โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กิน-ดื่ม

"ขนมโตเกียว" ใครว่าเป็นขนมญี่ปุ่น ? ในมุมการลากเข้าเป็นไทย-ณัฐพล จารัตน์

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 08 ก.พ. 2565 เวลา 11.00 น. • ณัฐพล จารัตน์

ขณะกำลังขึ้นบันไดเลื่อนของสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ ผมมองลงมาริมถนนเห็นรถเข็นขายขนมโตเกียวเจ้าหนึ่ง เป็นพ่อค้ากำลังหยิบขนมโตเกียวใส่ถุงกระดาษสีน้ำตาลให้กับลูกค้า ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นคนทำงานออฟฟิศแถวนั้น เท่าที่มองเห็นเดาได้ว่าน่าจะเป็นขนมโตเกียวไส้ไข่กับไส้กรอก

มีลูกค้าต่อคิวกัน 2-3 คน สำหรับคนทำงานออฟฟิศ ขนมโตเกียวก็เป็นเสมือนอาหารฟาสต์ฟูดยามเช้าหรือของกินเล่น กินร่วมกับกาแฟ พอระงับความหิวในยามเร่งรีบหรือเป็นของว่าง

ผมใช้เวลาระหว่างนั่งรถไฟฟ้านึกถึงเรื่องที่มาของขนมโตเกียว ซึ่งเป็นขนมที่ผมเองก็ไม่เคยเห็น แม้จะเคยเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้เกิดคำถามในใจว่า ขนมโตเกียวมาจากไหน ใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นคนแรก

ในความเห็นส่วนตัว มีข้อสันนิษฐานถึงต้นแบบของขนมโตเกียว 2 ข้อ คือ

ข้อแรก ขนมโตเกียวอาจดัดแปลงมาจากขนมโดรายากิ (Dorayaki) เป็นแป้งแพนเค้กสองชิ้นประกบกัน สอดใส่ถั่วแดงกวนหวาน ๆ ตรงกลาง

ข้อที่ 2 ขนมโตเกียวอาจดัดแปลงจากมาขนมเครปญี่ปุ่น (Japanese Crepe) เป็นแป้งแพนเค้กแผ่นหนา แผ่บนกระทะร้อนแบนเรียบ สอดไส้ได้หลายแบบ เค็มบ้างหวานบ้าง หรือก็ใส่ไอศกรีม แล้วม้วนเป็นแท่งหรือพับคล้ายสามเหลี่ยม

ช่วงเวลาที่ขนมโตเกียวเกิดขึ้นในเมืองไทย สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นช่วง พ.ศ. 2507 - 2510

ในข้อแรก ขนมโตเกียวน่าจะมีต้นแบบมาจากขนมโดรายากิ เพราะราว ๆ พ.ศ. 2507 ห้างญี่ปุ่นชื่อ ไทยไดมารุ (Thai Daimaru) เปิดสาขาที่กรุงเทพฯ บนถนนราชดำริ (ตรงบริเวณห้างบิ๊กซีในปัจจุบัน) เป็นที่ที่ขนมโดรายากิขายครั้งแรกในเมืองไทยและเป็นที่รู้จักในหมู่คนที่ชื่นชอบญี่ปุ่น

ประกอบกับช่วงนั้นการ์ตูนเรื่องโดราเอม่อน (Doraemon) เจ้าหุ่นยนต์แมวจากอนาคตที่ชอบกินขนมโดรายากิได้เริ่มฉาย เด็ก ๆ ก็เริ่มรู้จักว่าโดราเอม่อนชอบกินขนมโดรายากิ ยิ่งทำให้ขนมโดรายากิเป็นขนมที่น่ากินมากยิ่งขึ้น

พ่อค้าแม่ขายในยุคนั้นจึงเริ่มดัดแปลงจากขนมโดรายากิ พัฒนาออกมาเป็นขนมโตเกียว กรรมวิธีการใช้แป้งกับไส้คงไม่แตกต่างกัน แต่สูตรและรูปลักษณ์ของขนมแปลกตาจากขนมโดรายากิ ที่ทำเป็นแผ่นแป้งแพนเค้กสองชิ้นสอดไส้ถั่วแดงกวนประกบกันกลายเป็นแผ่นแป้งขนาดเล็กม้วนเป็นแท่งสอดไส้ครีม

