เบอร์ลิน, 20 เม.ย. (ซินหัว) — สถาบันเศรษฐกิจเยอรมนีเตือนว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจลดทอนผลผลิตทางเศรษฐกิจของเยอรมนีมากถึง 2.9 แสนล้านยูโร (ราว 11 ล้านล้านบาท) ภายใน 4 ปี โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปอาจลดลงร้อยละ 1.6 ต่อปีภายในปี 2028
รายงานของสถาบันฯ วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการ “ภาษีศุลกากรตอบโต้” ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ซึ่งจะจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมร้อยละ 20 กับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) โดยอ้างอิงเหตุผลการขาดดุลการค้าปริมาณมาก
ความเสียหายโดยตรงจากมาตรการนี้อาจสูงถึง 2 แสนล้านยูโร (ราว 7.58 ล้านล้านบาท) หรือร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อปีภายในปี 2028 และหากรวมการตอบโต้ของคู่ค้า ความเสียหายทั้งหมดอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2.9 แสนล้านยูโร ส่วนทั้งสหภาพยุโรปอาจเผชิญความเสียหายสะสมสูงถึง 1.1 ล้านล้านยูโร (ราว 41.71 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2028
สถาบันฯ เตือนว่าทรัมป์กำลังจุดชนวนสงครามการค้าโลกที่ทุกฝ่ายจะเจ็บช้ำกันทั้งหมด และแม้สหรัฐฯ จะระงับการจัดเก็บภาษีศุลกากรเป็นเวลา 90 วัน แต่ความไม่แน่นอนที่ตามมาได้ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนทั่วโลกอย่างร้ายแรงแล้ว
อนึ่ง เยอรมนีพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง และมียอดการค้ากับสหรัฐฯ เกินดุลติดต่อกัน 33 ปี โดยการเกินดุลในปี 2024 สูงถึง 6.98 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.65 ล้านล้านบาท) ขณะข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของเยอรมนีระบุว่าการส่งออกสู่สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 10.4 ของการส่งออกทั้งหมดของเยอรมนีในปี 2024 ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2002
สถาบันฯ กระตุ้นสหภาพยุโรปตอบโต้ด้วยความเด็ดขาด โดยการตอบโต้อาจขยายนอกเหนือจากสินค้าไปยังบริษัทดิจิทัลและภาคบริการอื่นๆ ของสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ มียอดการค้าการบริการกับสหภาพยุโรปเกินดุลอย่างมาก ทำให้มาตรการเหล่านั้นมีประสิทธิภาพมากกว่ามุ่งเป้าไปยังการค้าสินค้าอย่างเดียว