธุรกิจการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้สูงคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งประเทศ (สถิติเมื่อปี 2017) แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การท่องเที่ยวกัมพูชาก่อให้เกิดรายได้ลดลงถึง 33 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019

ถัดมาคือภาคธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่ใหญ่โตพอๆ กันในกัมพูชา คิดเป็นอีก 1 ใน 3 ของจีดีพี และเคยเป็นแหล่งจ้างงานแรงงานมากถึง 750,000 คนเมื่อปีที่แล้ว ก็ตกอยู่ในสภาวะยุ่งยากต้องดิ้นรนเช่นเดียวกัน สถิติจนถึงเดือนมีนาคมปีนี้แสดงให้เห็นว่า มีแรงงานจากธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป “ตกงาน” แล้วมากถึง 50,000 คน

แต่ที่เป็นปัญหามากที่สุดและสะท้อนทุกอย่างออกมาให้เห็นชัดที่สุดคือภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการก่อสร้าง ที่เป็นภาคธุรกิจสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของกัมพูชารุ่งเรือง ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ปัญหานี้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่เศรษฐี มหาเศรษฐี เรื่อยไปจนถึงบรรดาคนยากจนที่สุด และส่งผลให้บรรดาธนาคารต้องหนักอกหนักใจกับภาระหนี้ค้างชำระที่ถืออยู่ในมือ เพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อใดจะผันแปรกลายไปเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

เอ็นพีแอลในภาคอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการยึดทรัพย์ ขับไล่ผู้ซื้อที่ค้างชำระ ไม่ผ่อนส่งตามกำหนดเกิดขึ้นเป็นระลอก ขยายตัวออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ

จนถึงกับทำให้นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ต้องประกาศเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ห้ามบริษัทหรือเจ้าของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว ซึ่งในกัมพูชาเรียกรวมๆ กันว่า “โบเรย์” ยึดทรัพย์สินและขับไล่ผู้ซื้อออกจากที่อยู่อาศัยที่เช่าซื้อ

สถานการณ์การยึดทรัพย์สินเพราะหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ซึ่งกำลังลุกลามขยายตัวไปทั่วในทุกระดับของสังคมในกัมพูชา

ในรายงานของธนาคารโลกระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนในกัมพูชาในปี 2019 อยู่ที่ 65 เปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าสูงมาก สำหรับประเทศที่อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาในระดับเดียวกันกับกัมพูชา เพราะหมายความว่า รายได้ทั้งหมดของครัวเรือนจำเป็นต้องนำไปชำระหนี้ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ หลงเหลือสำหรับใช้จ่ายเพียงแค่ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงพอ

ธนาคารโลกระบุด้วยว่า หนี้ครัวเรือนในกัมพูชาไม่ได้ถูกนำไปใช้ในทางที่จะก่อให้เกิดรายได้อีกด้วย ผลลัพธ์ก็คือสภาพน่าวิตกว่า อาจนำไปสู่ “วัฏจักรกับดักหนี้” บีบบังคับให้ต้องกู้ยืมต่อเนื่องวนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด

ในเวลาเดียวกัน ปริมาณหนี้ที่ต้องชำระในกัมพูชา ก็พุ่งพรวดจากระดับ 9.6 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เมื่อปี 2009 กลายเป็นสูงถึง 180 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เมื่อเดือนมกราคมปีนี้

รัฐบาลกัมพูชาไม่เพียงเรียกร้องให้บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์งดใช้มาตรการยึดทรัพย์แทนการชำระหนี้เท่านั้น ยังร้องขอให้บริษัทเปิดทางให้ผู้ซื้อสามารถ “รีไฟแนนซ์” หนี้ของตนเองได้อีกด้วย โดยประกาศว่าจะใช้ “มาตรการเข้ม” จัดการบริษัทที่ฝ่าฝืน ยังคงยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้

