คุณดิเรก ขำคง อดีตวิศวกรไฟฟ้าที่ถึงจุดอิ่มตัวในหน้าที่การงาน ผันตัวเองมาทำการเกษตร และเลือกปลูกต้นอ่อนผักบุ้ง เพราะเป็นผักที่ภรรยาและเขาเองไม่แพ้ และยังมีเกษตรกรน้อยรายปลูกผักชนิดนี้ แต่กว่าเขาจะปลูกผักชนิดนี้ได้ประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลาถึง 2 ปี ในการลองผิดลองถูก และเรียนรู้การเติบโตของต้นอ่อนผักบุ้งนี้ ด้วยการเฝ้าสังเกตวันแล้ววันเล่า จนได้เทคนิคในการปลูกมา
คุณดิเรกเริ่มปลูกต้นอ่อนผักบุ้งจากการที่ภรรยาไม่แพ้ผักชนิดนี้ หลังจากนั้น เขาต้องเรียนรู้ผิดถูกกับมันตั้งแต่การเลือกเมล็ดพันธุ์เลยทีเดียว จวบจนประทั่ง 2 ปี การปลูกจึงสัมฤทธิผลและได้เทคนิคในการปลูกมา
การเลือกเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด คือ เมล็ดพันธุ์ตาเรียวไผ่ ให้นำมาแช่น้ำ ล้างน้ำสัก 2-3 รอบให้สะอาด เพราะเมล็ดพันธุ์มีพวกขี้ดินขี้โคลนติดมา หลังจากที่ล้าง 2-3 รอบแล้ว ก็นำมาแช่น้ำ 12 ชั่วโมง อย่าเกินกว่านั้น พอแช่ครบ 12 ชั่วโมง ให้ทำการร่อนเมล็ดที่พองน้ำออกมาปลูกก่อน ส่วนเมล็ดที่ไม่พองน้ำ ถ้าจะใช้ต่อให้แช่ต่อไปได้เลย แล้วทำการร่อนทุก 12 ชั่วโมง ได้มากได้น้อยก็ขอให้ร่อนตรงเวลา และถ้าไม่ต้องการปลูกแล้ว ให้นำเมล็ดที่ยังไม่พองน้ำ ที่มันแข็ง เอาไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วค่อยเก็บไปใช้คราวหน้า เวลาจะนำไปใช้ก็แช่น้ำ 12 ชั่วโมงเหมือนเดิม แต่อัตราการงอกจะสู้ครั้งแรกไม่ได้ จะมีเมล็ดที่เสียบ้าง ที่ลอยน้ำอยู่ด้านบน ที่มันไม่งอกบ้าง ก็ให้คัดออกไป นี่คือขั้นตอนการเตรียมเมล็ด
ขั้นตอนการเตรียมดิน
ดินที่คุณดิเรกใช้เป็นดินที่ผสมมาเรียบร้อยแล้ว คุณดิเรกจะทำการร่อนเอาดินที่อาจจะมีก้อนใหญ่ปนอยู่ อาจมีพวกเศษไม้หรืออะไรปนอยู่นี้ ให้เป็นดินละเอียด แล้วก็นำมาใส่ถาด จะใช้ถาดที่เพาะต้นข้าว ใส่ให้เต็มไม่ต้องกด แล้วก็ปาดให้เรียบ หลังจากนั้นก็ปลูกที่ถาด แล้วใส่ดินเตรียมไว้ แล้วทำการโรยเมล็ด
การโรยเมล็ด ให้โรยให้เม็ดมันชิดกันที่สุด แต่อย่าเกยกัน เพราะว่าถ้ามันซ้อนกันเมื่อไหร่โอกาสรากลอยจะเยอะ พอเต็มถาดแล้ว ก็ทำการพรมน้ำ ก่อนพรมน้ำจะใช้มือตบ ๆ หรือไม้กระดานก็ได้กดให้เสมอกัน ให้เมล็ดเรียบกับขอบถาด แล้วฉีดน้ำเข้าไปนิดหน่อย ไม่ต้องเยอะ เพราะว่าตัวเมล็ดมันพองน้ำอยู่แล้ว มันอมน้ำอยู่แล้ว ฉีดแค่พอประมาณให้มีความชื้นนิดหน่อย เสร็จแล้วให้ใช้กระสอบเป็นกระสอบถุงปุ๋ย ตัดให้มันเกินขอบกระบะมานิดหนึ่ง ปิดลงไปก่อน แล้วก็โรยถาดถัดไป พอโรยถาดถัดไปเสร็จแล้ว นำถาดมาซ้อนทับกันสูงสุดประมาณ 7 ถึง 10 ถาด ชั้นบนสุดให้ใช้ถาดเปล่า แล้วจัดไม้ให้เต็มถาด แล้วเอาหินอิฐตัวหนอนก็ได้ สัก 8 ก้อน น้ำหนักประมาณ 10 - 20 กิโลกรัมขึ้นไป กดทับให้แน่น ตรงนี้ต้องการให้กดทับรากของเขาให้จมลงสู่ข้างล่าง ไม่ต้องการเห็นรากลอยขึ้นมาข้างบน เทคนิคก็คือจะต้องทับถาดให้สนิท ตรงไหนที่มันมีช่องว่างหรือเผยอ ต้องกดให้เรียบไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหารากลอย แล้วก็ทับถาดทิ้งไว้สองวันสองคืน เมื่อเมล็ดลงดินปุ๊บเริ่มนับเป็นวันที่หนึ่ง นับไปสองคืน ระหว่างสองคืนนี้ให้ทำการเช็คน้ำหนึ่งครั้ง คือวันที่สอง ถ้าเกิดว่ามันแห้งให้ฉีดน้ำเข้าไปนิดหนึ่ง แล้วกดถาด ทำเหมือนเดิม
