โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

โจ สิงห์สังเวียน : มังงะขึ้นหิ้งแนวหมัดมวยที่พลิกโฉมวงการการ์ตูนญี่ปุ่น

Main Stand

อัพเดต 28 มิ.ย. 2563 เวลา 05.56 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • มฤคย์ ตันนิยม

กัปตันสึบาสะ, ปรินซ์ ออฟ เทนนิส หรือ สแลมดังค์ อาจจะเป็นมังงะกีฬาที่ครองใจผู้อ่านมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะคนวัย 30 ปีขึ้น ที่การันตีได้จากยอดขายที่สูงเกินกว่า 60 ล้านฉบับทั้งสิ้น แต่ถ้าย้อนไปไกลว่านั้น คงไม่มีการ์ตูนกีฬาเรื่องไหนจะยิ่งใหญ่ไปกว่า Jo no Ashita หรือ "โจ สิงห์สังเวียน"  

 

มันคือมังงะแนวหมัดมวย ที่เริ่มตีพิมพ์ในช่วงปลายยุค 1960s หรือเกือบ 50 ปีก่อน แต่กลับได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในมังงะตำนานของญี่ปุ่น และครองใจนักอ่านมาจนถึงปัจจุบัน  

อะไรคือเหตุผลนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand  

 

วันพรุ่งนี้ของโจ 

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน แต่ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960s สภาพความเป็นอยู่ของพวกไม่ได้เป็นอย่างทุกวันนี้ เมื่อชาวซามูไรอยู่ในสถานะเพิ่งพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อจะฟื้นฟูประเทศ 

และมันก็ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งต้องเผชิญการทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด ทว่าพวกเขาก็ไม่สามารถจะโต้แย้งอะไรได้ ทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับชะตากรรม 

ความเหน็ดเหนื่อยและความทุกข์ทรมานจากการทำงานหนัก  ทำให้พวกเขาพยายามหาเครื่องบันเทิงเพื่อหลบหนีจากโลกจริง และมังงะที่กำลังเฟื่องฟูในยุคนั้นก็เป็นอุปกรณ์ที่ราคาถูกที่สุด 

Photo : tvtropes.org

Ashita no Joe หรือ"โจ สิงห์สังเวียน" ก็ถือกำเนิดในยุคนั้น มันเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1968 ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ชื่อว่า วีคลี โชเนน แมกกาซีน โดยเป็นผลงานของ เท็ตสึยะ จิบะ ที่เป็นผู้แต่งเรื่อง และ อาซาโนะ ทาคาโมริ ที่เป็นคนวาดภาพ 

โจ สิงห์สังเวียน คือเรื่องราวของ ยาบุกิ โจ เด็กกำพร้าที่หนีออกจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาใช้ชีวิตข้างถนนตั้งแต่เด็ก และต้องใช้ความแข็งแกร่งทางร่างกายเข้าต่อสู้ เพื่อเอาชีวิตรอดในโลกภายนอก

เขาบังเอิญได้พบกับ ดันเป ทันเงะ ชายไร้บ้านขี้เมา ขณะเดินผ่านย่านโดยะ ย่านชุมชนแออัดในกรุงโตเกียว ก่อนที่ทันเงะ ที่เคยเป็นนักมวยมาก่อน แต่ได้รับบาดเจ็บจนต้องแขวนนวม ได้เห็นแววนักสู้ของ โจ ในการต่อสู้กับนักเลงข้างถนน 

และนั่นก็ปลุกไฟในตัวเขาให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง ทันเงะตั้งใจจะปลุกปั้นเด็กคนนี้เป็นยอดมวย แต่โครงการของเขา ต้องถูกเลื่อนออกไป หลัง โจ ไปก่อเรื่องจนถูกจับและส่งเข้าสถานพินิจเยาวชน 

