ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่ ในเล้า บทท่องจำพยัญชนะไทยที่คนในรุ่นหนึ่งคุ้นเคยกันดี และท่องกันได้จนถึงถึง ฮ.นกฮูกตาโตแต่คนในอีกสมัยหนึ่งก็ไม่ได้ท่องแบบนี้เสมอไป
โรงเรียนที่เกิดขึ้นในแต่ละที่ในช่วงแรกของการจัดการศึกษาของไทยแต่ละโรงเรียนมีเอกสิทธิในการผลิตตำราเรียนของตนเองแล้วแต่ว่าจะใช้สอนอย่างไรเช่นแบบเรียนเร็ว ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวงการประวัติศาสตร์ไทย ที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้สอนภาษาไทยในโรงเรียนทดลองในวังของพระองค์ เหตุผลเพราะตำราเรียนภาษาไทยที่เรียกว่าแบบเรียนหลวง รวม6 เล่มประกอบกัน(มูลบทบรรพกิจวาหนิติ์นิกรอักษรประโยคสังโยคพิธานไวพจน์พิจารณ์พิศาลการันต์) จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนมากเป็นปี ทำให้เยาวชนหรือผู้เรียนที่ยังอยู่ในระบบมูลนายไม่สามารถเรียนหนังสือได้จบตลอดทั้งเล่ม เพราะเมื่อเรียนได้ราวหกเดือนก็ต้องกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำนาเพื่อจ่ายภาษีให้กับรัฐ เมื่อกลับมาเรียนก็ต้องเสียเวลาทบทวนเป็นเวลานาน แบบเรียนเร็วของพระองค์จึงเป็นทั้งตัวอย่างของการมีสิทธิในการผลิตตำราเรียนของแต่ละโรงเรียน และเป็นการปรับแบบเรียนให้เข้ากับผู้เรียนเป็นรุ่นแรก
เมื่อมีการก่อตั้งกระทรวงธรรมการหรือกระทรวงศึกษาธิการขึ้นมาในช่วงการปฏิรูประบบราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ทำให้เริ่มมีการกำหนดมาตรฐานแบบเรียน และต้องขออนุญาตจากกระทรวงธรรมการก่อนนำไปเผยแพร่ใช้ในโรงเรียน ยกเว้นกรณีแบบเรียนเร็วของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงนำแบบเรียนเร็วขึ้นทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่5 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชนุญาตสำหรับใช้ในโรงเรียนโดยตรง
ไม่เฉพาะโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยสยามหรือชาวไทยที่จะสอนภาษาไทยเท่านั้น โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นโดยชาวต่างประเทศก็มีการจัดการเรียนการสอนและผลิตตำราภาษาไทยเช่นกัน แบบเรียนชุดหนึ่งที่ใช้สอนภาษาไทยและมีการปรับปรุงแก้ไขและประกาศใช้มาจนปัจจุบัน คือ ดรุณศึกษาซึ่งถูกเรียบเรียงขึ้นในปีพ.ศ. 2453 โดยภราดา ฟ. ฮีแลร์ นักบวชคณะเซนต์กราเบรียลที่เดินทางมารับงานด้านการศึกษาในประเทศไทยที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยยังได้รับการปรับปรุงเนื้อหาและตีพิมพ์ซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. 2559) ซึ่งเป็นการตีพิมพ์ซ้ำในลักษณะที่ใช้งานจริง ในขณะที่แบบเรียนที่เขียนโดยชาวไทยถูกแก้และปรับเปลี่ยนเรื่อยมา