ปัญหาก็คือ ไม่เพียงแต่ผู้ซื้อเท่านั้นที่มีปัญหา แม้แต่บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นก็มีปัญหาทางการเงินอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน

ทอม โอซัลลิแวน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจ้าของเว็บไซต์สำหรับจดทะเบียนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ระบุว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชาก่อนหน้าวิกฤตโควิดนั้นร้อนแรงระดับ “ซูเปอร์ฮอต” ชนิดที่ว่า ไม่ว่าใครจะสร้างอะไรออกมาเป็นอันขายได้หมด

ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะ “ฟองสบู่” ดังกล่าวขึ้นก็คือบรรดาผู้ซื้อชาวจีน โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีนที่ขนเงินหยวนเข้ามาเพื่อ “เล่นแร่แปรธาตุ” ในกัมพูชา

ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชาแตกดังโพละทันตา เมื่อเกิด 2 เหตุการณ์ขึ้นต่อเนื่องกัน หนึ่งคือการประกาศ “ห้ามดำเนินกิจการกาสิโนออนไลน์” ของฮุน เซน เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2019

ตามข้อมูลของธนาคารโลก คำประกาศดังกล่าวส่งผลให้โครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการอนุมัติแล้วในช่วงปี 2019-2020 ในสีหนุวิลล์ เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศรวมมูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์ หายวับไปในชั่วข้ามคืน

ถัดมาจากคำประกาศดังกล่าวไม่นาน วิกฤตโควิดก็ถาโถมเข้ามา ร้ายแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ผลก็คือ กระทรวงกิจการบริหารจัดการที่ดินรายงานว่า โครงการก่อสร้างที่ผ่านความเห็นชอบในปี 2022 ลดลงเกือบครึ่งเมื่อเทียบกับปี 2021 คือจาก 5,300 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 2,970 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

เมื่อเงินลงทุนก็หดหาย ผู้ซื้อก็กลายเป็นปัญหา ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ บริษัทผู้พัฒนาโครงการที่กู้หนี้ยืมสินมาเพื่อการนี้เริ่ม “ทิ้งงาน” กลางคัน แล้วก็เกือบร้อยทั้งร้อยจะ “เบี้ยวหนี้” ตามมา

เหตุทำนองนี้ส่งผลสะเทือนไปทั้งกระบวนการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่สุดปลายด้านหนึ่งซึ่งคือธนาคารผู้ปล่อยกู้ ไปจนถึงปลายสุดอีกด้านหนึ่งคือแรงงานตามสัญญาจ้างในโรงงานผลิตอิฐดินเผา ซึ่งแต่เดิมเคยถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส กลับกลายเป็น “ว่างงาน” ไปในไม่ช้าไม่นาน

แรงงานเหล่านี้เกือบทั้งหมดอพยพมาจากย่านชนบท เป้าหมายไม่เพียงเพื่อเลี้ยงตัวเองแต่ยังเป็นเพราะเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินของครอบครัวในชนบทที่ส่วนใหญ่แล้วกู้ยืมเงินผ่านระบบไมโครไฟแนนซ์

ประเมินกันว่าจำนวนผู้ที่เป็นหนี้ในระบบไมโครไฟแนนซ์ในกัมพูชามีทั้งสิ้นราว 2.1 ล้านคน เฉลี่ยแล้วแต่ละคนมีหนี้ที่ต้องชำระติดตัวไม่น้อยกว่า 4,476 ดอลลาร์ หรือกว่า 150,000 บาท

นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมวิกฤตที่เริ่มต้นในตัวเมืองถึงลามออกสู่ชนบทในต่างจังหวัด และทำให้ตัวเลขของหนี้เสียจากการรวบรวมของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 700 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เป็น 1,300 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2022

คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณหนี้ทั้งหมดของประเทศ

กลายเป็นการบ้าน “มหึมา” สำหรับ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” อย่าง ฮุน มาเนต ที่ให้บังเอิญสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ไว้คิดหาทางออกที่เหมาะสม

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น