แต่มันก็ทำให้เขาได้เจอกับ โทรุ ริกิชิ อดีตนักมวยอัจฉริยะ และได้ประลองฝีมือกัน แต่สุดท้ายน็อคด้วยกันทั้งคู่ ทำให้ โจ มุ่งมั่นว่าหลังพ้นโทษ เขาจะฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นนักมวยอาชีพ และจะได้สู้กับ ริกิชิ อีกครั้ง 

และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นสู่เป้าหมายแชมป์รุ่นแบนตัมเวทของโจ โดยมี ทันเงะ เป็นครูฝึก และกลายเป็นการผจญภัยในเส้นทางอาชีพ ที่ได้พบเจอกับคู่ต่อสู้ ไปพร้อมกับประสบการณ์มากมาย แม้กระทั่งยกสุดท้ายของชีวิต 

หากมองจากภายนอก มังงะเรื่องนี้ อาจจะดูไม่ต่างจากมังงะแนว "สู้เพื่อฝัน" ทั่วไปในปัจจุบัน เพราะเส้นเรื่องหลัก คือการต่อสู้กับ "อุปสรรค" (คู่ต่อสู้) ของ โจ ที่เข้ามาทดสอบชีวิตของเขา 

แต่เพราะเหตุใด มันถึงได้รับการยกย่องในระดับขึ้นหิ้ง 

 

มังงะวิพากษ์สังคม 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิวัติวงการของ เทสึกะ โอซามุ บรมครูแห่งวงการนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่น มีส่วนสำคัญทำให้วงการมังงะเติบโตอย่างต่อเนื่องในแดนอาทิตย์อุทัย เมื่อหลังจากนั้นมีมังงะมากมาย ที่เดินตามแนวทางที่โอซามุวางไว้ 

Photo : aminoapps.com

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น มังงะ ในสมัยนั้นเป็นเครื่องบันเทิงในการหลบหนีจากการทำงานหนัก ทำให้เนื้อเรื่องส่วนใหญ่โฟกัสอยู่กับเรื่องเหนือจริง สัตว์ประหลาด ไซไฟ หรือเรื่องราวจากโลกอนาคต ดังเช่น เจ้าหนูปรมาณู หรือ Cyborg 009 

อย่างไรก็ดี สำหรับ "โจ สิงห์สังเวียน" พวกเขากลับเลือกแนวทางที่ต่างออกไป เมื่อผู้แต่งได้ใช้ความสมจริงเป็นแกนหลักของเรื่อง เริ่มตั้งแต่ฉากหลังที่มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองโดยะ ซึ่งได้ต้นแบบมาจากย่านซันยะ เขตชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่ที่เขตไทโตะ (เขตเดียวกับวัดเซนโซจิ ย่านอาซาคุสะ) กลางกรุงโตเกียว

อันที่จริง ซันยะ ถือเป็นย่านที่มีมาตั้งแต่ในสมัยเอโดะ โดยเป็นเขตสำหรับคนชนชั้นต่ำสุดของญี่ปุ่นในอดีตที่เรียกว่า ฮินิน (คล้ายกับ จันฑาล ของประเทศอินเดีย) โดยคนเหล่านี้มักจะทำอาชีพผิดบาปอย่างการฆ่าสัตว์ หรือเพชฌฆาตนักโทษประหาร 

แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จึงก่อให้เกิดการหลั่งไหลของแรงงานจากส่วนภูมิภาคสู่เมืองหลวง แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้พวกเขายึดย่านซันยะเป็นที่อยู่อาศัย 

ทำให้ย่านดังกล่าวในยุคนั้น เต็มไปด้วยเหล่าผู้ใช้แรงงานที่อยู่กันอย่างแออัด ห้องพักส่วนใหญ่ดูโกโรโกโส มีไว้เพียงซุกหัวนอนเท่านั้น ในขณะที่ความรุนแรงและอาชญากรรมก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้เป็นเรื่องปกติ

การเลือกใช้เขตซันยะเป็นต้นแบบของผู้แต่ง จึงเป็นการฉายภาพให้เห็นถึงสภาพสังคมญี่ปุ่นในยุคนั้น ว่าไม่ได้ดูสวยงามอย่างที่เห็น ทั้งที่ 4 ปีก่อนหน้านั้นพวกเขาเพิ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1964 อย่างยิ่งใหญ่ไป