ไส้ไข่ ไส้หมูสับหรือฮอทดอก และในช่วงนั้นว่ากันว่า ถ้าอยากจะกินขนมโตเกียวต้องไปแถวหน้าประตูโรงเรียน จะมีพ่อค้าแม่ขายเข็นรถทำขนมโตเกียวมาขายรอเด็ก ๆ ก่อนกลับบ้าน

ในข้อสันนิษฐานที่ 2 ขนมโตเกียวน่าจะมาจากขนมเครปญี่ปุ่น น่าจะปรากฎขึ้นในช่วง พ.ศ.2509 - 2510 เมื่อคนไทยเริ่มเดินทางไปทำงานที่ญี่ปุ่น เป็นช่วงเริ่มต้นของยุคเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ขนมเครปเริ่มเข้ามาในญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นอาหารริมทางแบบขนมยุคแรก ๆ (Street food)

ขายแถวฮาราจูกุกับชินจูกุ ย่านใจกลางกรุงโตเกียว ต้นกำเนิดของเครปญี่ปุ่นมาจากทางฝรั่งเศส ดัดแปลงจนมาเป็นขนมเครปญี่ปุ่น เมื่อคนไทยที่ไปทำงานเริ่มเห็นว่าขนมเครปญี่ปุ่นได้รับความนิยมและแปลกใหม่ จึงนำเข้ามาที่เมืองไทย โดยดัดแปลงทั้งขนาด รูปลักษณ์ และสอดไส้ให้เหมาะสมกับตลาดเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎข้อมูลว่าขนมเครปญี่ปุ่นขายครั้งแรกในเมืองไทยที่ใดและเมื่อไร ในเวลาต่อมากลับพบเห็นว่าขนมเครปไทยที่คล้ายขนมเครปญี่ปุ่น ทั้งรูปทรง ขนาด และมีไส้หลายชนิด แต่ต่างตรงที่แผ่นแป้งจะบางกรอบ ซึ่งไม่เหมือนขนมโตเกียวที่แป้งจะหนานุ่ม

ผมเชื่อในข้อสันนิษฐานแรก ซึ่งดูจะเป็นเรื่องเล่า (Storytelling) ที่ค่อยข้างเป็นไปได้มากกว่าขนมโดรายากิกับขนมโตเกียว มีความคล้ายคลึงกันมากกว่าขนมเครปญี่ปุ่น ถึงแม้ว่ายังข้อสันนิษฐาน แต่ทั้งขนมทั้งสองก็เป็นขนมประเภทอาหารริมทางเหมือนกัน มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นเหมือนกัน และมีช่วงเริ่มต้นไม่ห่างกัน

*ทำไมต้องตั้งชื่อว่าขนมโตเกียว ไม่ตั้งชื่อเป็นขนมญี่ปุ่น

ตามความหมายในพจนานุกรม “ขนม” หมายถึง อาหารที่ไม่ใช้กับข้าว มักมีรสหวาน ทำจากแป้ง ใส่น้ำตาล และมีสีสัน ถ้าพิจารณาขนมโตเกียว ซึ่งเป็นขนมที่ทำจากแป้ง ไม่ใช่กับข้าว และสอดไส้หวาน จึงเป็นที่แน่นอนว่าต้องเรียก “ขนม”

ส่วนคำว่า “โตเกียว” เป็นชื่อสถานที่ คือ เมืองหลวงของญี่ปุ่น ในยุคนั้นการเดินทางไปญี่ปุ่นทางเครื่องบินจะลงที่โตเกียว ทุกคนในยุคนั้นรู้จักเพียงโตเกียว ชื่อเมืองอื่น ๆ ยังไม่เป็นที่รู้จัก แม้ว่าห้างไดมารู (Daimaru) ที่มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ จากเป็นห้างมาจากเมืองเกียวโต ซึ่งอยู่ในแถบบคันไซเป็นคนละที่กับโตเกียวก็ตาม ก็คงยังไม่มีใครรู้จักเท่ากับโตเกียวก็อาจเป็นได้

