โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เสียงสะท้อนของลูกคนกลาง

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 ต.ค. 2560 เวลา 10.16 น.

ใครไม่ได้เป็นลูกคนกลางคงไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกของการเป็นลูกคนกลางได้ดีเท่าไหร่นัก อาจจะแค่เคยได้ยินว่าลูกคนกลางเป็นคนที่ถูกรักน้อยที่สุด เป็นคนที่ต้องใช้ของต่อจากพี่ ๆ หรือเป็นคนที่โดนเปรียบเทียบบ่อยที่สุด บางบ้านลูกคนกลางเป็นคนที่แทบจะไม่มีตัวตนเลย เพราะความสนใจของพ่อแม่ไปอยู่ที่ลูกคนโตและคนเล็กหมด ทำให้ลูกคนกลางมักเรียกร้องความสนใจ น้อยใจและกลายเป็นตัวปัญหาที่สุดในบ้าน

แม้ตอนนี้หลายบ้านไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องลูกคนกลางสักเท่าไหร่ เนื่องจากขนาดของครอบครัวที่เล็กลง มีลูกแค่ 1-2 คน และพ่อแม่สมัยใหม่เข้าใจปัญหาและธรรมชาติของเรื่องนี้ดี ทำให้แม้จะมีลูกหลายคน แต่ทุกคนก็ได้รับความรักที่เท่าเทียมกัน

แต่ก็ใช่ว่าปัญหาลูกคนกลางจะหมดไป ตามหลักจิตวิทยาแล้วลำดับการเกิดของคนในครอบครัวส่งผลต่อบุคลิกภาพของบุคคลที่แตกต่างกัน พี่คนโตก็นิสัยอย่างหนึ่ง ลูกคนกลางก็แบบหนึ่ง คนเล็กก็อีกแบบหนึ่ง ส่วนลูกโทนก็มีนิสัยอีกแบบไปเลย 

บุคลิกภาพของลูกคนกลางส่วนใหญ่มักเป็นคนเงียบ ๆ เคร่งเครียด แต่ก็ไม่อยากเป็นผู้นำหรือรับผิดชอบสักเท่าไร และมักเปรียบเทียบตัวเองกับพี่ ๆ น้อง ๆ เสมอ ยิ่งถ้าครอบครัวไหนที่มีสัมพันธภาพไม่ดีอาจทำให้ลูกคนกลางรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียง และเป็นปัญหาได้

ทำไมจึงเกิดปัญหาลูกคนกลาง 

ปัญหาลูกคนกลางเกิดจากการไม่ได้รับความรักที่เท่าเทียม แต่ไม่จำเป็นเลยที่ต้องเป็นลูกคนกลางเสมอไปที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลูกคนไหนก็เกิดปัญหานี้ได้ ถ้าพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าได้รับความรักที่ไม่เท่าเทียมกับลูกคนอื่น 

ในมุมมองของพ่อแม่แน่นอนว่ารักลูกทุกคน แต่จะเท่ากันหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง บางคนเห่อลูกคนโต ห่วงลูกคนเล็ก เป็นเหตุให้ลูกคนกลางหมดความสำคัญลงไป เพราะฉะนั้นปัญหาลูกคนกลางจึงเกิดจากการปฏิบัติตัวของพ่อแม่มากที่สุด

เสียงจากลูกคนกลาง 

ลูกคนกลางมักจะบอกว่าตัวเองไม่ได้รับความรักเท่ากับพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งโดนเปรียบเทียบ รู้สึกไม่เท่าเทียมจนกลายเป็นปมด้อยที่อยู่ในใจ ทำให้ไม่รู้สึกผูกพันรักใคร่กับคนในครอบครัว ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้มักจะเกิดจากมุมมองที่มีต่อพ่อแม่ว่าให้ความสำคัญกับพี่และน้องมากกว่าตัวเอง

ส่วนใหญ่ลูกคนกลางมักจะมีหลายบุคลิก อยู่บ้านเป็นแบบหนึ่ง พอออกนอกบ้านก็เป็นอีกคน เพราะรู้สึกได้ปลดปล่อยความรู้สึกกดดันจากที่บ้าน จากคนที่เงียบ ๆ ในบ้านกลายเป็นร่าเริง คุยเก่ง หรือมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากที่บ้านอย่างสิ้นเชิง ซึ่งวิธีนี้คือการปลดปล่อยของลูกคนกลางอย่างหนึ่ง

นอกจากการมีหลายบุคลิกแล้ว การรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักที่เท่าเทียม ยังอาจส่งผลให้ลูกคนกลางมีพฤติกรรมด้านลบด้วย เช่น พอพ่อแม่ไม่รัก ไม่สนใจก็หันไปทำอะไรที่ไม่ดี หรือการเกเรเพื่อเรียกร้องความสนใจ หวังว่าทำตัวไม่ดีแล้วพ่อแม่จะหันมาเอาใจใส่บ้าง แต่ที่ยิ่งทำให้ลูกคนกลางรู้สึกมากกว่าเดิมก็คือ การที่พยายามทำตัวให้ดีแต่ก็ไม่ได้รับการชมเชยหรือความรักเท่าลูกคนอื่น สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปมที่อยู่ในใจ ทำให้ลูกคนกลางมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

จะทำอย่างไรให้ไม่เกิดปัญหาลูกคนกลาง 

อย่างที่บอกว่าพ่อแม่สมัยใหม่รู้จักและเข้าใจปัญหานี้ดี พ่อแม่บางคนเคยผ่านปัญหานี้มาด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหาลูกคนกลางเกิดขึ้นในครอบครัว

ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าปัญหานี้เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพี่-น้อง เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขหรือป้องกันได้ยากเลย ถ้ามีลูกหลายคนพ่อแม่ต้องไม่ให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รัก เอาใจใส่หรือสนใจลูกคนไหนมากกว่ากัน 

อย่าลืมว่าปัญหาลูกคนกลางเกิดจากตัวลูก ไม่ใช่ตัวพ่อแม่ เพราะฉะนั้นเกณฑ์วัดความรัก ความเอาใจใส่จึงเป็นเกณฑ์ของลูก ถึงแม้พ่อแม่จะคิดว่าพฤติกรรมที่ทำลงไปคือเท่ากันและเท่าเทียม แต่ในมุมมองของลูก ถ้าเค้าคิดว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำคือความลำเอียง ปัญหาก็เกิดขึ้นอยู่ดี 

ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ นอกจากจะรักและเอาใจใส่อย่างเท่าเทียมแล้ว ยังต้องสังเกตพฤติกรรมและความรู้สึกของลูกควบคู่กันไปด้วย แต่ต้องรู้ให้ทันลูกด้วย เพราะลูกบางคนก็มีความต้องการที่เกินพอดี เรียกร้องเกินเหตุ ซึ่งก็กลายเป็นปัญหาได้เหมือนกัน ทางที่ดีพ่อแม่ต้องศึกษาลูกให้มาก ๆ เข้าใจเค้าให้เยอะ ๆ แล้วจะพบวิธีจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0