นอกจากนี้ การให้ โจ เป็นคนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ ยังสะท้อนให้เห็นชีวิตของคนชายขอบในสังคมญี่ปุ่น 
เมื่อในตอนแรกทั้ง โจ และ ทันเงะ ต่างถูกมองว่าเป็นคนไร้บ้าน หรืออันธพาลข้างถนนที่ไม่มีตัวตนในสังคม

ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้คนชายขอบหลุุดพ้นจากสภาวะเช่นนี้ คือการลุกขึ้นมาสู้เท่านั้น เหมือนกับ โจ ต้องขึ้นเวทีสู้ต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่ามันจะทำให้เขาต้องเจอผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตก็ตาม

Photo : mangakakalot.com

"หลักปฏิบัติของเขาคือ 'utsubeshi' (ต้องสู้)" คาโอริ โชจิ คอลัมน์นิสต์ Japan Times อธิบายในบทความ Gutsy manga classic that pulls no punches 

"ความตั้งใจจริงและวินัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ รวมไปถึงการจับจ้องไปสู่ Ashita (วันพรุ่งนี้) ของเขา คือเสียงกรีดร้องเพื่อยอมรับมันในฐานะทัศนคติและจรรยาบรรณในการทำงานของญี่ปุ่น ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว" 

มันคือการวิพากษ์สังคมญี่ปุ่น และไม่เห็นด้วยกับระบบที่ไม่เป็นธรรมซึ่งรัฐสร้างขึ้น ที่บีบให้คนแบบ โจ มีทางเลือกแค่ไม่กี่อย่างในชีวิต ก่อนที่สุดท้ายมันจะทำให้เขาต้องทุกข์ทรมานจากโรคเมาหมัด (โรคเดียวกับ มูฮัมหมัด อาลี) และพบกับชะตาชีวิตที่น่าเศร้า 

นอกจากนี้ ความพ่ายแพ้ในไฟต์สุดท้าย ต่อ โฮเซ แมนโดซา ที่โจโดนถลุงราวกับกระสอบทราย ยังสื่อให้เห็นถึงความต่างระหว่างชนชั้นแรงงานกับคนทั่วไป ที่ไม่ว่าโจจะพยายามอย่างหนักแค่ไหน แต่เขาก็ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งที่มีทรัพยากรที่เพียบพร้อมกว่า 

แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่ทำให้มังงะเรื่องนี้ได้รับการคารวะ 

 

ตัวแทนการต่อสู้ทางการเมือง 

นอกจากความสมจริงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้"โจ สิงห์สังเวียน" โดดเด่นกว่ามังงะในยุคเดียวกัน หรือแม้กระทั่งยุคต่อมา คือการออกนอกขนบ ทั้งในแง่วิธีการเล่าเรื่อง และตัวตนของตัวละคร

แม้จะเป็นมังงะกีฬา แต่จิบะ และ ทาคาโมริ ใช้เวลาถึง 30 ตอนในปูภูมิหลังของตัวละคร โดยแทบไม่ได้พูดถึงกีฬาชกมวยใน 30 ตอนแรก ที่ทำให้ผู้อ่านดำดิ่งลงไปในโลกของโจ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ในปัจจุบันอาจจะโดนตัดจบไปแล้วก็ได้ 

Photo : jacobpdf.com

นอกจากนี้บุคลิกของ โจ ยังไม่ได้เป็นไปตามสมัยนิยม ซึ่งเป็นคนดีมีคุณธรรมแบบขาวสะอาด แต่กลับอยู่ในขั้วตรงข้าม เมื่อโจ นั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่อง เป็นปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป รวมไปถึงมีความเห็นแก่ตัว และนิสัยชอบใช้ความรุนแรงที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก 