เมื่อการพิมพ์หนังสือไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะโรงพิมพ์ของหลวงหรือโรงพิมพ์ของพระในคริสต์ศาสนาเท่านั้นเอกชนสามารถเป็นเจ้าของและผลิตหนังสือเพื่อค้าขายได้อย่างกว้างขวางหนังสือพิมพ์นิยายไทยนิยายแปลเรื่องปกิณกะประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมการดูแลร่างกายคู่มือดูแลบ้านเรือนฯลฯถูกผลิตออกมาเป็นหนังสือเพื่อจำหน่ายอย่างกว้างขวางหนึ่งในบรรดาหนังสือที่ผลิตออกจากสำนักพิมพ์เหล่านั้นคือหนังสือสำหรับเด็กที่มีทั้งหัดอ่านหัดเขียนที่เนื้อหามีการพัฒนาไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีของการพิมพ์กระดาษอุปกรณ์ประกอบการอ่านความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตและความต้องการของผู้บริโภค
ในยุคที่หนังสือออกเสียงได้แล้วโดยแค่ใช้ปากกาที่แถมมากับหนังสือลากผ่านเด็กในยุคนี้สามารถฟังนิทานเรียนภาษาต่างๆพร้อมกับเห็นภาพประกอบสีสดใสสื่อความหมายเพื่อช่วยในการเรียนรู้และจดจำสงสัยสิ่งใดก็เพียงใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเบล็ตที่เลื่อนเล่นจนคุ้นมือในการค้นหาข้อมูลหรือใช้เล่นเพื่อความบันเทิงได้แต่ก่อนหน้าที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเท่าปัจจุบันนี้หนังสือเป็นสิ่งเดียวที่ช่วยสอนและให้ความรู้กับนักเรียนหรือผู้อ่านเท่านั้นการท่องจำช่วยให้ผู้อ่านจำได้ในยามที่ไม่มีหนังสืออยู่กับตัวจำนวนสำนักพิมพ์ที่มีมากและผู้ผลิตที่ต้องการสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์จึงต้องผลิตสื่อที่แตกต่างกันออกไปในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการเรียกหรือการให้ความหมายและคำต่อท้ายของพยัญชนะในสามยุคกว้างๆเพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการอ่านตัวพยัญชนะดังนี้
พยัญชนะ
แบบเรียนเร็ว
(พ.ศ. 2431)
แบบหัดอ่านกไก่
(ทศวรรษ 2520)
แบบเรียน ก. ไก่(ทศวรรษ2530)
แบบเรียน ก ข
(ทศวรรษ 2550)
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
ก
ไก่
–
ไก่
(ก.เอ๋ย ก ไก่)
ไก่
(ก.เอ๋ย ก ไก่)
ไก่
(ก.เอ๋ย ก ไก่)
ข
ไข่
–
ไข่
ขีดเขียน
ไข่
ในเล้า
ไข่
ในเล้า
ฃ
ฃวด
–
ขวด
ไม่เรียน
ขวด
ของเรา
ขวด
