โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เนี่ยอูเซ็ง-กิมย้ง-โกวเล้ง ผู้สร้าง “ยุคทอง” นิยายกำลังภายใน เหล่าจอมยุทธ์นับพัน

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 27 มิ.ย. 2564 เวลา 07.46 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2564 เวลา 07.43 น.
กำลังภายใน กังฟู จีน ต่อสู้
ภาพจำลองจากปก “โลกหนังสือ” ตุลาคม 2520

“นิยายกำลังภายใน” เป็นเอกลักษณ์ทางวรรณกรรมของจีน เพราะชาติอื่นไม่มีวรรณกรรมชนิดนี้เลย ภาษาจีนเรียกว่า “บู๊เฮี๊ยบเสียวสวยะ” ขณะที่ภาษาไทยในยุคแรกเรียกว่า วีรธรรมยุทธนิยาย, ยุทธนิยาย และนิยายกำลังภายใน

เหง่ยคัง อธิบายว่านิยายกำลังภายในต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ 1. ต้องมีบู๊ คือการต่อสู้ ด้วยวิชา หรือวิทยายุทธ์ของสำนักต่าง ๆ ทั้งเพลงกระบี่, เพลงมวย, อาวุธลับ และค่ายกลต่าง ๆ 2. ต้องมีเฮี๊ยบ คือความกล้าหาญ ผดุงคุณธรรม ขจัดคนพาลอภิบาลคนดี และพลีชีพเพื่อชาติ

ย้อนอดีตกลับในยุคแรก ๆ ของนิยายประเภทนี้ แบ่งได้เป็น 4 ยุค คือ 1. ราชวงศ์ฉินและฮั่น จนถึงราชวงศ์ถังสุยและถัง 2. ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง 3. นิยายกำลังภายในแบบเก่า 4. นิยายกำลังภายในแบบใหม่ (ยุคที่ 1-3 ค่อนข้างไกลตัวขออธิบายเพียงสังเขป)

โดยในยุคที่ 1 และยุคที่ 2 นั้นวิทยายุทธ์การต่อสู้ต่าง ๆ ยังไม่มีเรื่องของ “กำลังภายใน” และ “ลมปราณ” จึงเรียกว่า “วีรธรรมยุทธนิยาย” หรือ “ยุทธนิยาย” เช่น หงเสี้ยนจ้วง สมัยราชวงศ์ถัง, สามก๊ก ไซอิ๊ว ซ้องกั๋ง (ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน) สมัยราชวงศ์หมิง, เฉียนหลงประพาศเจียงหนาน, เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม (ตอนหนึ่งของการชำระคดีของเปาบุ้นจิ้น) สมัยราชวงศ์ชิง เป็นต้น

3. นิยายกำลังภายในแบบเก่า เริ่มต้นในยุคสาธารณรัฐ ประมาณปี 2459 โดยเรื่อง กังโอ๊วขี่เฮี๊ยบตึ่ง (จอมยุทธ์ประหลาดแห่งยุทธจักร) ของแพกังปุ๊กเซียว ที่ถือเป็นนิยายกำลังภายในแบบเก่าเรื่องแรก ส่วนนิยายเรื่องในยุคนี้ก็มี ขบวนการเปาเปียว, จอมกระบี่แห่งภูเสฉวน ฯลฯ [แม้ยุคนี้จะเรียกว่า “นิยายกำลังภายใน” แต่ยังไม่มีการใช้กำลังภายในและลมปราณ]

4. นิยายกำลังภายในแบบใหม่ เริ่มขึ้นที่ฮ่องกง หลังปี 2493 ใช้เวลาไม่นานก็แพร่หลาย ได้รับความนิยมจากชาวจีนทั่วโลก ยกเว้นประเทศจีนที่มองว่าเป็นวรรณกรรมมอมเมาประชาชน จนหมดสมัย “แก๊ง 4 คน” จึงเป็นที่แพร่หลาย