"เขาแตกต่างจากตัวละครหลักในช่วงเวลานั้น โจไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีเลิศในด้านคุณงามความดี แต่ค่อนข้างเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร้อง" นามปากกาที่ชื่อว่า aci_J ระบุในบทความ 50 Years of Yabuki Joe, Working Class Hero

"เขาถูกหล่อหลอมมาจากการเลี้ยงดูสั่งสอนที่ทำให้เขากลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เป็นอันธพาลที่เห็นแก่ตัว บางทีเขาก็พยายามจะเป็นคนที่ดีขึ้น แต่เขาไม่สามารถหนีไปจากตรงนี้" 

อย่างไรก็ดี เขากลับเป็นตัวละครที่กลายเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนอย่างมากในยุคนั้น เพราะมันเป็นเหมือนเครื่องสะท้อนชีวิตมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆ ซึ่งทุกคนต่างมีดีมีเลว แต่ก็มีความคิดที่อยากจะเป็นคนที่ดีกว่านี้ 

"เขาได้รับความนิยมมากว่าพระเอกที่แตะต้องไม่ได้ในช่วงเวลานั้น โจคือตัวแทนในด้านเลวร้ายที่สุดที่เราอาจจะเป็นได้ แต่ในทางเดียวกัน เราก็มีศักยภาพที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นได้" นามปากา aci_J กล่าวต่อ 

ความเป็นมนุษย์ของเขา ทำให้โจ เชื่อมโยงกับผู้คนมากมาย และที่สำคัญตัวตนของเขายังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องปลุกใจของขบวนการนักศึกษา และชนชั้นแรงงานในการประท้วงตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 อีกด้วย 

เนื่องจากในช่วงนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของญี่ปุ่นกำลังเบ่งบาน เมื่อเหล่าผู้คนล้วนได้ออกมาตั้งคำถามกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม การปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการศึกษา รวมไปถึงนโบายป้องกันประเทศ การเข้าควบคุมโอกินาวาของสหรัฐอเมริกา 

ทำให้ ยาบูกิ โจ ที่เติบโตขึ้นมาจากชุมชนแออัด จึงถูกนำมาใช้ในหนึ่งในการประท้วง ในฐานะตัวแทนของชนชั้นแรงงาน ที่ชี้ให้เห็นว่าขนาดโจ ที่เป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง ก็ยังลุกขึ้นมาสู้จวบจนวาระสุดท้าย 

Photo : aminoapps.com

นอกจากนี้ ชะตากรรมของโจ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าตัวเองกำลังต่อสู้และดิ้นรนอยู่ในระบบเดียวกัน ซึ่งเป็นระบบไม่เป็นธรรม และการต่อสู้ของโจก็เป็นเหมือนแสงสว่างของเหล่าเยาวชน ที่หวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของวันพรุ่งนี้ (Ashita) 

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมกลุ่มกองทัพแดง กลุ่มคอมมิวนิสต์ของญี่ปุ่น ที่ก่อเหตุปล้นเครื่องบิน JAL เที่ยวบิน 351 พร้อมจับผู้โดยสารเป็นตัวประกัน เมื่อปี 1970 จึงประกาศว่า "เราคือวันพรุ่งนี้ของโจ" ... เคราะห์ดีที่เหตุดังกล่าวไม่มีผู้เสียชีวิต 

และมันก็ทำให้ โจ สิงห์สังเวียน กลายเป็นมังงะขวัญใจของนักอ่าน ไปพร้อมกับฮีโร่ของชนชั้นแรงงานและขบวนการนักศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว 

อย่างไรก็ดี ความยิ่งใหญ่ของพวกเขาไม่ได้หยุดไว้แค่ยุคนั้น 

 

อิทธิพลต่อการ์ตูนในยุคหลัง 

หลังจากโลดแล่นอยู่ในหน้าแผงหนังสือมานานกว่า 5 ปี โจ สิงห์สังเวียน ก็มาถึงตอนสุดท้ายในวันที่ 13 พฤษภาคม 1973 ทำให้เมื่อรวมเล่มมันมีเพียง 20 เล่มจบเท่านั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปกติของมังงะในยุคนั้น (เจ้าหนูปรมาณู 23 เล่มจบ) 