ในทางภาษาศาสตร์โดยเฉพาะลักษณะการเรียกชื่อเฉพาะของภาษาไทย มีคำต้นบอกประเภทของสิ่งของ อาหารหรือคน และมีคำท้ายเป็นสิ่งบ่งถึงต้นกำเนิด สถานที่และที่มา

ต้นต้น คือ ขนม ส่วนคำท้าย คือ โตเกียว เท่ากับว่า ขนม + โตเกียว = ขนมโตเกียว หมายถึง อาหารประเภทขนมทำจากแป้ง สอดไส้หวาน และมีถิ่นกำเนิดจากเมืองโตเกียว

ทำไมถึงไม่ตั้งชื่อว่า “ขนมญี่ปุ่น” เพราะว่า ถ้าใช้คำว่า “ญี่ปุ่น” คงให้ความหมาย 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกต้องเป็นขนมญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่เรียกว่า “วากาชิ” (Wakashi) กับลักษณะที่ 2 ถ้าใช้ “ญี่ปุ่น” เป็นคำเรียกแทนขนมที่กินความหมายกว้างเกินไป ซึ่งถ้าเรียกอย่างนั้นจะหมายถึงขนมทุกแบบ

ขนมทุกประเภท จะกลายเป็นขนมญี่ปุ่นไปหมด

นอกจากนี้จะชวนผู้อ่านคิดเรื่องเชิงนวัตกรรม ที่พ่อค้าแม่ขายคนไทยดัดแปลงขนมต้นแบบกลายเป็นขนมโตเกียว ผมขอใช้คำว่า การลากเข้าเป็นของแบบไทย (Thailandization) หมายความว่า เรานำสิ่งของที่ได้รับความนิยมมในวัฒนธรรมหรือสังคมหนึ่ง ลากหรือปรับเปลี่ยนเข้าเป็นสิ่งของที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมหรือสังคมไทย

อาจปรับเปลี่ยนชื่อเดิมให้เป็นชื่อแบบไทยอีกก็ได้ นั่นหมายความว่าพ่อค้าแม่ขายคนไทยยุคนั้นมีหัวของการเป็นนักนวัตกร ดัดแปลงและเพิ่มมูลค่า จนปัจจุบันคงไม่มีใครไม่รู้จักขนมโตเกียว

เพียงแค่เรื่องหาที่มีของขนมโตเกียว สามารถมองได้หลายมุมหลายทัศนะ ถ้าเป็นนักภาษาศาสตร์ จะมองเชิงสังคม (Sociolinguistics) นักการตลาดจะมองการเล่าเรื่อง (Storytelling) หรือเชฟทำขนม (พาติเช่) จะมองเรื่องรสชาติ สีสัน ส่วนผสมและกรรมวิธีดังนั้น การหาที่ไปที่มาของขนมโตเกียวก็เช่นเดียวกัน แต่ละท่านคงมีมุมมองส่วนตัว

ผมมัวแต่คิดเรื่องขนมโตเกียวเสียเพลิน จนนั่งเลยสถานีรถไฟฟ้าที่ต้องลง คงต้องนั่งย้อนกลับไป

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม หากท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร หรือมีข้อสันนิษฐานที่ฟังดูแล้วน่าสนใจ เขียนมาแลกเปลี่ยนกันได้

อ่านเพิ่มเติม

*Longan Team. Khanom Tokyo. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/Longan.Team.CM/photos/a.1656429677902411/2832340703644630/?type=3

*Gurunavi. Japanese Crepes: Sweet and Savory Snacks to Eat On the Go. เข้าถึงได้จาก https://gurunavi.com/en/japanfoodie/2018/05/japanese-crepes.html

*Pornchai Sereemongkonpol. Discover the hidden stories behind your favourite Thai dishes. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/961797/tasty-trivia

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0