200 ล้านซื้ออนาคต! ลดค่าผลิตยารักษามะเร็ง2 แสนเหลือ2 หมื่น! ทรมานกายและกระเป๋าตังค์น้อยลง!
จากกระแสโซเชียลมาแรงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อหมอจุฬาฯ ขอคนไทยคนละ 5 บาท สำหรับวิจัยและผลิตยารักษามะเร็งแบบภูมิต้านทานบำบัด (ยาแอนติบอดี) ได้กลายเป็นไวรัลทางการแพทย์ที่ทรงพลังสูงสุด นำโดย อ.นพ.ไตรรักษ์พิสิษฐ์กุลหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์หลังชาวเน็ตแชร์ข่าวนี้กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ยอดบริจาคพุ่งสูงเกินคาดกว่า 100 ล้านบาท
ณ เวลานี้ ทีมหมอจุฬาฯ คือ ความหวังของหมู่บ้าน! ที่แท้จริง
จริงๆ แล้ว ต้องขอขอบคุณนักข่าวที่ทำให้เกิดไวรัลระดมทุนคนละ 5 บาทนี้ขึ้น เนื่องจากตอนแรกทีมวิจัยของเรามีเป้าหมายที่จะต้องใช้เงินทุนประมาณ 200 กว่าล้าน เพื่อต่อยอดต้นแบบยาแอนติบอดีที่ได้จากสัตว์ทดลอง ไปสู่การพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับเซลล์มนุษย์และนำเข้าผลิตในโรงงานต่อไป นักข่าวจึงเกิดไอเดียว่า หากคิดจากจำนวนคนไทยที่มีรายได้ประมาณ 40 ล้านคน ก็เท่ากับว่า ช่วยกันคนละ 5 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้เป้าหมายของเรามีความเป็นไปได้จริงยิ่งขึ้น
จนถึงตอนนี้กระแสตอบรับก็เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด ต้องขอขอบคุณสื่อมวลชนและประชาชนที่เห็นถึงความสำคัญของโครงการนี้ร่วมกัน ทีมของเราก็จะทำให้เต็มที่เช่นเดียวกันครับ
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ยานี้ไม่ใช่ยาใหม่ แต่เป็นยาประเภทไบโอโลจิกส์ (Biologics) หรือยาที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตที่ใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ และมีการนำเข้ามาใช้ในไทยแล้วในราคาที่สูงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงได้
งานวิจัยของกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ ของเรา จึงเป็นการวิจัยต่อยอดจากการค้นพบกลไกภูมิต้านทานมะเร็งของร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นรางวัลโนเบลของคุณหมอชาวญี่ปุ่น สำหรับยาแอนติบอดี ที่เรากำลังพัฒนาอยู่นี้ คือ วิถีธรรมชาติ ไม่ใช่สารเคมี แต่เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาว “ฆ่าเซลล์มะเร็ง” ได้ด้วยตัวเอง หรือเรียกได้ว่า ให้ระบบร่างกายรักษาตัวเอง ไม่ทำลายเซลล์ดีของร่างกาย ไม่ต้องใช้สารเคมีเหมือนการทำคีโม หรือการฉายรังสี ซึ่งวิธีเดิมเช่นนี้มักทำให้ร่างกายผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานอย่างมาก
ต้องบอกเลยว่า ยาแอนติบอดี ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ไม่ใช่การป้องกันโรคมะเร็งครับ
แต่ถ้าถามว่าจะ “หายขาด” ไหม? อาจพูดได้ยาก เพราะต้องติดตามผลในระยะยาว ขอใช้คำว่า “ควบคุมโรคได้” แล้วกันครับ อย่างเช่น ถ้าหากไม่ได้ยาตัวนี้ คนไข้จะเสียชีวิต แบบนี้เรียกว่า ยาแอนติบอดีสามารถควบคุมโรคมะเร็งได้
ยานี้สามารถใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งวิธีอื่นๆ และยังใช้สำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานอื่นๆ แล้วไม่ได้ผลอีกด้วย โดยจะมีอัตราการควบคุมโรคในกรณีหลังได้ประมาณ 20-30% ยังไม่สามารถควบคุมได้ 100% ขณะนี้ทั่วโลกก็กำลังพัฒนาต่อยอดให้ตัวยามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ชนะมะเร็งได้ในอนาคต
ทั้งนี้ ชนิดของมะเร็ง ก็เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาด้วยยาแอนติบอดีด้วย ยิ่งเป็นเซลล์มะเร็งที่มีอัตราการกลายพันธุ์สูง อย่างมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด ก็จะยิ่งมีโอกาสตอบสนองยาแอนติบอดีได้ดีมากขึ้น
จากกระแสข่าวที่ออกไป อาจทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า คนไทยจะได้ใช้ยาแอนติบอดีอย่างแพร่หลายในอีก 4-5 ปีนี้ แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่ครับ!