Photo : indiachan.top

อย่างไรก็ดี มันกลับสร้างปรากฎการณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตอนถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะภาคแรกในปี 1970 ที่ถึงขนาดมีการจัดงานศพในโลกความเป็นจริงให้กับ โทรุ ริกิชิ ที่ถูก โจ ต่อยจนเสียชีวิต 

"มันเป็นวันธรรมดาที่ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์ แต่มีคนมากมายอยู่ที่นั้น ทั้งเด็กประถม เด็กมหาวิทยาลัย พนักงานบริษัท หรือแม้แต่ข้าราชการ" เว็บไซต์ ashita no tameni แฟนไซต์ของเรื่องนี้บรรยายถึงงานศพในปี 1970 

"ในงานศพมีการวางรูปที่ระลึกของเขาไว้ ผู้ร่วมงามต่างมาจุดธูปและมีการนำพระมาสวด ฮิโด อิซาโอะ ที่เป็นคนร้องเพลงเปิดให้อนิเมะที่จะออนแอร์ในเดือนหน้า (ซีซั่น 2) ทำท่าต่อสู้กับนักมวยจริงๆ และร้องเพลงเปิดอย่างกระตือรือร้น" 

"หลังจากนับ 10 ท่ามกลางความสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย ความรู้สึกของ เทระยามะ ชูจิ (คนร้องเพลงเปิดภาคแรก) ที่บอกว่า 'ริกิชิ โทรุ นายคือวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้ของโจ กลายเป็นความชัดเจน'" 

แน่นอนว่าหากมองจากคนภายนอก มันคือการประชาสัมพันธ์อนิเมะเรื่องนี้ที่กำลังจะออนแอร์ แต่การหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายของผู้คน จนมากเกินกว่าที่คาดไว้ คือข้อพิสูจน์ว่าผู้คนรักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาแค่ไหน 

หรือการตายของโจพร้อมกับใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่เป็นจุดจบของเรื่องนี้ ก็ได้รับการยกย่องในฐานะจิตสำนึกของความเป็นญี่ปุ่น (สู้จนตัวตาย) ก่อนที่มันจะกลายเป็นตอนจบที่ทรงพลังที่สุดในวงการการ์ตูนญี่ปุ่นจวบจนปัจจุบัน  แม้ว่าที่จริงผู้เขียนไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้ก็ตาม 

"ตอนที่ผมวาดฉากสุดท้าย ผมไม่ได้คิดเลยว่าจะให้โจตาย ผมแค่อยากแสดงให้เห็นว่าเขาใช้พลังชีวิต และความตั้งใจทั้งหมดที่มี ผมอยากจะวาดฉากที่แสดงให้เห็นถึงการบรรลุผล ตอนที่เราจบเรื่องนี้ ผมรู้สึกถึงความสำเร็จ และความพอใจที่คิดว่า 'มันต้องเป็นแบบนี้'" จิบะ ผู้แต่งเรื่องให้สัมภาษณ์กับ MSN

ในขณะเดียวกัน มันยังส่งอิทธิพลต่อมังงะหรืออนิเมะแนวหมัดมวยในยุคหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Hajime no Ippo หรือ"ก้าวแรกสู่สังเวียน" ในชื่อภาษาไทย ที่หลายฉาก หลายเหตุการณ์ ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจาก โจ สิงห์สังเวียน

เช่นเดียวกับอนิเมะ Megalobox อนิเมะขนาด 13 ตอนจบ ที่ออนแอร์ในช่วงปี 2018 ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่อง "โจ สิงห์สังเวียน" และถูกสร้างเป็นเกียรติในฐานะครอบรอบ 50 ปีของมังงะเรื่องนี้อีกด้วย