นิยายกำลังภายในแบบใหม่ต่างไปจากนิยายกำลังภายในแบบเก่า ดังนี้ 1) แนวคิดวีรธรรม เป็นเรื่องเพื่อชาติ, ประชาชน และความดีงามของมนุษย์ [แต่แบบเเก่าและโบราณ จงรักภักดีต่อราชสำนักมากกว่าประชาชน] 2) วิทยายุทธ์ สมจริงในเชิงศิลปะ ไม่มีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์หรือเวทมนต์คาถา ที่สำคัญคือมีเรื่อง กำลังภายใน, ลมปราณ, อาวุธ, เพลงมวย ฯลฯ ที่พิศดารลึกล้ำ

3) เนื้อเรื่อง ไม่วนเวียนแต่การแก่งแย่งระหว่างสำนัก, แก้เค้นในยุทธภพ, ต่อสู้ด้วยอิทธิฤทธิ์ แต่แทรกเรื่องของผู้คน, สังคมปัจจุบันเข้าไปในนิยาย 4) ตัวละคร สมจริง น่าสนใจ มีเลือดเนื้ออารมณ์ ทำให้ชวนติดตาม [นิยายแบบก่าและโบราณ เน้นที่เนื้อเรื่อง ตัวละครเป็นแค่ผู้สร้างเหตุการณ์เท่านั้น] 5) การประพันธ์ ตามแบบนวนิยาย ทำให้โครงเรื่องกระชับ สมเหตุผล ดำเนินเรื่องน่าติดตาม

นักเขียนนิยายกำลังในคนสำคัญในยุคนี้มีใครบ้าง

เนี่ยอูเซ็ง ที่ได้รับยกย่องว่า “บูรพาจารย์นิยายกำลังภายใน (ยุคใหม่)” จากผลงานเรื่อง “นางพญาผมขาว” ที่ถือเป็นนิยายกำลังภายในยุคใหม่เรื่องแรกอย่างแท้จริง งานของเนี่ยอูเซ็งทุกเรื่องต้องมีเหตุการณ์และบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เกี่ยวข้อง จึงสะท้อนศิลปวัฒนธรรมจีนได้ดีเยี่ยม ได้รับยกย่องว่าเป็นงานระดับคลาสสิก แต่ผู้อ่านต้องมีพื้นความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม, อุดมคติ และประวัติศาสตร์จีนอยู่บ้าง จึงจะอ่านสนุก

ผลงานทั้งหมด 35 เรื่องของเนี่ยอูเซ็งเป็นที่ยอมรับในงานวรรณกรรมรับนานาชาติ หนังสือของเขาเกือบทุกเล่ม จึงมีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่แปลเป็นภาษาไทย เช่น รอยแหนเงาจอมยุทธ์, เจ็ดนักกระบี่ (แห่งเทียนซาน) ฯลฯ

กิมย้ง ได้สมญา “ประมุขแห่งยุทธภพนิยายกำลังภายใน” ขณะที่เนี่ยอูเซ็งรักษาขนบและคติแบบจีนไว้แบบแยบยล กิมย้งกลับตัดละทิ้งเกือบทั้งหมด งานของเขาเข้าสู่ความเป็นสากลของมนุษยชาติสะท้อนสังคมแม้จะมีประวัติศาสตร์เป็นภูมิหลัง แต่ให้น้ำหนักกับตัวละครที่สมมติขึ้นมากกว่า มีการหักมุม สร้างปมปัญหา และความโรแมนติก กิมย้งใช้ภาษาสามัญ (ไป๋ฮว่าเหวิน) ผสมกับสำนวนนิยายรุ่นเก่า จึงเข้าใจง่าย ชวนอ่าน และนำร้อยกรองร้อยแก้วโบราณมาใช้ในงานของเขาได้อย่างลงตัว