มากมาย
ค
ควาย
–
ควาย
คล่องงาน
ควาย
เข้านา
ควาย
ไถนา
ฅ
ฅอ
–
คน
ดีจัง
คน
ขึงขัง
คน
ขึงขัง
ฆ
ระฆัง
–
ระฆัง
กังวาน
ระฆัง
ข้างฝา
ระฆัง
กังวาน
ง
งู
–
งู
งุ่นง่าน
งู
ใจกล้า
งู
เลื้อยคลาน
จ
จาน
–
จาน
จับจอง
จาน
ใช้ดี
จาน
ใช้ดี
ฉ
ฉิ่ง
–
ฉิ่ง
ฉับฉ่าง
ฉิ่ง
ตีดัง
ฉิ่ง
ตีดัง
ช
ช้าง
–
ช้าง
ยืนมอง
ช้าง
วิ่งหนี
ช้าง
ตัวโต
ซ
โซ่
–
โซ่
ใส่คล้อง
โซ่
ล่ามดี
โซ่
ใช้เสมอ
ฌ
เฌอ
–
กะเฌอ
น่าชม
กะเฌอ
คู่กัน
เฌอ
ต้นไม้
ญ
ผู้หญิง
–
หญิง
โสภา
หญิง
โสภา
หญิง
โสภา
ฎ
ชะฎา
–
ชฎา
สวยสม
ชฎา
สวมพลัน
ชฎา
สวมหัว
ฏ
ปะฏัก
–
ปฏัก
ปักจม
ปฏัก
หุนหัน
ปฏัก
ปักไว้
ฐ
ฐาน
–
ฐาน
แท่นรอง
ฐาน
เข้ามารอง
ฐาน
เข้ามารอง
ฑ
นางมณโฑ
–
มณโฑ
พริ้งเพรา
มณโฑ
หน้าขาว
มณโฑ
หน้าเศร้า
ฒ
ผู้เฒ่า
–
ผู้เฒ่า
เดินย่อง
ผู้เฒ่า
เดินย่อง
ผู้เฒ่า
เล่านิทาน
ณ
เณร
–
เณร
มุ่งมอง
เณร
ไม่มอง
เณร
เล็ก เล็ก
ด
เด็ก
–
เด็ก
ซุกซน
เด็ก
ต้องนิมนต์
เด็ก
แข็งแรง
ต
เต่า
–
เต่า
ข้ามทุ่ง
เต่า
หลังตุง
เต่า
หลังตุง
ถ
ถุง
–
ถุง
ใช้ขน
ถุง
แบกขน
ถุง
ใส่ของ
ท
ทหาร
–
ทหาร
อดทน
ทหาร
อดทน
ทหาร
ยืนตรง
ธ
ธง
–
ธง
สง่างาม
ธง
คนนิยม
ธง
ชาติไทย
น
หนู
–
หนู
ในไร่
หนู
ขวักไขว่
หนู
นำไข้
บ
ใบใม้
–
ใบไม้
ใบงาม
ใบไม้
ทับถม
ใบไม้
สีเขียว
ป
ปลา
–
ปลา
ว่ายตาม
ปลา
ตากลม
ปลา
ในบึง
พยัญชนะ
แบบเรียนเร็ว
(พ.ศ. 2431)
แบบหัดอ่านกไก่
(ทศวรรษ 2520)
แบบเรียน ก. ไก่(ทศวรรษ2530)
แบบเรียน ก ข
(ทศวรรษ 2550)
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
คำอ่าน
คำต่อท้าย
ผ
ผึ้ง
–
ผึ้ง
ต้องระวัง
ผึ้ง
ทำรัง
ผึ้ง
ทำรัง
ฝ
ฝา
–
ฝา
ใช้การ
ฝา
ทนทาน
ฝา
ทนทาน
พ
พาน
–
พาน
งามเปล่ง
พาน
วางตั้ง
พาน
วางตั้ง
ฟ
ฟัน
–
ฟัน
เชื่อฟัง
ฟัน
สะอาดจัง
ฟัน
สะอาดจัง
ภ
สำเภา
–
สำเภา
สามใบ
สำเภา
กางใบ
สำเภา
กางใบ
ม
ม้า
–
ม้า
มาพัก
ม้า
คึกคัก
ม้า
คึกคัก
ย
ยักษ์
–
ยักษ์
เขี้ยวใหญ่
ยักษ์
เขี้ยวใหญ่
ยักษ์
เขี้ยวใหญ่
ร
เรือ
–
เรือ
เร็วไว
เรือ
พายไป
เรือ
แล่นไป
ล
ลิง
–
ลิง
ลุกลาน
ลิง
ไต่ราว
ลิง
ชิงหลัก
ว
แหวน
–
แหวน
มีราคา
แหวน
ลงยา
แหวน
วงน่ารัก
ศ
ศาลา
–
ศาลา
พักคน
ศาลา
เงียบเหงา
ศาลา
พักอาศัย
ษ
ฤาษี
–
ฤาษี
มีมนต์
ฤาษี
หนวดยาว
ฤาษี
เอื้อเฟื้อ
ส
เสือ
–
เสือ
ซ่อนกาย
เสือ
ดาวคะนอง
เสือ
มีลาย
ห
หีบ
–
หีบ
ใส่ผ้า
หีบ
ใส่ผ้า
หีบ
ใส่ผ้า
ฬ
ฬา
–
จุฬา
ว่าวส่าย
จุฬา
ท่าผยอง
จุฬา
ว่าวไทย
อ
อ่าง
–
อ่าง
เรียงราย
อ่าง
เนืองนอง
อ่าง
ราคาถูก
ฮ
นกฮูก
–
นกฮูก
ครางฮือ
นกฮูก
ตาโต
นกฮูก
ตาโต