หลังจากนั้นก็เข้าสู่วันที่สาม ให้ทำการแยกถาดออกมาแล้วเอาเข้าห้องมืด ก่อนที่จะนำเข้าห้องมืดนี้ให้เราทำการเช็คก่อนว่า มีเมล็ดที่เน่าไหม มีเมล็ดที่ไม่งอกไหม หรือว่ารากลอยไหม ให้ทำการเก็บออกให้หมด เก็บเอาทุกเม็ดที่มันเสีย หากเราไม่เก็บออก ปัญหาเรื่องโรคเชื้อรา โรคโคนเน่า รากเน่าจะตามมา เพราะฉะนั้นการที่ต้นจะสวยขาวและอวบ ทุกขั้นตอนสำคัญหมด
หลังจากนั้นก็นำเข้าห้องมืด เพื่อไม่ให้รากมันลอย รากมันจม รากมันทิ่มลงดิน เราต้องการดึงต้นเขาให้ยาวขึ้น เราก็จะนำเข้าห้องมืดที่จะจำลองให้เขารู้สึกว่าเขาอยู่ใต้ดิน เขาจะพยายามยืดต้นให้ยาวที่สุด เก็บไว้ในห้องมืดสามวันสามคืน
พอเช้าวันที่ 6 สังเกตหมวกเขาที่เป็นเปลือก ให้ทำการรดน้ำก่อนให้มันชุ่ม ให้มันนิ่ม แล้วค่อย ๆ ดึงเปลือกขึ้นมาถ้าเปลือกไม่นิ่มอย่าดึง เพราะว่าเดี๋ยวยอดมันจะขาด ต้องให้นิ่มแล้วดึงออกทุกต้นเลย อันนี้เป็นการช่วยเขาให้เปลือกเขาหลุดออกมาง่าย ถ้าเราปล่อยให้เขาหลุด เขาจะไม่หลุด ต้องช่วยเขาในขั้นตอนนี้ ถ้าเราดึงเปลือกไม่หมดพอเรานำไปรับแสงมันจะบีบ ทำให้ดึงออกยาก เปลือกมันยังไม่หลุดออกมา หลังจากที่ดึงเปลือกเสร็จ วันที่ 6-7 สองวันนี้ให้นำไปรับแสง แสงในที่นี้ไม่ใช่แสงแดดโดยตรง ให้นำไปไว้ใต้ชายคา หรือหาอะไรคุมไว้ แต่ว่าให้แสงเข้ารอบทิศทาง อย่าให้เข้าทางใดทางหนึ่ง ถ้าเข้าทางใดทางหนึ่ง ต้นจะหันไปหาแสง ต้นจะไม่ตรง ให้แสงเข้าได้รอบทิศทาง ช่วงรับแสงสองวันนี้ ต้องดูแลใกล้ชิด เพราะว่าสองวันนี้เขาจะกินน้ำเยอะ จะต้องพรมน้ำและต้องยกถาดเช็คว่าน้ำมันแห้งไปไหม มันเบาไปไหม บางทีเรามองด้วยสายตา เรามองไม่ออกยกถาดขึ้นมาเช็ค หรือว่าถ้าบางคนยังไม่ชำนาญ ขอแนะนำว่า ให้ชั่งน้ำหนักไว้ หาตราชั่งมาตวงไว้ชั่งวัดน้ำหนักที่มันพอดีว่าน้ำอยู่ที่กี่กิโลกรัม โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 4-5 กิโลกรัม แล้วก็คุมน้ำให้อยู่แบบนี้ตลอด ถ้าเราละเลยขั้นตอนนี้ไป ต้นมันก็เสีย เหี่ยว เพราะขาดน้ำ ตามันจะพับลงมา แล้วโอกาสที่เขาจะตั้งตรงจะค่อนข้างยาก มันก็จะไม่สวย ใส่ใจให้เหมือนมีลูกอ่อน จะต้องใส่ใจเขาทุกวินาที สิ่งที่ปลูก ผลผลิตที่ออกมามันถึงจะดี
หลังจากรับแสงสองวันแล้ว วันที่แปดให้ตัดถาดได้เลย ตัดแพ็คจำหน่ายได้เลย วิธีการตัดก็คือใช้มีดโกนคม ๆ ตัด เวลาตัดที่ดีที่สุดคือตี 5 ถึง 6 โมงเช้าไม่เกิน 10 โมงเช้า หรือตอนเย็นก็ประมาณ 3-4 ทุ่มขึ้นไป เพราะว่าหลังจากที่เราให้น้ำแล้ว ลำต้นเขาจะกินน้ำอิ่ม ต้นเขาจะมีความสมบูรณ์พอ เราตัดโอกาสที่มันจะเหี่ยวค่อนข้างน้อย หลังจากตัดเสร็จให้เก็บไว้ในช่องแช่ผักให้อยู่ที่อุณหภูมิ 8-10 องศาเซลเซียส การเก็บของเขาจะอยู่ได้ประมาณ 7 วัน แต่ถ้าช่วงดีที่สุดให้เราทานหมดภายในสามวัน เพราะหลังจากนั้น ลำต้นตรงโคน ตรงปลายจะเริ่มดำ แต่ยังทานได้ โดยตัดส่วนที่ดำออกไป ก็สามารถทานได้ เแต่ว่าความสดจะสู้ช่วง 3 วันแรกไม่ได้ แต่ถ้าดีที่สุดคือตัดแล้วทานเลย
ในการประกอบอาหารก็หลากหลายสามารถใช้แทนผักทั่วไปได้เลย
ความเห็น 0