สัตวแพทย์ เตือน เลี้ยงปลาคาร์ฟ ถ้าไม่อยากเสียใจ อย่าให้คางคกเข้าไปใกล้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ รศ.สัตวแพทย์หญิง(ส.พญ.) นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสต์เฟชบุ๊ก เพื่อเตือน ผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อย โดยระบุว่า
เคสน่าสนใจค่ะ ปลาตัวนี้กินลูกอ๊อดของคางคกเข้าไปหลายตัว มีอาการลอยนิ่งผิดปกติและเสียชีวิตลง … หมอไปไม่ทัน! อุตส่าห์ทำยาล้างพิษสมุนไพรไปให้…เพราะไม่มียาแก้พิษคางคกแผนปัจจุบันค่ะ เลยกลายเป็นต้องพามาผ่าพิสูจน์แทน
แต่ถึงไปทันก็คงรอดยาก เพราะไม่มียาแก้ตรงๆ น่าเสียดายมากค่ะ เธอหนักถึง 7.5 กก. เป็นตัวเมียมีไข่จำนวนมาก แต่ยังไม่ถึงกับเป็นโรคไข่ค้าง กล้ามเนื้อหัวใจดูอ่อนเปลี้ยมาก และมีความผิดปกติของเลือดที่ค้างอยู่ในห้องหัวใจห้องล่าง ไตก็บวม
คนเลี้ยงปลาคาร์พพยายามอย่าให้มีน้องคางคกและครอบครัวอยู่ในบ่อนะคะ ปลาบางตัวแพ้มากก็ไปก่อนค่ะ
รศ.ส.พญ.นันทริกา ให้สัมภาษณ์ว่า คางคกเป็นสัตว์ที่มีพิษอยู่ในตัวเอง คนที่เลี้ยงปลาคาร์ฟ จึงต้องระวังอย่างมากต้องสำรวจรอบบ่อให้ดีว่ามีสัตว์ชนิดนี้หรือไม่ เพราะหากเมื่อใดที่ปล่อยให้คางคกวางไข่ เมื่อไข่กลายเป็นลูกอ๊อด และปลาคาร์ฟกินเข้าไป หากแพ้จะตายทันที ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว พบว่าจะแพ้ สำหรับเคสที่ได้โพสต์ในเฟสบุ๊กนั้น ถือว่าน่าเสียดายอย่างมาก เพราะไปรักษาไม่ทัน เพราะกำลังจะเอารางจืดปั่นไปรักษา โดยการกรอกทางปากปลา เพราะรางจืดมีฤทธิ์ในการกำจัดสารพิษ
“จึงขอเตือนไปยังผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟทั้งหลายว่า หมั่นสำรวจรอบบ่อให้ดี อย่าให้คางคกเข้าใกล้ หรือปล่อยให้คางคกวาสงไข่ในบ่อได้”ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว