โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

สำนักงานประกันสังคม ระบุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 หากขาดส่งเงินสมทบ ยังสามารถกลับมาเริ่มจ่ายอย่างต่อเนื่องได้

สวพ.FM91

อัพเดต 27 มิ.ย. 2565 เวลา 18.02 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2565 เวลา 18.02 น.
สำนักงานประกันสังคม ระบุ ผู้ประกันตนมาตรา 40 หากขาดส่งเงินสมทบ ยังสามารถกลับมาเริ่มจ่ายอย่างต่อเนื่องได้

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่าปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 24 ล้านคน ในจำนวนนี้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 แล้ว 10.78 ล้านคน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นกรณีขาดรายได้ ทุพพลภาพ เสียชีวิต บำเหน็จชราภาพและสงเคราะห์บุตร

ส่วนการรักษาสิทธิความคุ้มครอง ไม่ใช่สมัครแล้วจ่ายเงินสมทบเพียงเดือนเดียวจะเกิดสิทธิ์ แต่ต้องจ่ายเงินสมทบอย่างสม่ำเสมอ เช่น กรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต้องนอนโรงพยาบาลจะได้รับเงินชดเชยวันละ 300 บาท กรณีแพทย์สั่งให้พักรักษาตัวที่บ้านจะได้รับวันละ 200 บาท จ่ายตามจำนวนวันในใบรับรองแพทย์ สำหรับทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 มีสิทธิเบิกได้ปีละไม่เกิน 30 วัน ส่วนทางเลือกที่ 3 เบิกได้ปีละไม่เกิน 90 วัน โดยมีเงื่อนไขต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในระยะเวลา 4 เดือน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมาตรา 40 หากเจ็บป่วยไม่ว่าเหตุใดก็ตาม หากมีใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล สามารถนำไปเบิกเงินชดเชยจากการขาดรายได้

โฆษกสำนักงานประกันสังคม เน้นย้ำว่า กรณีสมัครประกันสังคมมาตรา 40 ไว้ และไม่ได้จ่ายเงินสมทบอีกเลย สถานะยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 อยู่ แต่ขาดสิทธิรับเงินกรณีต่างๆ กรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องส่งย้อนหลัง แต่สามารถส่งเงินสมทบล่วงหน้าได้ 12 เดือน ส่วนวิธีป้องกันการลืมจ่ายเงินสมทบสามารถดำเนินการขอหักบัญชีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ หรือจ่ายล่วงหน้าที่เคาน์เตอร์ต่างๆ เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น โลตัส บิ๊กซี และตู้บุญเติม