จากตารางจะเห็นได้ว่าในยุคแรกของการกำหนดคำอ่านให้กับพยัญชนะยังไม่มีการให้คำต่อท้ายเมื่อเริ่มมีการให้คำต่อท้ายวลีเหล่านั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในแทบจะทุกช่วงทศวรรษคำอ่านสองคำที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เปลี่ยนคำอ่านไปอย่างสิ้นเชิงคือ“ฅ ฅอ” ที่มีภาพประกอบเป็น คอ(อวัยวะของร่างกาย) กับ“ฅ ฅน” ที่หมายถึงตัวบุคคล กับ“ฬ ฬา” ที่มีภาพประกอบเป็นตัวลา เปลี่ยนเป็น“ฬ จุฬา” ที่มีภาพประกอบเป็นว่าวจุฬา ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นการเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำว่า“จุฬา” ตั้งแต่แรกของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะตามธรรมเนียมไทยมักจะไม่นิยมเอ่ยพระนามพระมหากษัตริย์ ซึ่งในช่วงที่แบบเรียนเร็วของกรมพระยามดำรงราชานุภาพตีพิมพ์นั้น เป็นช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระนามว่า“จุฬาลงกรณ์”
ภาพจาก แบบเรียนเร็วเล่ม1, 2, 3 หน้า7 และ20
วลีต่อท้ายหากมองเผินๆแล้วแทบจะหาความเกี่ยวข้องของแต่ละพยัญชนะได้เลยอย่างเช่น“ข.ไข่ ขีดเขียน” ที่ฟังดูเข้าใจยากกว่า“ข.ไข่ ในเล้า” แต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่าเป็นการใช้เสียงพยัญชนะ ข ในคำว่า“ขีดเขียน” แต่ทำไม“ฃ.ขวด ไม่เรียน” ยังหาความเกี่ยวข้องไม่ได้ สิ่งเดียวที่เห็นตอนนี้คือเป็นคำคล้องของกับ“ขีดเขียน” ในคำก่อนหน้า หรือทำไม ฟ.ฟัน ต้อง“เชื่อฟัง” และ อ.อ่าง ต้อง“ราคาถูก” คำอธิบายว่าเป็นไปเพื่อคำคล้องจองหรือการเขียนในลักษณะกลอนพาไปก็คงไม่ใช่คำตอบเดียว เพราะจะเห็นจากตัวอย่างด้านบนได้แล้วว่า หลายประโยคก็ไม่มีความคล้องจองกันเลย จึงทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาลิขสิทธิ์ในการพิมพ์ของแต่ละสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือฝึกอ่านเหล่านี้ออกจำหน่ายอย่างกว้างขวาง
นอกจากนี้ตัวอักษรในหมวดคนก็ถูกให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยเช่นฅ.คน ที่เคย“ดีจัง” ในทศวรรษ2520 กลับกลายเป็น“ขึงขัง” ตั้งแต่ทศวรรษ2530 เป็นต้นมา ในขณะที่ ญ.หญิง ยังคงสวย“โสภา” เหมือนเดิม ส่วน ฒ.ผู้เฒ่า หลังจากมีภาพของความแก่ชราจนต้อง“เดินย่อง” ก็กลับมาสร้างคุณค่าใหม่ให้กับตัวเองด้วยการ“เล่านิทาน” หรือ ด.เด็ก ที่เคย“ซุกซน” และ“ต้องนิมนต์” ณ.เณร ที่“ไม่มอง” ก็กลับมาเป็นเด็ก“แข็งแรง” ในทศวรรษ2550
