โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความเคยชินในโลกใบต่าง - ดังตฤณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 18 เม.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • ดังตฤณ

ผมพบความเคยชินใหม่

คือ พอได้เวลามื้อเที่ยงหรือมื้อเย็น

ก็จะหยิบมือถือขึ้นมากดๆ สองสามที

แล้วรอประมาณครึ่งชั่วโมงเศษ

ก่อนจะเดินออกไปรับอาหารที่หน้าบ้าน

นำมาแกะกิน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเก็บกวาด

บางทีถ้าเป็นอาหารพร้อมกินในกล่อง

ก็แค่นำกล่องไปทิ้งขยะ

แต่บางทีถ้าเป็นอาหารน้ำๆ เหลวๆ ที่ต้องใส่ถ้วยชาม

ก็ต้องล้างถ้วยชามเอง

 

จากคนไม่เคยใช้แอพในการสั่งอาหารมาก่อนเลย

จากคนขับรถออกไปกินข้าวนอกบ้าน

เพื่อจะได้ไม่ต้องแกะกล่องหรือล้างจานเอง

กลายมาเป็น ‘มนุษย์สั่งอาหารผ่านแอพ’ อย่างสมบูรณ์แบบ

นี่แหละคือไลฟ์สไตล์

ที่กลายเป็นความเคยชินใหม่อันเด่นชัดของผม

หลายเดือนที่ผ่านมา

ผมแทบไม่พบความแตกต่างใหญ่ๆ อันใดอีก

 

แน่นอนว่าสไตล์ชีวิตของแต่ละคนต่างกัน

ผมอาจได้เปรียบทางความเคยชินมากกว่าหลายๆ คน

เนื่องจากศูนย์กลางชีวิต

มีฐานที่ตั้งอยู่กับบ้านตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

นอนก็นอนที่บ้าน 

ทำงานก็ทำที่บ้าน

บันเทิงก็บันเทิงที่บ้าน

เจริญสติก็เจริญที่บ้าน

พอโดนกักบริเวณอยู่กับบ้าน

จึงไม่เกิดอาการกอดเข่าเจ่าจุก

ไม่รู้สึกอุดอู้ ไม่รำคาญตัวเอง

ไม่อึดอัดระอากับภาวะแวดล้อมจำเจ

 

ผมได้เรียนรู้ว่า

จะไม่มีความจำเจในความรู้สึกที่ชินอยู่แล้ว

แตกต่างจากคนส่วนใหญ่

ที่มีวิถีทางการทำงาน การพบปะผู้คน

ในแบบเคยชินที่จะใช้ชีวิตนอกบ้าน

มีบ้านเป็นที่ซุกตัวนอนจากดึกถึงเช้า

พอใช้ประโยชน์จากบ้านช่วงดึกถึงเช้าเสร็จ

ก็สะบัดก้นหนี ไม่ต้องไยดีต่อกัน

 

หลายคนแม้ไม่มีเรื่องให้ต้องออกจากบ้าน

ก็พยายามหาเรื่องให้ได้ออก

เพื่อพาตัวออกไปให้พ้นๆ รั้วบ้าน

หรือประตูหอพักเสีย

ปากบอกเห็นบ้านเป็นความอบอุ่น เป็นที่พักใจ

แต่เอาเข้าจริงพอต้องจมปลักอยู่กับที่นั่งที่นอนนานๆ

ใจที่อบอุ่นก็กลายเป็นร้อนรน

เหมือนแช่ตัวอยู่ในห้องอบซาวน่านานเกินพอดี

 

อย่าบ้าจี้เชื่อคนที่ออกมาตะโกนโหวกเหวก

ให้รัฐบาลปลดล็อกแบบไม่มีเงื่อนไข

ด้วยความกลัวเศรษฐกิจจะพังแบบกู่ไม่กลับ

คนที่รู้จริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจระดับมหภาค

อย่างเช่นท่านศุภชัย พานิชภักดิ์

ซึ่งเคยเป็นถึงผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก

ยังออกมาบอกว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลามาห่วงเศรษฐกิจ

