อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยากรผู้บรรยายหัวข้อ "จริยธรรมการวิจัยในยุคประเทศไทย 4.0" Section 2 : ด้านการวิจัยในสัตว์ทดลอง จุลชีพ และพืช ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการติดอาวุธนักวิจัยรุ่นใหม่ ผ่าน Multi Mentoring System" ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดโดย กองบริหารงานวิจัย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการทำวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยารักษาโรค จำเป็นต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ และในสัตว์ทดลอง ก่อนนำไปใช้กับมนุษย์ ซึ่งการใช้สัตว์ทดลองนั้นจะต้องเป็นไปตามหลัก 3Rs คือ Replacement ให้พยายามใช้วิธีการอื่นแทนการใช้สัตว์ทดลอง Refinement การใช้สัตว์ทดลองอย่างมีเมตตาธรรม และ Reduction การใช้สัตว์ทดลองแต่เท่าที่จำเป็น ซึ่งหากได้ทำตามหลักปฏิบัติ นอกจากจะได้ผลการวิจัยที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้ผู้ใช้ผลงานเกิดความเชื่อมั่น และมีความปลอดภัยอีกด้วย
ปัจจุบันเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงได้มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ห้องปฏิบัติการจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) หรือ "Sim Lab" จะสามารถลดการใช้สัตว์ทดลอง โดยที่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มใช้การเรียนการสอนแบบ Sim Lab ที่ภาควิชาสรีรวิทยา โดย รองศาสตราจารย์ บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา ผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศของคณะฯ ได้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของคณะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อศึกษาการหดตัวของกล้ามเนื้อน่องกบ และการเคลื่อนไหวของกระต่าย ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูโครงสร้างและความเชื่อมโยงการทำงานของร่างกาย
รองศาสตราจารย์ บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มี Sim Lab นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์จะต้องเรียนพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการจาก "Lab Dog" ซึ่งใช้สัตว์จริงในการทดลอง โดยต้องใช้เวลาในการเตรียมสัตว์เพื่อใช้ในการทดลอง และต้องทำในเวลาอันจำกัด ตนจึงได้พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab ขึ้น ซึ่งสามารถลดอุปสรรคจากข้อจำกัดทางจริยธรรม และต่อยอดเพื่อเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวรวรรณ กิจผาติ หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางภาควิชาฯ มีนโยบายหลักในการเป็น "Student Center" ที่จัดการเรียนการสอนโดยให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบ Sim Lab ดังกล่าวจะมีการประเมินเพื่อปรับการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการตรวจสอบความพึงพอใจ และความเข้าใจของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง พบว่าส่วนใหญ่มีความพึงพอใจ และมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 ซึ่งเคล็ดลับการเรียนการสอนแบบ Sim Lab อยู่ที่การมีวินัยของผู้เรียน ที่ต้องศึกษา ทบทวน และฝึกฝนปฏิบัติอยู่เสมอ และเป็นความท้าทายสำหรับผู้สอนที่จะต้องปรับการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยสามารถลดจำนวนการใช้สัตว์ทดลองได้ด้วยในขณะเดียวกัน แล็บอื่นที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพื่อเป็นแนวทางได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/labphysio
ความเห็น 0