สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล สรรพสกนธ์กัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ทรงเป็น “ลูก” ชั้นเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้าย ที่สิ้นพระชนม์ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา
กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ที่ชาววังขานพระนามอย่างลำลองว่า “สมเด็จหญิงเล็ก” ทรงเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ประสูติแต่ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2416
แรกประสูติ พระองค์ทรงดำรงพระยศ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเยาวมาลย์นฤมล ต่อมาได้มีการเฉลิมพระยศขึ้นเป็นลำดับ
เมื่อทรงเจริญพระชันษา พระองค์มิทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงเท่าใดนัก เนื่องด้วยประชวรพระโรควัณโรค ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงห่วงใยพระราชธิดาพระองค์นี้อย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม พระอาการประชวรถือว่าค่อนข้างหนัก ดังปรากฏในพระราชโทรเลข ที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึง เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งขณะนั้นประทับ ณ เชียงใหม่ ว่า
“กำลังรวบรวมบทละครที่ออกใหม่จะส่งขึ้นไปให้ น่ากลัวจะไม่ได้ดูอีกนาน เพราะหญิงเล็กเยาวมาลเห็นจะจวนแล้ว องค์อัจฉรก็โซมลงไปมาก บวมแล้วทั้งสองคน”
“องค์อัจฉร” ในพระราชโทรเลข คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 อีกพระองค์หนึ่ง ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ซึ่งพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญาก็ประชวรด้วยพระโรควัณโรคเช่นกัน
รัชกาลที่ 5 ยังทรงมีพระราชโทรเลขถึงเจ้าดารารัศมีอีกฉบับ ความว่า
“องค์อัจฉรนั้นกลับขึ้นมาจากปากน้ำ อยู่บ้านรพี (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระอนุชาในพระองค์เจ้าอัจฉรพรรณีรัชกัญญา-ผู้เขียนบทความ) อาการโทรมลงไปมาก นอนราบลงไปไม่ได้ทีเดียว แต่แกรักษาตัวแกเก่งไม่มีใครสู้ กินยาเกือบทุกชั่วโมง อาหารก็อุตส่าห์ทำเองพยายามมาก บวมแล้วยุบเล่า เห็นยังจะไปได้อีกหลายเดือน แต่หญิงเล็กเยาวมาลนั้นไม่มีฟื้นเลย แกชักให้เร็วที่ธาตุเอาไว้ไม่อยู่ อย่างไรๆ ก็คงจะตามกันไปในสองคนนี้”
กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี ทรงเผชิญกับความเจ็บป่วย กระทั่งสิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรค เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2452 สิริพระชันษา 37 ปี
เหตุการณ์ตอนสิ้นพระชนม์ ปรากฏในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 26 วันที่ 11 กรกฎาคม ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ความว่า
“ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลยนฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี ทรงประชวรพระวรรณโรคภายในมาช้านาน แพทย์หลวงประกอบพระโอสถถวาย พระอาการทรงบ้าง ทรุดบ้าง ไม่ใคร่จะมีเวลาทรงสบาย ภายหลังพระโรคกำเริบกล้า ยากที่แพทย์จะเยียวยาประกอบพระโอสถถวาย ให้พระโรคคืนคลายดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกได้
ครั้น ณ วันเสาร์ที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘ เวลาบ่ายโมงหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ อันได้ออกพระนามแล้ว สิ้นพระชนม์ที่ตำหนักในพระราชวังสวนดุสิต พระชนมพรรษานับโดยสุริยคติกาลได้ ๓๖ พรรษา กับ ๒๘ วัน เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงษานุวงษ์ พร้อมทั้งพระประยูรญาติทรงพระอาไลยเศร้าโศก ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้เปนอันมาก จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เตรียมการที่จะพระราชทานน้ำสรงพระศพ แลเชิญพระศพไปประดิษฐาน ณ หอธรรมสังเวช”
หลังจากสมเด็จหญิงเล็กสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานเงินอันเป็นสมบัติในพระราชธิดาพระองค์นี้ สร้างเป็นตึกเรียนหลังหนึ่งของ “โรงเรียนเทพศิรินทร์” ซึ่งสร้างเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และพระราชทานนามว่า “ตึกเยาวมาลย์อุทิศ”
การนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามาลินีนภดารา ศิรินิภาพรรณวดี กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงบริจาคทรัพย์ซื้อครุภัณฑ์ประจำตึกนี้ด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล สรรพสกนธ์กัลยาณี กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดี นับเป็นลูกชั้นเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้ายในรัชกาลที่ 5 ที่สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา ก่อนที่รัชกาลที่ 5 จะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำแหน่งพระมเหสีเทวีในรัชกาลที่ 5 มีทั้งหมด 5 ตำแหน่ง
- 3 พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5 จากราชสกุลลดาวัลย์
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ 2 คำนี้ใช้อย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้าและสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ: มติชน, 2546.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล “ลูกชั้นเจ้าฟ้า” องค์สุดท้าย ที่สิ้นพระชนม์ก่อน ร.5
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com