Where2put Ur Money: “การหาได้” นับเป็นเรื่องสำคัญด้านหนึ่งในเรื่อง “การบริหารการเงินส่วนบุคคล” ทั้งนี้ก็เพราะว่า หากไม่ทำงาน เอาแต่งอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ ก็ย่อมที่จะไม่มีรายได้ เมื่อไม่มีรายได้ ก็จะไม่มีเงินออม และก็คงไม่มีเงินไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า และบริการ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามที่ต้องการได้
ทั้งนี้ รายได้จากการทำงานอาจจะมาจากการประกอบ “อาชีพหลัก” หรือ “งานประจำ” เช่น เป็นนักคณิตศาสตร์ เป็นพนักงานประจำทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องประดับต่างๆ เพื่อนำไปขายต่อ หรือฝากขาย เป็นต้น หรืออาจมาจากการประกอบ “อาชีพเสริม” นอกเหนือจากงานประจำ เช่น รับจ้างสอนพิเศษ รับทำนายดวงชะตา รับจ้างร้องเพลงในงานรื่นเริงต่างๆ เป็นต้น
“อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มต้นทำงานประกอบอาชีพใดๆ ก็คือ ให้ลองถามตัวเองดูเสียก่อนว่า ตัวเองนั้นทำอะไรเป็นบ้าง มีความถนัด มีทักษะ หรือความชำนาญในด้านใดบ้าง สามารถทำสิ่งใดได้บ้าง เพื่อที่จะได้รู้คร่าวๆ ว่า ตัวเองสามารถที่จะหารายได้จากทางใดได้บ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น หากมีความสามารถในการเย็บปักถักร้อย ก็อาจจะเลือกทำอาชีพหลักทางด้านงานฝีมือ โดยถักโครเชท์ และนิตติ้งเพื่อนำไปขายเอง หรือฝากผู้อื่นขายให้ก็ได้ หรือหากมีน้ำเสียงที่ไพเราะเสนาะหู ก็อาจไปรับจ้างร้องเพลงในงานรื่นเริงต่างๆ เป็นอาชีพเสริมก็ย่อมได้”
เมื่อรู้ว่า ตนเองมีความถนัดในด้านใดแล้ว ก็ให้ลองถามตัวเองต่อไปว่า มีอะไรที่สนใจเป็นพิเศษอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะได้รู้คร่าวๆ ถึงสิ่งที่อยากจะทำ ทั้งนี้ก็เพราะว่า หากต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ หรือไม่อยากจะทำ ก็ย่อมจะไม่มีความสุขกับการทำงานนั้นๆ และสุดท้ายก็จะส่งผลให้ทำงานนั้นได้ไม่ดี หรือทำไปแล้ว ก็ทำได้ไม่นาน
หลังจากนั้น ให้ลองทำการจับคู่ระหว่าง “สิ่งที่ตนเองอยากจะทำ” กับ “สิ่งที่สามารถทำได้” เพื่อที่จะได้รู้ถึงความเป็นไปได้ในประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองนั่นเอง อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่มักจะพบว่า ในการจับคู่คำตอบดังกล่าวข้างต้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ เนื่องจากสิ่งที่ตนเองอยากจะทำอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ในขณะนี้ หรืออาจไม่ทางเลือก และต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากจะทำ ยกตัวอย่างเช่น ต้องการเป็นนักร้องมืออาชีพ แต่ยังขาดทักษะในการร้องเพลง หรือทางบ้านอาจจะไม่ให้การสนับสนุน เพราะอยากให้ช่วยงานกิจการที่บ้านแทน หากเป็นเช่นนี้ ก็ขอแนะนำว่า…
ให้ทำในสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้อย่างเต็มที่ไปก่อน ในขณะเดียวกัน ก็จงหมั่นศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเข้ารับการฝึกอบรมสัมมนาต่างๆ ในสิ่งที่อยากทำควบคู่กันไปด้วย หรืออาจเลือกทำเป็นอาชีพเสริมไปก่อนเพื่อพัฒนาทักษะ และเพิ่มพูนความชำนาญในสิ่งที่อยากทำนั้นๆ ให้ดียิ่งๆ ขึ้น อย่าลืมว่า “ตราบใดที่ยังหางานที่ตนรักไม่ได้ ก็จงรักงานที่กำลังทำอยู่” เพราะถ้าไม่มีงาน ก็ไม่มีรายได้ และอาจทำให้การดำรงชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างอยากลำบากแน่ๆ
อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปจนกว่าจะได้ลงมือทำงานนั้นจริงๆ บางครั้งสิ่งที่อยากทำอาจจะไม่ใช่งานที่เหมาะสมกับตัวตนก็เป็นได้ หลายๆ คนเพียรพยายามที่จะนำพาตัวเองเข้าไปสู่อาชีพ หรืองานที่ตนเองชื่นชอบ แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ แล้ว กลับค้นพบว่า งานดังกล่าวไม่ได้เป็นอย่างที่ตนเองคาดหวังเอาไว้
“ลำดับต่อไป ก็คือ พิจารณาว่า ‘มีโอกาส’หรือช่องทางใดบ้างที่เปิดกว้าง และสามารถช่วยให้ตนเองมีอาชีพการงานตามที่ต้องการได้ แน่นอนว่า นอกเหนือจากการไขว้คว้าโอกาสหางานด้วยตนเองแล้ว ทุกวันนี้ยังมีสมาคม และมูลนิธิต่างๆ ที่คอยหยิบยื่นโอกาส และความช่วยเหลือในเรื่องการฝึกอาชีพ ตลอดจนการจัดหางานให้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรคาดหวังรอคอยแต่โอกาส หรือความช่วยเหลือที่ผู้อื่นจะหยิบยื่นให้ ต้องเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองด้วย เพราะคงไม่มีใครที่จะคอยช่วยเหลือได้ตลอดเวลาในทุกๆ เรื่อง และที่สำคัญ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสที่ไขว้คว้ามาด้วยตนเอง หรือเป็นโอกาสที่ผู้อื่นหยิบยื่นให้ ก็ควรที่จะคว้าโอกาสนั้นเอาไว้ และลงมือทำอย่างเต็มที่.
ประเด็นสุดท้าย ก็คือ ไม่ว่าจะทำงานประกอบวิชาชีพใดๆ ก็ตาม “ใจต้องสู้” ต้องมีความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และรักในงานที่ตนเองทำ ชีวิตการทำงานจึงจะมีความสุขได้ และเมื่อมี “ความสุข” กับการทำงาน ก็จะมีความก้าวหน้าในอาชีพเร็วขึ้น “รายได้” ก็จะเพิ่มขึ้นในที่สุดนั่นเอง