เพราะกว่าที่ ยาฯ จะเข้าถึงคนไทยทุกระดับ ต้องใช้เวลาอีก 10 ปี อาจจะดูเหมือนต้องรออีกยาวนานพอสมควร แต่ถ้าไม่เริ่มวันนี้ ก็ไม่รู้จะเริ่มวันไหน หากจะให้อธิบายเป็นแผนที่ชัดเจนนั้น เราแบ่งการดำเนินงานในโครงการวิจัยนี้ ออกเป็น 5 เฟสด้วยกัน
เฟสแรก เราทำสำเร็จแล้วด้วยทุนวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กว่า 100 ล้านบาท เป็นการสร้างต้นแบบของยาแอนติบอดีซึ่งได้จากเซลล์ของหนูทดลองที่มีการสร้างภูมิต้านทานต่อโรคมะเร็งขึ้นมาหลังได้รับการกระตุ้น เฟสที่2 เป็นการพัฒนาเซลล์ต้นแบบนี้ให้มีความเหมาะสมกับเซลล์มนุษย์ ต้องใช้เงินทุนอีก 10 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 1 ปี จึงจะสามารถนำเข้าผลิตในโรงงาน ซึ่งเป็นเฟสที่3 โดยต้องใช้เงินทุนอีกกว่า 200 ล้านบาท และใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง
สำหรับในเฟสที่4 จะนำยาที่ได้จากโรงงานมาฉีดในสัตว์ทดลอง ได้แก่ หนูและลิง ที่เป็นมะเร็ง เพื่อทดสอบผลข้างเคียงต่างๆ จนกระทั่งในเฟสที่5 ซึ่งเป็นเฟสสุดท้ายนั้น จะได้ตัวยาที่สามารถใช้จริงในมนุษย์ โดยให้กับผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นอาสาสมัครประมาณ 300-400 คนก่อน เพื่อเก็บข้อมูลทางคลินิกและติดตามผลการรักษาอีก 4-5 ปี ถ้ารวมระยะเวลาของแผนงานนี้ ก็คงไม่ต่ำกว่า 7 ปี แต่หากประเมินถึงความเป็นไปได้ที่คนไทยจะได้ใช้จริง น่าจะอยู่ประมาณ 10 ปีนับจากนี้
อย่างที่แจ้งว่า เราลงทุนไป 100 ล้านจากเงินของจุฬาฯ เอง ซึ่งสามารถสร้างต้นแบบยาในเฟสที่ 1 สำเร็จแล้ว แต่การจะเดินหน้าต่อที่จะต้องใช้เงินอีกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่เกิดขึ้นจริงถ้าใช้วิธีการขอทุนวิจัยแบบเดิม การเปิดรับบริจาคจากประชาชน จึงเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อผลักดันให้เป้าหมายระยะสั้นคือเฟสที่ 2 และ 3 สามารถเดินต่อไปได้
สำหรับเงินกว่า 200 ล้านบาทที่จะได้รับจากประชาชนคนไทยนั้น จะถูกนำไปใช้เป็นต้นทุนของการผลิตยา ต้นทุนนี้ก็จะรวมถึงค่าเทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่ ตัวยาเป็นสิ่งมีชีวิต ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่จะผลิตได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุดของโครงการวิจัยและผลิตยาแอนติบอดี ส่วนที่เหลือก็จะเป็นต้นทุนค่าสาธารณูปโภค ค่าการบริหารจัดการ และค่าทรัพยากรคน ซึ่งไม่ได้มีการบวกกำไรใดๆ
หลายคนสงสัยว่าบริษัทยาจะเข้ามาหาผลประโยชน์จากการผลิตและจัดจำหน่ายยาแอนติบอดีไหม? ขอยืนยันว่า เป้าหมายของเราคือ ประโยชน์ของประชาชน เมื่อโครงการนี้สำเร็จ ยาแอนติบอดี ก็จะเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเราจะมอบหมายให้สภากาชาดไทย เป็นผู้แจกจ่าย เพื่อให้ยาแอนติบอดี สามารถเข้าถึงประชาชนทุกระดับอย่างแท้จริง