"เส้นทางของตัวละครใน Ashita no Joe มันน่าทึ่ง ผมเชื่อว่าเป็นหนึ่งในแกนหลักของเรื่องนี้คือ 'เส้นทางชีวิตของพวกเขา' คล้ายกับ MEGALOBOX ที่มีแก่นเรื่องคือ สำหรับ 'คนที่ใช้ชีวิต' ที่เป็นแกนกลางของเรื่อง" โย โมริยามะ ผู้กำกับ MEGALOBOX กล่าว
และไม่ใช่มังงะแนวชกมวยเท่านั้น เมื่อตัวตนของโจ ยังไปปรากฏในการ์ตูนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Bakuman ที่ โมริทากะ มาชิโระ หนึ่งในตัวเอกบอกว่ามังงะเรื่องนี้คือมังงะในดวงใจของเขา หรือในเรื่อง 20th Century Boy ตอนที่ เคนจิ เอ็นโด กำลังผ่านแดน เขาแนะนำตัวต่อตำรวจว่าชื่อว่า ยาบูกิ โจ

ยังไม่รวมถึงมังงะมากมายในปัจจุบัน ที่นำฉากจากเรื่อง โจ สิงห์สังเวียน ไปอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ยอดนักปรุงโซมะ, อภินิหารหุ่นทะลวงสวรรค์, Kill la Kill, โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษ, เบอร์เซิร์ก หรือแม้กระทั่ง Great Teacher Onizuka 

มันคือข้อพิสูจน์ถึงการได้รับการยอมรับในฐานะมังงะระดับตำนานของการ์ตูนเรื่องนี้ ทั้งในฐานะเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม และกระจกสะท้อนในสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นไม่ค่อยพูดถึง หรือไม่อยากพูดถึง 

เห็นได้จากย่านซันยะ ที่เป็นต้นแบบของย่านโดยะ ยังเป็นดินแดนลับแล ซึ่งญี่ปุ่นพยายามลบออกจากแผนที่ (หากค้น Google Map จะไม่เจอ) และไม่อยากให้ต่างชาติหรือภายนอกได้รับรู้ แต่การมีอยู่ของมังงะเรื่องนี้ได้กลายเป็นหลักฐานว่ามันมีอยู่จริง และคนที่มีชีวิตอย่างยากลำบากเหมือนโจ ก็ยังคงมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แม้กระทั่งในปัจจุบัน  

มันจึงทำให้ "โจ สิงห์สังเวียน" กลายเป็นมังงะร่วมสมัยทรงคุณค่าตลอดกาล และทำให้ ยาบูกิ โจ ที่ไม่ใช่ฮีโร่โดยสมบูรณ์ ยังคงเป็นฮีโร่ของใครหลายคน แม้เวลาจะผ่านมานานกว่า 50 ปี 

 

แหล่งอ้างอิง 

https://www.japantimes.co.jp/life/2002/03/08/language/gutsy-manga-classic-that-pulls-no-punches/#.XvBSaaZS8kI 
https://aminoapps.com/c/anime/page/blog/a-true-icon-of-japanese-popular-culture-ashita-no-joe-pt-1-no-spoilers/66tz_uKoo5WQLWK1dzjbvaDK7qm26Z 
https://www.quora.com/Which-one-is-historically-more-important-Ashita-no-Joe-or-Captain-Tsubasa 
https://jacobpdf.com/2018/04/08/joes-world/ 
https://jacobpdf.com/2018/12/08/50-years-of-yabuki-joe-working-class-hero/ 
https://jacobpdf.com/2018/04/22/the-tragedy-of-yabuki-joe/ 
https://jacobpdf.com/2018/04/29/joe-forever-the-legacy-of-ashita-no-joe/ 
https://demoentertainment.com/the-most-underrated-show-that-changed-the-anime-industry/ 
https://www.manga-audition.com/tetsuya-chiba-interview/ 
https://www.city-cost.com/th/blogs/City-Cost/GQydG-news
https://thematter.co/entertainment/brief-history-of-manga/20812 
https://www.facebook.com/2178609179035447/photos/a.2410597672503262/2223663167863381/?type=3 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0