โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คิดให้ดี ก่อนเซ็นค้ำประกันให้ใคร - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 10.15 น.

จากประสบการณ์ให้คำปรึกษาเรื่องหนี้มา 14 ปี ต้องบอกเลยว่าหนี้ที่ทำให้ผู้เป็นหนี้ทุกข์ทรมานใจมากที่สุด ก็คือ “หนี้ที่เกิดจากการค้ำประกัน” เพราะเป็นหนี้ที่ไม่ได้ก่อเอง แต่ต้องมารับผิดชอบแทนทุกอย่าง เนื่องจากลูกหนี้ตัวจริงหนีไป

สำหรับหนี้ค้ำประกันในบ้านเรานั้น ต้องบอกเลยว่า มีหลากเคส หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น … 

น้องค้ำประกันเงินกู้ให้พี่ แต่พี่ไม่รับผิดชอบ หยุดส่งหนี้ แถมกำลังจะย้ายรกรากไปต่างประเทศ ทิ้งปัญหาทุกอย่างไว้

คุณอาค้ำประกันรถยนต์ให้หลาน เมื่อส่งหนี้ไม่ไหว แนะนำให้หลานนำรถไปขาย เอาเงินมาคืนหนี้ สุดท้ายขายรถได้ หลานเอาเงินที่ขายได้ไปด้วย ทิ้งปัญหาหนี้ไว้ให้คุณอา ติดตามตัวยังไงก็ไม่เจอ

เพื่อน 4 คน ค้ำประกันกันเป็นวง เพื่อขอกู้ยืมเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ของบริษัท วันดีคืนร้ายคนหนึ่งหนีหนี้ ยอมทิ้งงาน สุดท้ายปัญหาเริ่มลามมาถึงเพื่อนที่ต้องชดใช้แทน

ฯลฯ

คาดว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหา คนเริ่มใช้หนี้ไม่ได้ ปัญหาหนี้จึงเริ่มลุกลามมาถึงผู้ค้ำประกัน และต้องมาพลอยรับทุกข์ไปด้วย ซึ่งหากสภาพเศรษฐกิจยังดี หรือปกติ เรื่องผู้ค้ำประกันรับทุกข์แทน ก็อาจจะโผล่ให้เห็นไม่เยอะขนาดนี้

ปัญหาหนี้จากการค้ำประกัน ถ้ามองกันให้ดี สามารถป้องกันได้ง่ายๆ ด้วยการไม่ค้ำประกันให้ใครเลย

แต่ก็อีกนั่นแหละ สังคมไทยเราเป็นสังคมอุปถัมภ์ ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเดือดร้อน มาขอความช่วยเหลือ หลายครั้งก็ทำให้เราใจอ่อนค้ำประกันไป

ไอ้ตอนอะไรดีๆ ก็ไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่พออะไรๆไม่ดี ปลายปากกาที่เซ็นต์แก็กเดียว มันนำความทุกข์ร้อนมาให้มหาศาล

แล้วยังไง? จะไม่ให้ฉันช่วยเหลือใครเลยอย่างนั้นเหรอ

ไม่ใช่ครับ ช่วยค้ำประกันให้หนะ พอทำได้ แต่ควรพิจารณาและกลั่นกรองหน่อย ดังนี้

1) ก่อนค้ำประกัน คุณควรเข้าใจก่อนว่า ขอบเขตหรือภาระหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นของกรณีนั้นๆ เป็นเท่าไหร่ และคุณพร้อมรับปัญหานั้นหรือไม่

2) ประเมินดูสิว่า ถ้าเกิดผู้ที่เราไปค้ำให้เกิดปัญหา (มองในแง่ร้ายเอาไว้) คุณรู้สึกอย่างไรที่ต้องไปรับผิดชอบปัญหาแทน แล้วลองถามตัวเองสิว่า ทำไมคุณถึงต้องไปรับรองคนๆนั้น (ค้ำลูกแล้วลูกจ่ายหนี้ไม่ไหว คุณอาจไม่รู้สึกเจ็บใจเท่าค้ำเพื่อนร่วมงาน จริงมั้ย)

3) ดูให้ดีว่า คุณกำลังค้ำประกันในประเด็นอะไร และการค้ำประกันของคุณกำลังสนับสนุนในสิ่งใด เช่น ค้ำประกันเด็กจบใหม่เข้าทำงาน หรือค้ำประกันคนสักคนซื้อหนี้บริโภค (เช่น รถยนต์) ที่ดูแล้วรายได้กับรายจ่ายเขาปริ่มเอามากๆ เพราะลักษณะการค้ำสองอย่างนี้ต่างกันมาก

4) ถ้าตรวจสอบแล้วว่า ไม่พร้อมรับภาระทุกข์ ทั้งในรูปของหนี้ และความทุกข์ใจจากการค้ำประกัน ก็จงอย่าค้ำใครครับ

ครั้งหนึ่งมีคนมาขอให้ผมช่วยเป็นผู้ค้ำประกันซื้อรถยนต์ เขาบอกว่าการมีรถจะช่วยให้เขารับงานได้มากขึ้น แต่ติดว่าเขาไม่มีเงินดาวน์ เลยมาร้องขอให้ผมช่วย

ผมเองบอกเลยว่า เป็นคนที่ไม่ถนัดเลย ในการรับความทุกข์ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ (ชีวิตนี้ค้ำประกันให้ลูกตัวเองเท่านั้นที่รับได้) จึงปฏิเสธไป พร้อมกับสอนว่า

ถ้ารถมันจะช่วยให้เขาทำงานให้มากขึ้น ก็จงขยันและเก็บเงินดาวน์ให้มากพอ (สมัยนั้นดาวน์ 30% ไม่ต้องมีคนค้ำ) แล้วค่อยซื้อ

สุดท้ายเขาหาคนค้ำไม่ได้ และเริ่มเก็บเงินดาวน์ได้เอง โดยไม่ต้องมีคนค้ำ ตอนแรกผมคิดว่าเขาคงจะโกรธที่ผมไม่ช่วย สุดท้ายเขามาขอบคุณผมที่ทำให้เขาเปลี่ยนใจ

ผมบอกเค้าว่า ผมเองก็ซื้อรถแบบเดียวกัน ดาวน์เยอะหน่อย ไม่ต้องมีใครมาค้ำ ทำเองลุยเอง ภูมิใจดี และที่สำคัญ ไม่ต้องติดหนี้ที่ล้างกันทั้งชีวิตก็ไม่หมด พูดทวงกันได้จนวันตาย

หนี้ที่ว่านั้นก็คือ "หนี้บุญคุณ" ครับ

#TheMoneyCoachTH

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0