โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“พระประธานในพระอุโบสถ” ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 25 มี.ค. เวลา 03.16 น. • เผยแพร่ 25 มี.ค. เวลา 03.16 น.
coverphoto_emeraldbuddha
รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชศรัทธาในพุทธคุณพระแก้วมรกต
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พระประธานในพระอุโบสถตามพระราชนิยมของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและก่อนหน้านั้น นิยมสร้างเป็น “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” แต่เมื่อเข้าสู่กรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ความนิยมดังกล่าวนั้นเปลี่ยนไป แล้วพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

พระประธานในพระอุโบสถ ตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1

ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เล่าในผลงาน “การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑” (สำนักพิมพ์มติชน) ตอนหนึ่งว่า

จากการศึกษาในรายละเอียดเฉพาะเจาะจงไปในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยเฉพาะในวัดที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหรือบูรณปฏิสังขรณ์หลายแห่ง พบว่า พระประธานในพระอุโบสถมีแนวโน้มเป็น “พระพุทธรูปปางสมาธิ”

ชาตรียกข้อมูลจากพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่ระบุว่า วัดที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาหรือโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เองมีทั้งสิ้น 12 วัด

ในจำนวนนี้มีถึง 8 วัด ที่พระประธานเป็นพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 คือ

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระประธาน คือ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) เป็นพระพุทธรูปทำจากหินสีเขียว ปางสมาธิ ซึ่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ เมื่อสถาปนาวัดแล้วก็ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระประธาน คือ พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระพุทธรูปหล่อโลหะปางสมาธิ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากพระอุโบสถวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)

วัดราชบุรณะ เนื่องจากมีการสร้างพระอุโบสถและพระประธานขึ้นใหม่ เพราะถูกทำลายเสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาตรีจึงค้นข้อมูลและพบว่า ใน “แถลงการณ์คณะสงฆ์” พ.ศ. 2470 ซึ่งบันทึกถาวรวัตถุภายในวัดเอาไว้ ปรากฏเนื้อหาดังนี้ “…พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปหล่อปิดทอง มีพระอาการนั่งสมาธิ หน้าตัก ๕ ศอก ๗ นิ้ว…”

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วัดสระเกศ พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นขึ้นใหม่ โดยหุ้มพระประธานองค์เดิมเอาไว้

วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสวิหาร) เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ มีพระประธานเป็นปางสมาธิ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อไหร่ แต่อาจอยู่ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอีกวัดที่พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปตามพระราชนิยมรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์

วัดยานนาวา ไม่มีประวัติระบุการก่อสร้างพระพุทธรูปประธานที่ชัดเจน มีเพียงหลักฐานที่ระบุว่า พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระอุโบสถขึ้น ซึ่งหากคิดแบบทั่วไป พระประธานก็น่าจะมีตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว

วัดคูหาสวรรค์ พระประธาน คือ พระพุทธเทวนฤมิตพิชิตมาร รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่แทนที่พระประธานองค์เดิม ที่ทรงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพน

อีก 3 วัดในจำนวน 12 วัด ที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาหรือโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยพระองค์เอง มีพระประธานในพระอุโบสถเป็น “พระพุทธรูปปางมารวิชัย” ได้แก่ วัดสุวรรณาราม, วัดอรุณราชวราราม และ วัดสุวรรณดาราราม

ส่วนอีก 1 วัด คือ วัดราชสิทธาราม ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นปางอะไร เนื่องจากพระประธานในปัจจุบัน คือ พระพุทธจุฬารักษ์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) โดยรัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระเศียร และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงปั้นส่วนพระองค์

ใครไปวัดเหล่านี้แล้วลองสังเกตกันได้เลย

อ่านเพิ่มเติม :

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองในสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ: มติชน, 2558.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “พระประธานในพระอุโบสถ” ตามพระราชนิยมในรัชกาลที่ 1 คือปางอะไร?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com