ยุคของการดูหนังฟังเพลงออนไลน์ที่เคยเริ่มต้นด้วยความเสรี ที่มาพร้อมกับราคา Subscription แบบเบา ๆ หรือบางครั้งมีมาให้ใช้งานแบบฟรี ๆ ก็มี แต่ในยุคนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เมื่อแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งทั้งหลายเริ่มปรับมาแบ่งชั้นผู้ใช้งานตามระดับราคา พร้อมวางเกมใหม่ที่เรียกว่า “Premiumization” ถ้าอยากได้คุณภาพที่ดีกว่า สิทธิพิเศษมากกว่า และคอนเทนต์ที่มากกว่า ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น
แม้หลายคนจะยังยึดติดกับภาพเดิมของ Netflix, Spotify หรือ Disney+ ในฐานะบริการดูคอนเทนต์ราคาถูก ทว่าความจริงในปี 2024 กำลังชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคกำลังเข้าสู่ยุค “ความเหลื่อมล้ำแห่งการสตรีม” อย่างเต็มตัว
จาก Streaming Wars สู่ Premium Tiers ใครจ่ายมากได้ดูมาก
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามสตรีมมิ่ง (Streaming Wars) บริษัทต่าง ๆ ทุ่มทุนเพื่อแย่งชิงผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการดึงคอนเทนต์ดัง เสริมฟีเจอร์ใหม่ หรือกดราคาให้ต่ำเพื่อเอาชนะคู่แข่ง แต่ในปี 2024 ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยน เมื่อ Netflix, Disney+ และ Spotify เริ่มกลับมาทำกำไร และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ จนเป็นที่มาของการ “เพิ่มราคา” พร้อมแบ่งสิทธิประโยชน์ตามแพ็กเกจ
โดย Netflix ได้มีการขยับราคาขึ้นอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่ Spotify เริ่มวางแผนเปิดแพ็กเกจ “Music Pro” และในด้านของ Amazon Music ก็ขึ้นราคาพร้อมใส่คอนเทนต์ Exclusive มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าบางแพลตฟอร์มจะยังเปิดให้ใช้บริการในราคาถูก แต่คุณภาพที่ได้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างเช่น ผู้ใช้งาน Netflix แบบมีโฆษณาอาจเข้าไม่ถึงคอนเทนต์บางเรื่อง (ด้วยเหตุผลที่ว่าติดลิขสิทธิ์)
นอกจากนี้ ทางฝั่งของ Max เองก็เริ่มถอด CNN Max และ Bleacher Report ออกจากแพ็กเกจพื้นฐาน นั่นหมายความว่า คนที่จ่ายน้อยกำลังถูกจำกัดการเข้าถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ
ณ จุดนี้สิ่งที่น่าสนใจคือ แพลตฟอร์มเหล่านี้ที่ในอดีตเคยยกตัวเองว่าเป็น “ผู้ปฏิวัติโลกสื่อจากทีวีเคเบิล” แต่วันนี้กลับใช้โมเดลรายได้แบบเดียวกัน นั่นก็คือ การผสมผสานระหว่างค่าสมาชิกและรายได้จากโฆษณา
นักวิเคราะห์มองว่า บริการเหล่านี้เริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยน จากการเน้นขยายฐานผู้ใช้ มาสู่การสร้างกำไรอย่างยั่งยืน
แบ่งระดับราคา อาจไม่แย่เสมอไป?
แม้จะดูเหมือนการแบ่งแยกผู้ใช้งาน แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็ชี้ว่า การตั้งราคาหลายระดับ (Tiered Pricing) คือการให้สิทธิเลือกกับผู้ใช้ ใครอยากจ่ายถูกก็ยังดูได้ในระดับหนึ่ง ส่วนคนที่อยากได้มากกว่านั้น ก็ต้องยอมจ่ายเพิ่มเอง
Z. John Zhang จาก Wharton School มองว่า “นี่คือการสร้างความยืดหยุ่นมากกว่าการกีดกัน เพราะทุกคนยังมีทางเลือกตามกำลังจ่ายของตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม แม้โมเดลใหม่นี้จะดูสมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจ แต่ในมุมผู้บริโภคก็เริ่มรู้สึกว่าต้องควักเงินจ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจะได้รับประสบการณ์เท่าเดิมที่เคยได้ในอดีต
แม้หลายคนยังยอมดูโฆษณาเพื่อประหยัดเงินค่าบริการ Netflix หรือ Hulu แต่หากคอนเทนต์เด็ด ๆ ถูกเก็บไว้หลัง Paywall มากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามสำคัญคือ “ผู้ใช้งานที่จ่ายถูกจะยอมทนได้นานแค่ไหน?”
ที่มา: Business Insider
ติดตามเพจ Facebook: Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ยุค “สตรีมมิ่ง” กำลังเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มแบ่งชั้นราคา ปั้นเกม “Premiumization” จ่ายมากได้มาก
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath