‘ธนบัตร’ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกคนต้องนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ถึงแม้ส่วนหนึ่งได้ก้าวเข้าสู้สังคมไร้เงินสด เพื่อลดการสัมผัสเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ในหลายประเทศต่างเผชิญ แต่อย่างไรก็ตาม ‘เงินสด’ ก็ยังมีความจำเป็นเนื่องด้วยความสะดวกและความว่องไวในการใช้ชีวิต ซึ่งประเทศไทยเองได้ตีพิมพ์ ‘ธนบัตรแบบหมุนเวียน’ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2445 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ตีพิมพ์มาแล้วทั้งสิ้น 17 แบบ
นอกจาก ‘ธนบัตรหมุนเวียน’ ที่เราทุกคนไว้ใช้จ่ายกันแล้วนั้น กระทรวงการคลังยังได้ตีพิมพ์ ‘ธนบัตรที่ระลึก’ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองที่สำคัญ ขณะนี้มีรวมทั้งสิ้น 20 แบบ และยังมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ LINE TODAY พาย้อนอดีตไปเมื่อ พ.ศ.2530 ครั้งที่มีการตีพิมพ์ ‘ธนบัตรที่ระลึก’ ครั้งแรกและฉบับต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ
3 มิถุนายน 2530
กระทรวงการคลังได้ตีพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกเป็นครั้งแรก ในชนิดราคา 60 บาท เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาหกสิบพรรษา 5 ธันวาคม 2530 ประการออกใช้ 8 ธันวาคม 2530 และมีขนาด 15.9 x 15.9 เซนติเมตร เทียบได้กับรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส
4 สิงหาคม 2550
มีการตีพิมพ์ธนบัตรที่ระลึกในชนิดราคา 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท เนื่องในเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ประกาศออกใช้ 14 สิงหาคม 2550 และมีขนาด 22.9 x 14.7 เซนติเมตร
12 ธันวาคม 2563
ล่าสุดตีพิมพ์ธนบัตรที่ระลึก ในชนิดราคา 1,000 บาท เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ประกาศออกใช้ 12 ธันวาคม 2563 และมีขนาด 12.7 x 18.1 เซนติเมตร มีรูปทรงเป็นแนวตั้ง
ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบขนาดธนบัตรที่ระลึกทั้ง 3 พบว่าธนบัตรที่ระลึกในชนิดราคา 1 บาท 5 บาท และ 10 บาท ที่มีการตีพิมพ์เมื่อ 4 สิงหาคม 2550 มีขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องด้วยธนบัตรที่ระลึกดังกล่าวประกอบไปด้วยหลายชนิดราคา อีกทั้งอยู่ภายในฉบับเดียวกันจึงมีขนาดถึง 22.9 x 14.7 เซนติเมตร และเมื่อนำไปเทียบกับกระดาษ A4 ซึ่งมีขนาด 21.0 x 29.7 เซนติเมตร พบว่ามีขนาดที่ใกล้เคียงกันเล็กน้อย
ซึ่งทั้ง 3 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธนบัตรที่ระลึกใน 20 แบบ ที่มีขนาดที่แตกต่างจากธนบัตรฉบับอื่นๆ และทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น ‘ธนบัตรหมุนเวียนหรือธนบัตรที่ระลึก’ ก็สามารถใช้ชำระหนีได้ตามกฏหมายเช่นเดียวกัน
อ้างอิง https://www.bot.or.th