การทำให้ยาแอนติบอดีรักษามะเร็งราคาหลอดละ 2 แสน เหลือแค่ 2 หมื่น เป็นเป้าหมายของเรา ซึ่งเป็นราคาที่เข้าใกล้ต้นทุนมากที่สุด เรียกได้ว่า เป็นการตั้งเป้าหมายให้ราคายาถูกลงกว่าเดิม 10 เท่า เพื่อให้เป็นราคาที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด ปัจจัยที่ทำให้ราคาถูกลงได้ขนาดนี้ เป็นเพราะเงินลงทุนมาจากประชาชน ไม่ได้มีบริษัทแสวงหากำไรเข้ามาลงทุน ก็ไม่ต้องมีการบวกกำไร ไม่ต้องบวกราคาขาย ราคาจึงเข้าใกล้ต้นทุนมากที่สุด เงินที่ลงทุนไปทั้งหมด คือการคืนสู่สังคม ก็หวังว่า จะให้โครงการนี้เป็นโครงการของคนไทยทุกคนครับ
เหตุผลที่การใช้ยาแอนติบอดีเพื่อรักษามะเร็งในหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล เพราะวิธีนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เกินกว่าที่คนไทยส่วนใหญ่จะรับไหว หากจะเทียบความคุ้มค่าของการทำคีโมหรือฉายแสงเพื่อรักษามะเร็งต่อไปเรื่อยๆ กับการใช้ยาแอนติบอดีในแต่ละครั้ง แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายของยาแอนติบอดีแพงกว่าหลายเท่า แต่มันเทียบกันไม่ได้เลยกับความคุ้มค่าของการรักษา เพราะต่อให้ค่าใช้จ่ายของการทำคีโมหรือฉายแสงต่อเนื่องจะถูกกว่ากันมาก แต่มะเร็งไม่ได้หาย คนไข้ไม่ได้ดีขึ้น เราก็ต้องหาทางออกด้วยวิธีใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ดังนั้นการที่เราสามารถผลิตยาได้เอง ซึ่งทำให้ยาราคาถูกลง ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดสินใจเลือกใช้ยาแอนติบอดี ไม่ต้องกลายเป็นความหวังสุดท้ายของการรอดชีวิต
ยาแอนติบอดีที่หมอจุฬาฯมุ่งมั่นวิจัยและเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คนไทยร่วมกันบริจาคในวันนี้ จะเป็นความหวังของคนไทยทุกระดับทุกฐานะที่จะสามารถต่อสู้กับมะเร็งอย่างมีชัยชนะ
การหายขาดจากโรคมะเร็งจะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป
ความเห็น 72
Jung
เอาใจช่วยครับ
12 เม.ย. 2562 เวลา 04.59 น.
AOO
เงินภาษีที่เอาไปแจกบัตรคนจน หลายหมื่นล้าน
น่าจะแบ่งมาให้โครงการที่มีประโยชน์ แบบนี้ไปใช้บ้าง
12 เม.ย. 2562 เวลา 04.32 น.
พรทิพย์(Jiew)
ขอบคุณคณะทีมวิจัยที่ทุ่มเทสุดความสามารถ อ่านข่าวแล้วตื้นตันใจ ขอบคุณค่ะ
03 พ.ย. 2561 เวลา 10.08 น.
SM
สมทบแล้วเมื่อวาน 1000 เป็นกำลังใจให้ทีมพัฒนาครับ
02 พ.ย. 2561 เวลา 14.30 น.
Thanya 811
ขอให้ทำได้จริงๆ..คุณคือความหวังของคนทั้งประเทศ! 😉
02 พ.ย. 2561 เวลา 14.05 น.
ดูทั้งหมด