ทว่าคนที่น่าสงสารที่สุด คือนางมณโฑ ที่เคย“พริ้งเพรา” และ“หน้าขาว” กลับต้องมาเป็นคน“หน้าเศร้า” ในทศวรรษ2550 เสียแล้ว หากจะอธิบายว่าเธอหน้าเศร้าเพราะคนไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นนางมณโฑก็อาจอธิบายไม่ได้ เพราะถ้าใช้คำอธิบายนี้มาอธิบาย“ษ.ฤาษี” ก็จะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน เพราะเขาทั้ง“มีมนต์” “หนวดยาว” และ“เอื้อเฟื้อ” เพราะไม่ได้แสดงออกถึงสภาพี่แย่ลงของฤาษีอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีใครรู้จักฤาษีมากไปกว่าภาพของชายชราหนวดยาวที่ใส่ชุดลายเสือและถือไม้เท้า อย่างเดียวกันกับที่เราท่องกันมาตลกๆว่านางมณโฑนมโตข้างเดียว
พยัญชนะไทยถูกให้คำอ่านเป็นครั้งแรกในแบบเรียนเร็วของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะในแบบเรียนชุดแบบเรียนหลวงที่ตีพิมพ์ก่อนหน้าแบบเรียนเร็ว มีเพียงการนำตัวอักษรทั้งหมดมาเรียงกัน แล้วแบ่งวรรคพยัญชนะและประเภทอักษรสูง กลาง ต่ำ ให้นักเรียนท่องจำเท่านั้น ตัวอย่างคำอ่านและวลีต่อท้ายที่ยกมานี้ไม่ใช่ตัวแทนของแต่ละยุคสมัยแต่เป็นเพียงตัวอย่างที่สื่อให้เห็นถึงความหลากหลายในการเปลี่ยนแปลงทั้งคำอ่านและวลีต่อท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเท่านั้น แบบหัดอ่านเล่มเดียวกันจากสำนักพิมพ์เดียวกัน ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และแบบหัดอ่านบางเล่มอาจใช้อ่านมานานแล้ว และพิมพ์ซ้ำในทศวรรษต่อๆมาได้ ตัวอย่างที่ยกมานี้จึงเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนเดียวของการศึกษารูปแบบการสอนอ่าน ก.ไก่ทั้งหมดซึ่งในความเป็นจริงยังมีตัวอย่างที่แตกต่างกว่านี้อีกมาก
ช.ช้าง จึงเพียงยืนมอง ฉ.ฉิ่ง ที่ตี“ฉับฉ่าง” และเป็นช้าง“ตัวโต” ที่ไม่สะทกสะท้านต่อเสียงของ ฉ.ฉิ่ง ที่“ตีดัง” โดยไม่ต้อง“วิ่งหนี” เสมอไป
บรรณานุกรม
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ. แบบเรียนเร็วเล่ม1, 2, 3/สมพร จารุนัฎ, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ:
สถาบันภาษาไทย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, 2542.
ดรุณกิจวิทูร,หลวง. แบบเรียนกขสำหรับชั้นอนุบาล. ปรับปรุงโดย ประคอง สุทธสาร. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช. 2554.
ประชาช่าง, สำนักพิมพ์. แบบเรียนก.ไก่. กรุงเทพฯ:ประชาช่าง, 2535.
ประสิทธิ วงษ์ชนะชัย. แบบหัดอ่านกไก่ด้วยภาพสำหรับชั้นอนุบาล. กรุงเทพฯ:สุภา, 2520.
ความเห็น 0