เอกชนเฮ! รัฐสร้างรายได้ แจก “ซิมคนจน” แม้เงินจะหมดคลัง!
สวัสดิการแห่งรัฐนี่มันช่างจัดหนักจัดเต็มดีจริงๆกระทรวงการคลังจะอัดฉีดงบประมาณเข้ามาดูแลพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย(อีกแล้ว) โดยจะแจกอินเตอร์เน็ตฟรีกับพี่น้องที่มาลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยจำนวนราว11.67 ล้านคนส่งให้กสทช. ช่วยประสานกับค่ายมือถือให้ออกแบบแพคเกจให้เหมาะสม
เป้าหมายที่ทางท่านรัฐมนตรีแถลงไว้คือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ทำเพื่อจะสร้างงานสร้างอาชีพ ให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนแต่ก่อนที่โทรเข้าโทรออกได้อย่างเดียว
จริงแล้วการวางนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับผู้มีรายได้น้อยไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่ถ้าไม่รอบคอบหละหลวมอาจจะเป็นผลเสียมากกว่าจะเป็นผลดี เพราะหลาย ๆ ครั้ง นโยบายนำเงินไปใช้เป็นสิทธิพิเศษให้ประชาชนก็ทำเอาบางหน่วยงานขาดทุน
ยิ่งไปกว่านั้น การดำเนินโครงการด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาลโดยไม่เห็นประโยชน์ในภาพรวมเด่นชัดก็ถือว่าน่าเป็นห่วง ในมุมสภาพเศรษฐกิจ นี่อาจเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ในมุมการเมืองนี่อาจถูกมองว่าเป็นการตั้งโครงการมาเพื่อจะคอรัปชั่น ในมุมการเลือกตั้งนี่ไม่ต่างอะไรกับการเอาเงินรัฐมาเอาใจชาวบ้านเพื่อซื้อเสียง
แต่อะไรคงไม่สำคัญเท่าว่า มันจะยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านได้จริงหรือเปล่า?
เครดิตภาพ: https://www.tnews.co.th/index.php/contents/485649
ช่วยได้จริงหรือ?
ท่านรัฐมนตรีออกตัวว่า “ไม่ได้จะให้ชาวบ้านเอาไปเล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง” คำถามคือ ท่านจะห้ามได้อย่างไร? ประชาชนได้รับไปแล้วจะใช้งานอย่างไรใครจะจำกัดได้ แล้วอะไรก็ตามที่ยกตัวอย่างมาอ้างอิงว่าเป็นข้อมูลที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึง เช่น ข่าวสารด้านการเกษตร อะไรกำลังจะล้นตลาด ควรปลูกหรือไม่ปลูกอะไร แนวโน้มราคาสินค้าเอย พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เอย มีอยู่ไม่กี่อย่างที่จะค้นหาในอินเตอร์เน็ตแล้วจบ แต่จำเป็นต้องผ่านการศึกษากลั่นกรอง ต้องติดตามข้อมูลข่าวสารมาเป็นเวลานาน ประกอบกับเอามาวิเคราะห์ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำการเกษตรมาก่อน จึงจะตัดสินใจได้ถูกต้อง
และหากตัวเกษตรกรมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงให้การทำงานของตนมีประสิทธิภาพ เขาน่าจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารกันอยู่แล้ว เช่น คนปลูกยางก็น่าจะต้องรู้ราคายาง แม่ค้าผลไม้ย่อมจะรู้ว่าอะไรจะขายได้ช่วงไหนของปี ปุ๋ยยี่ห้อไหนดี เป็นต้น ซึ่งเผลอๆ น่าจะรู้ลึกกว่าข้อมูลที่แชร์ๆ กันอยู่ในอินเตอร์เน็ตด้วย
การแจกอินเตอร์เน็ตฟรีได้จะช่วยชาวบ้านได้ขนาดนั้นจริงหรือไม่?
ชาวบ้านมีเน็ตใช้เอกชนมีรายได้รัฐจ่ายคลังแตก
เราต่างก็รู้ว่าขณะนี้รัฐบาลผลักดันสวัสดิการแห่งรัฐอย่างมาก โครงการซิมคนจนไม่ใช่เรื่องแรก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายคืนภาษีให้ ช็อปช่วยชาติ อุดหนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทางไปหาหมอ ถึงไม่รวมโครงการนี้งบอัดฉีดช่วยคนจนก็บานไปถึงหลักร้อยล้านเรียบร้อยแล้ว
แม้ข้อสรุปจะยังไม่ลงตัว แต่โครงการซิมคนจนจะมาแน่ ๆ ถึงไอเดียแจกซิมฟรีจะตกไป แต่กสทช. ก็แถลงว่าอาจเป็นการประสานค่ายมือถือต่างๆ ให้จัดแพคเกตตามถนัดมาเข้าโครงการหรืออาจเป็นการจ่ายเงินเข้าเบอร์มือถือของประชาชนผู้มีรายได้น้อยรายละ 50 บาทต่อเบอร์ โดยมีผู้มาขึ้นทะเบียนประมาณ 11.67 ล้านคน คิดเป็นเลขกลมๆ ก็ 500 กว่าล้านบาทเห็นจะได้
จัดหนักจนคนชั้นกลาง ต้องมองตาปริบๆ เพราะปลายปีที่ผู้มีรายได้น้อยมีแต่ได้กับได้ ส่วนคนชั้นกลางยังต้องจัดการภาษีกันหัวปั่น ขาขวิด แบบนี้ใครจะอยากทำงาน ใครกันจะยอมลำบาก ถ้าดำเนินนโยบายอย่างนี้ไปนาน ๆ จำนวนคนตกงานจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ แล้วรัฐจะหารายได้มาโอบอุ้มไปได้ตลอดหรือเปล่า
และสิ่งที่ควรจะตั้งคำถามมากที่สุดคือ การแก้ปัญหาความจนด้วยวิธีนี้เหมาะสมหรือไม่ การแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อยควรมุ่งไปที่การให้ความรู้ ให้โอกาสเพื่อให้เขาสามารถบริหารจัดการรายได้ด้วยตัวเอง แล้วยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมคล่องตัวขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่การลด แลก แจก แถม ที่เป็นเหมือนการเอาอกเอาใจชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น
เพราะสุดท้ายแล้วหากรัฐบาลเลิกอุ้ม พี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยก็จะตกที่นั่งเดิม เพิ่มเติมคือรัฐก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย สิ่งที่ทำไปทั้งหมดก็จะถือว่าไร้ประโยชน์ในท้ายที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.matichon.co.th/economy/news_1254353
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9600000114903
https://www.sanook.com/money/616811/
https://www.posttoday.com/finance/news/572523
ภาพประกอบ
https://www.pptvhd36.com/sport/news/31507