กิมย้งแต่นิยายเรื่องแรก “จอมใจจอมยุทธ์” ปี 2498 และเรื่องสุดท้าย “อุ้ยเสี่ยวป้อ” ปี 2513 รวมผลงานทั้งหมด 15 เรื่อง ได้แก่ ดาบมังกรหยก, เอี้ยก้วยเจ้าอินทรี, กระบี่เย้ยยุทธจักร เป็นต้น นอกจากนี้ งานของกิมย้งทุกเรื่องจะมีการปรับปรุงเพื่อแก้ข้อบกพร่อง เรื่องมังกรหยกทุกภาคจึงมีฉบับเดิม และฉบับแก้ไขปรับปรุง ปัจจุบันงานของกิมย้งได้รับยกย่องเป็นงานระดับคลาสสิก การศึกษางานของกิมย้งกลายเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งของวรรณคดีจีนเรียกว่า “กิมย้งศึกษา”

โกวเล้ง นักเขียนจากไต้หวัน แจ้งเกิดที่หลังแต่สร้างผลงานได้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้แต่กิมย้งก็ยังซื้อนิยายของโกวเล้งมาตีพิมพ์ในวารสารและหนังสือพิมพ์ที่เขาเป็นเจ้าของอยู่เป็นประจำ โกวเล้งมีผลงานกว่า 100 เล่ม โดยผลงานที่สร้างชื่อและเป็นที่รู้จัก ได้แก่ ฤทธิ์มีดสั้น, ชุดดเล็กเซี่ยวหงส์, ชุดชอลิ้มเฮียง, ลูกปลาน้อยเสี่ยวฮื้อยี่ ฯลฯ

งานของโกวเล้งจะเน้นความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือตัวละครเองเป็นสำคัญ ซึ่งต่างกับงานของเนี่ยอูเซ็งหรือกิมย้งที่แสดงความขัดแย้งระหว่างเผ่าพันธุ์, ความขัดแย้งของส่วนรวม โกวเล้งกลับเลือกวางประเด็นใหญ่ลงมาเขียนเรื่องของปัจเจกชน ตามแบบตะวันตก งานของโกวเล้งหลายเรื่องก็มีเค้าโครงจากนิยายฝรั่ง เช่น ชุดชอลิ้วเฮียง-เชอร์ล็อก โฮล์มส์, เพชฌฆาตดาวตก-เดอะ ก๊อดฟารเธอร์, นักสู้ผู้พิชิต-ดิ โอลด์แมน แอน์ เดอะ ซี ฯลฯ

ตั้งแต่ปี 2515-2528 กระแสนิยมนิยามกำลังภายในเริ่มลดลง เนื่องจากกิมย้งเลิกเขียน (ปี 2515) เนี่ยอูเซ็งเลิกเขียน (ปี 2527) และโกวเล้งเสียชีวิตปี 2528 ภายหลังจึงเกิดนักเขียนหน้าใหม่ที่มาเลเซียชื่อ “อุงสุ่ยอัง”

อุงสุ่ยอัง ผู้รวมเอาข้อดีของกิมย้งและโกวเล้ง โดยวางโครงเรื่องกระชับ, สร้างจอมยุทธ์ผู้ว้าเหว่, ใช้ประโยคสั้น ๆ และเนื้อเรื่องซับซ้อนแบบโกวเล้ง แต่กลับบรรยายวิทยายุทธ์ชัดเจนประณีตแบบกิมย้ง มาใช้สร้างงานอย่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ผลงานของเขาที่แปลเป็นภาษาไทย เช่น กวีในดงดาบ, สี่ยอดมือปราบ, ชุดศัสตราวุธของอุงสุ่ยอัง (ดาบเสียดฟ้า, กระบี่เลือดเดือด, ทวนทะลวงศึก) ฯลฯ

ฝีมือและคุณภาพ เนี่ยอูเซ็ง, กิมย้ง, โก้วเล้ง และอุงสุ่ยอัง ได้รับการยกย่องว่า “ท้าวจตุโลกบาลของโลกนิยายกำลังภายใน”