เราต้องห่วงเรื่องเอาตัวรอดจากมหันตภัยโลกให้ได้ก่อน

ค่อยเอาตัวที่รอดแล้วไปว่ากันเรื่องเศรษฐกิจทีหลัง

 

จริงๆนะครับ

มันเหมือนคุณเก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อรถคันโปรดมาได้

แต่หากจะต้องสู้กับโจรชิงรถที่มีปืน ขณะที่คุณมือเปล่า

ก็จงยอมเสียรถให้โจรไปโดยดีเถอะ

เก็บชีวิตไว้หาทางซื้อรถใหม่

ดีกว่าไม่ได้รถคืน แถมเอาชีวิตไปทิ้งอีก

 

โลกเรากำลังรบกับโจรอัจฉริยะ

ซึ่งในทางปฏิบัติ

มันมาปล้นสะดมทรัพยากรในร่างกายเราไปเป็นของมัน

คล้ายข้าศึกศัตรูมาฉุดลากคนในเมืองไปเป็นอาหาร

หรือเอาไปปั่นหัว ล้างสมอง ให้แปรพักตร์เพื่อเป็นกำลังหนุน

รู้แกวด้วยว่า ถ้าใช้วิธีนั้น

ทหารของเราจะแตกตื่น ลนลาน

ยิงปืนใหญ่โต้ตอบแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ

อันนี้ก็เหมือนกับที่ร่างกายของเรา

ต่อสู้ด้วยวิธีถล่มเดือด กะทำลายไวรัสให้ราบ

ซึ่งก็กลายเป็นว่า สิ่งบุบสลายจริง

ก็คืออวัยวะภายในที่พังๆ ไปของเราเอง

 

นอกจากนั้น 

โจรอัจฉริยะอย่างโควิด-19

ยังหัวไว พลิกแพลงเก่ง ปรับตัวเร็วยิ่งกว่าอะไร

เหมือนเช่นที่ตอนนี้ มีการพบการกลายพันธุ์ที่อินเดีย

จากไวรัสมีหนามลายเป็นไวรัสไร้หนาม

ซึ่งพอไร้หนามก็มีวิธีแพร่กระจายในร่างกายต่างไป

ต่อให้คิดวัคซีนปราบโควิด-19 แบบเก่าที่มีหนามได้

ก็ต้องมาคิดวัคซีนป้องกันสายพันธุ์ใหม่ไร้หนามกันเพิ่มอีก

วันไหนงอกใหม่อีก ก็ต้องกุมขมับคิดวัคซีนใหม่ไม่รู้จบ

 

เมื่อโจรมันปรับตัวเก่ง

เจ้าของบ้านอย่างเราๆ ท่านๆ

ก็ต้องปรับตัวเก่งตามมันด้วย

ขอให้ทราบเถิดว่านักพันธุศาสตร์ระดับโลก

แกะรอยด้วยวิธีสืบหาความโยงใยระดับพันธุกรรมแล้ว

พบว่าโควิด-19 เป็นผลจากการกลายพันธุ์มาหลายร้อยครั้ง

นับจากไวรัสไร้พิษสง มาเป็นไวรัสร้ายระดับอัจฉริยะ

กินเวลากันเป็นสิบปี

ไม่ใช่ว่ามีใครจงใจแกล้งสร้างในห้องแล็บกันได้ในเดือนสองเดือน

อย่างที่เดาๆ กันตามอารมณ์

 

หากเราเข้าใจผิด

โทษว่าเป็นบาปของคนโน้นคนนี้

เราจะสร้างวจีทุจริตแบบผิดเป้า

จิตจะรุ่มร้อนด้วยวลีสาปแช่งเดือดๆ

โดยไม่มีผู้รับบาปตัวจริงอื่นใดนอกจากเราเอง

 

