นายกสมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ มข. สะท้อนปัญหาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ฝากเรื่องถึงยาผู้ป่วยจิตเวชออกนอกบัญชียาหลักสู่หลักประกันจะทำให้เข้าถึงได้ง่าย ขอพี่น้อง-เพื่อนร่วมงานดูแลกัน อยากให้มีคลินิกรักษาบุคลากรทางการแพทย์ ให้รัฐเร่งดำเนินการ
เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข นายกสมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) และประธานชมรมเภสัชชนบท ให้สัมภาษณ์กรณีเภสัชกรหนุ่มรายหนึ่ง ศิษย์เก่า มข. ถูกกดดันจากที่ทำงาน ก่อนจบชีวิตตัวเองแล้วทิ้งจดหมายไว้ ความกดดันของเภสัชกร หรือบุคลากรด้านสาธารณสุขมีมากอยู่แล้วโดยการประกอบวิชาชีพ เพราะการประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขต้องแบกรับความคาดหวังของผู้ป่วย เพราะมันมีคำว่า “เป็น” กับ “ตาย” ส่วนความคาดหวังของเภสัชกรก็ไม่ได้น้อยไปกว่ากัน เพราะบทบาทของเภสัชกรไม่ได้มีหน้าที่เพียงจ่ายยาอย่างเดียว ยังไปดูแลผู้ป่วยบนวอร์ด หรือความคาดหวังของผู้ป่วยที่มารับบริการของพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนก็เผชิญความกดดันไม่แตกต่างกัน ต่างได้รับแรงกดดันจากผู้ป่วย จากบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกันเอง รวมทั้งความคาดหวังจากในวิชาชีพเดียวกันเองด้วย ฉะนั้น เรื่องเหล่านี้อยู่คู่กับพวกเรามานาน แต่กลับไม่ถูกพูดถึง หรือพูดถึงน้อย
ภก.สุภนัยระบุว่า โดยทั่วไปเราจะได้ยินว่าแพทย์ พยาบาลมีปัญหา ของเภสัชกรก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น การจ่ายยาตัวหนึ่ง ถ้ามีความคลาดเคลื่อน ผิดพลาด ความคาดหวังของผู้ป่วยอาจจะส่งผลต่อการเสียชีวิตเองและเภสัชกรที่ดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ พยาบาล ก็มีความคาดหวัง ทำให้ผู้ป่วยเป็นหรือตาย ก็เป็นการพิจารณาการใช้ยาร่วมกัน
ภก.สุภนัยยังกล่าวว่า สำหรับความคาดหวังด้านวิชาชีพของเภสัชกรด้วยกันเองก็จะต้องดูแลกัน ต้องเยียวยากัน ต้องมีเครือข่ายของเภสัชกร ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน ทั้งนี้ ในนามของนายกสมาคมศิษย์เก่าเภสัช รวมถึงบทบาทของผู้ประกอบวิชาชีพในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย อยากให้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดคลินิกดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือวิชาชีพอื่นๆ ที่ต้องดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพทางด้านจิตใจที่เข้มแข็งเช่นเดียวกัน ถ้าในโรงพยาบาลมีบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรจะมีสวัสดิการ มีการคัดกรอง มีการดูแลตรงส่วนนี้ มีระบบแล้วเรายังต้องมีเครือข่ายในโรงพยาบาล เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพ หรือต้องมีคลินิกเกิดขึ้นในโรงพยาบาล
“สิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถผลักดันเป็นหนึ่งในกิจกรรมของด้านจิตเวชได้ ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสนใจต่อการให้ความสำคัญด้านจิตเวชเป็นอย่างมาก ให้เรารักษาผู้ป่วย แต่กับบุคลากรทางการแพทย์เองบางทีก็เหนียมอาย บางทีเรากลัวว่าจะถูกตีตราว่ามีความเจ็บป่วยทางด้านนี้” ภก.สุภนัยกล่าว
ภก.สุภนัยกล่าวต่อว่า อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องยา ยาส่วนใหญ่ที่ใช้จะเป็นยานอกบัญชียาหลัก ฉะนั้น ผู้ป่วยซึมเศร้า หรือจิตเวชต้องใช้ยาราคาแพง หากสามารถปรับยาด้านการรักษาโรคซึมเศร้ามาอยู่ในหลักประกันสุขภาพได้ จะทำให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเข้าถึงยาได้มากขึ้น อยากให้ยาเหล่านี้เข้าสู่หลักประกันสุขภาพ หากยังไม่มีก็อาจเกิดเรื่องแบบนี้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อีก จะยอมให้เกิดขึ้นกับบุคลากรที่เราสร้างกันมา 4 หรือ 6 ปีอีกหรือ เราเสียไปหนึ่งคนเราก็เสียใจ และมันไม่ได้เสียเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ยังส่งผลกระทบกับครอบครัวด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก สามารถป้องกันได้
ภก.สุภนัยกล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรู้สึกเสียใจ เราไม่อยากให้เกิดไม่ว่าจะเป็นเภสัชกร หรือหมอ พยาบาล มันไม่ควรเกิดขึ้น จึงอยากเรียกร้องเร่งผลักดันข้อเสนอเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งสามารถทำได้เลย นอกจากนั้น เรื่องแบบนี้อยากให้ครอบครัว คนที่รัก เพื่อน ช่วยกันดูแล ช่วยกันเรียนรู้ว่าเขาเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร น่าจะช่วยบรรเทาความรุนแรงได้บ้าง
“ทุกวันนี้เราเจอสภาวะกดดันการทำงานอยู่แล้ว เราจะผ่านมันไปได้อย่างไรขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ครอบครัวเรา เพื่อนร่วมงานที่อยู่กับเรา 8 ชั่วโมง พี่ดูแลน้อง น้องดูแลพี่ ช่วยเหลือกัน ผมว่ามันก็ผ่านไปได้” ภก.สุภนัยกล่าว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นายกส.ศิษย์เก่าเภสัช มข. เผยเภสัชกรแบกความกดดันรอบด้าน ชงสธ.เปิดคลินิกดูแลบุคลากร
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th
ความเห็น 0