หลังจากนั้นก็มีนักเขียนรุ่นใหม่เกิดขึ้น ที่มีชื่อและผลงานแพร่หลายคนหนึ่งก็คือ “หวงอี้” ที่เอาเรื่องดาราศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และเหตุการณ์ปลายราชวงศ์หมิงมาเขียนเรื่อง “เจาะเวลาหาจิ๋นซี” หรืออีกเล่มที่ขายดีอย่าง“มังกรคู่สู้สิบทิศ”

ยังมีนักเขียนมีชื่ออีกหลายคน เช่น เหง่ยคัง ที่เขียน จ้าวนักสู้, พิณฑิฆาต ฯลฯ อ้อเล่งเซ็ง ที่เขียน หงส์ฟ้าประกาศิต, กระบี่ล้างแค้น, มือมัจจุราช ฯลฯ

นิยายกำลังภายในไทยได้ต้องยกความดีนี้ให้ผู้แปลด้วย โดยกำเนิดในไทยอย่างเป็นทางการเมือง เมื่อสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ จัดพิมพ์ “มังกรหยก” ที่จำลอง พิศนาคะ แปลตีพิมพ์ (ปี 2501) จำลองยังเป็นผู้บัญญัติคำว่า “กำลังภายใน” ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นก็มีนักแปลกำลังภายในเกิดขึ้นอีกหลายคน เช่น ว. ณ เมืองลุง, น. นพรัตน์, คนบ้านเพ ฯลฯ

ระหว่างปี 2501-2520 มีการพิมพ์นิยายกำลังภายมากกว่า 300 เรื่อง โดยปี 2516 เป็นปีที่ทียอดพิมพ์สูงสุดถึง 35 เรื่อง สถิติร้านเช่าหนังสือใหญ่ย่านบางลำพูอย่างหรรษา และชื่นชมสาส์น ช่วงทศวรรษ 2510 มีผู้เช่าอ่านไม่ตำกว่า 100 เล่ม/วัน ขณะที่หนังสืออื่นมีผู้เช่าไม่เกิน 30 เล่ม/วัน ผู้เช่าส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นอีกช่วงหนึ่งที่นิยายกำลังภายในได้รับความนิยมสูงสุด เมื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเดลินิวส์ นำนิยายจีนมาตีพิมพ์

นอกจากนี้ยังมี “นิยายกำลังภายใน (ฉบับไทยประดิษฐ์)” อย่าง “เจ็งฮองเฮา” และ “ชั่นบ้อเหมา” ที่ ป.ร. (ประกอบ โชประการ) นักเขียนที่มีความรู้เรื่องจีนดี เขียนเลียนแบบเรื่องอิงพงศาวดารจีน จนผู้อ่านจะคิดว่าเป็นเรื่องแปลจากภาษาจีน

 

ข้อมูลจาก

ถาวร สิกขโกศล. สกัดจุดยุทธจักรมังกรหยก, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์ พิมพ์ครั้งที่ 3 มีนาคม 2543

กิตติพิรุณ. “เส้นทางของนิยายจีนกำลังภายใน : จากแผ่นดินใหญ่สู่แผ่นดินไทย” ใน, 60 ปี น.นพรัตน์ เจิดจรัสรัศมีมิเสื่อมคลาย, สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์, ตุลาคม 2553

น.นพรัตน์. 25 ปี โกวเล้ง มังกรเมรัย, สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์, ตุลาคม 2553

วิเวก เอกดำรง. บทวิเคราะห์เส้นทางของนวนิยาย‘กำลังภายใน’ ใน, โลกหนังสือ ฉบับเดือนธันวาคม 2522

สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์. “อ่าน  ‘นิยายกำลังภายใน’ ในฐานะ ‘วรรณกรรมการเมือง’”ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2554

เถกิง พันธุ์เถกิงอมร. “เรื่องจีน : พัฒนการ บทบาท และอทธิพลในไทย” ใน, วิชชา ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 (มิถุนายน 25028) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มิถุนายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0