หากเราหวังรอลมๆ แล้งๆ ว่า

โควิด-19 จะหายไปจากโลกในเร็ววัน

ใจเราจะดิ้นรนเปล่า

ตื่นเช้ากี่วันๆ ก็ยังพบมันในข่าวทุกทีไป

แล้วที่สำคัญจะวางแผนผิด

เตรียมตัวเตรียมใจด้วยวิธีคิดผิดๆอีกเป็นพรวน

เช่น คิดว่าเดี๋ยวรอโรคระบาดสงบ

ค่อยกลับไปทำมาหากินแบบเดิมๆ

และนึกว่าใช้วิธีทำมาหากินแบบเดิม

จะมีรายรับรายจ่ายเท่าเดิม

แต่หากทำใจได้ว่า

อย่างเร็วก็เป็นปี

กว่าเขาจะคิดวัคซีนป้องกันสำเร็จ

อย่างนี้ใจเราจะเลิกดิ้นพล่านแรงๆ

เปลี่ยนมากระสับกระส่ายน้อยๆ

หรือกระทั่งสงบนิ่ง

เปิดโอกาสให้สมองทำงาน

เลิกเกี่ยงให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่งมารับผิดชอบ

แต่จะร่วมกันคิด ร่วมกันไขว่า

ทำอย่างไรจะอยู่รอดในโลกใบใหม่ไปด้วยกัน

 

สำคัญคือ ต้องหมั่นฝึก หมั่นหาอะไรทำสนุกๆที่บ้าน

ให้กลายเป็นความเคยชินที่จะมีความสุขอยู่กับบ้านด้วย

เพราะแนวโน้มต่อๆ ไป

คือ ทุกคนในโลกจะต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น

ออกจากบ้านน้อยลง

คนปรับตัวเข้ากับบ้านหรือห้องพักได้สนิทเท่านั้น

จะอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ที่เหมือนบีบให้คลุ้มคลั่ง

 

ยิ่งทำใจช้าลงเท่าไร

ยิ่งปรับความเคยชินได้ช้าลงเท่านั้น

ยิ่งปรับความเคยชินช้าลงเท่าไร

ใจยิ่งเป็นทุกข์เปล่านานขึ้นเท่านั้น!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 5

  • ปุณณดา(รี)
    เคยกับการอยู่ติดบ้านมาเป็น 10 ปี จึงไม่รู้สึกอึดอัดแต่อย่างไรค่ะ
    19 เม.ย. 2563 เวลา 08.11 น.
  • ผมคิดว่า ไม่ว่าจะเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมากับในชีวิต ในการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อที่ให้เป็นไปตามสภาวะของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาให้ได้ ก็ย่อมสามารถที่จะช่วยทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและก็มีความสุขเกิดขึ้นมาได้เสมอเหมือนกันนะครับ.
    18 เม.ย. 2563 เวลา 22.02 น.
  • Yong
    การทำใจได้ ก็คือ การที่ใจยอมรับได้ แล้ว กับปัจจุบัน คือสามารถอยู่กับความจริงของปัจจุบัน ว่าเราต้องปรับที่ตัว ที่ใจของเรา ให้เกิดความสุข จากภายใน สามารถปล่อยวาง ความคิดฟุ้งซ่าน ของอนาคต และอดีตได้ อดีตก็ผ่านมาแล้ว อนาคตก็ยังไปไม่ถึง ยังไม่ต้องคาดหวัง อะไรกับอนาคต เพราะ หากคาดหวังแล้วไม่เป็นดังหวัง มันก็คือผิดหวัง
    19 เม.ย. 2563 เวลา 05.01 น.
  • มนุษย์ที่แข็งแก่งไม่ใช่มนุษย์ที่ร่างใหญ่กำย้ำ แต่เป็นมนุษย์ที่สามารถอยู่ได้ทุกที่ทุกสภาวะการแปลเปลี่ยน
    19 เม.ย. 2563 เวลา 15.10 น.
  • Sarm Sarm
    ต้องอยู่กับความจริง จงอยู่กับความจริง เข้าใจหน่อย.
    19 เม.ย. 2563 เวลา 08.17 น.
ดูทั้งหมด