“ปูนิ่มทอดกระเทียมพริกไทย” เป็นหนึ่งในเมนูอาหารทะเลยอดนิยมที่หลายคนติดอกติดใจ แต่หลายคนที่ไม่รู้จักว่าปูนิ่มคืออะไร บ้างครั้งเข้าใจผิดว่าปูนิ่มเป็นปูพันธุ์ใหม่ที่มีเปลือกนิ่มโดยธรรมชาติ ความจริงแล้ว ปูนิ่ม คือ ปูทะเลหรือปูดำที่อาศัยอยู่ในทะเลตามธรรมชาติ แต่ช่วงการเจริญเติบโต ปูจะมีการลอกคราบเหมือนกุ้ง เมื่อลอกคราบแล้วตัวปูจะโตขึ้นกว่าเดิม
ในช่วงชีวิตการเจริญเติบโต ปูจะลอกคราบหลายสิบครั้ง หลังลอกคราบตัวจะนิ่มทั้งหมดรวมถึงกระดองด้วย หลังจากนั้น จะค่อยๆ แข็งขึ้นในไม่กี่ชั่วโมงหลังลอกคราบ ในการลอกคราบตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลาลอกคราบปูก็จะต้องหาที่หลบซ่อนเพื่อให้พ้นจากศัตรูหรือแม้แต่พวกเดียวกันเอง เพราะในช่วงจังหวะนั้นปูจะไม่สามารถต่อสู้หรือหลบหนีศัตรูได้ มีแต่ตกเป็นอาหารของสัตว์อื่นอย่างเดียว
สมัยก่อน ปูนิ่มสามารถจับได้จากธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันผู้คนรู้จักและเข้าใจวิถีการเจริญเติบโตของปูมากขึ้น จึงนำปูทะเลหรือปูดำมาเพาะเลี้ยงเพื่อผลิตปูนิ่มออกจำหน่าย ทำให้คนไทยสามารถบริโภคปูนิ่มได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ราคาแพงอยู่บ้างแต่ก็คุ้มค่าเพราะปูนิ่มสามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งตัวนั่นเอง
จังหวัดสตูล…แหล่งผลิตปูนิ่ม
จังหวัดสตูล มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามัน มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 145 กิโลเมตร และพื้นที่น้ำจืด มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ในการประกอบอาชีพประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
อ้างอิงข้อมูลของกลุ่มสารสนเทศการเกษตร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสตูล พบว่า ในปี 2562 จังหวัดสตูลมีรายได้จากสินค้าประมง มูลค่าทั้งสิ้น 4,467.35 ล้านบาท โดยสาขาที่มูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ การประมงพาณิชย์ 1,859.34 ล้านบาท ประมงพื้นบ้าน 1,134.28 ล้านบาท และการเลี้ยงกุ้งทะเล 885.5438 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปี 2563 จังหวัดสตูล มีเกษตรกรดำเนินอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จำนวน 3,268 ฟาร์ม มีพื้นที่การเลี้ยงรวม 9,260.645 ไร่ ประกอบด้วย การเลี้ยงกุ้งทะเล 455 ฟาร์ม พื้นที่ 7,628.79 ไร่ การเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ส่วนใหญ่เป็นปลานิล ปลาดุก และปลากินพืช จำนวน 1,955 ฟาร์ม พื้นที่การเลี้ยง 7 อำเภอ รวม 955.0795 ไร่
ส่วนการเลี้ยงปลาน้ำกร่อย ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอชายฝั่งทะเล ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอท่าแพ อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอละงู ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงปลากะพงขาว ปลากะรัง เลี้ยงในกระชังและบ่อดิน การเลี้ยงปูนิ่ม การเลี้ยงปลาอื่นๆ จำนวน 762 ฟาร์ม พื้นที่รวม 542.51 ไร่ ปริมาณผลผลิต 994.08 ตัน/ปี มูลค่า 150.125 ล้านบาท
รู้จัก “ปูทะเล” หรือ “ปูดำ”
ปูทะเล หรือ ปูดำ (อังกฤษ : Serrated mud crab, Mangrove crab, Black crab, Giant mud crab, ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scylla serrata) เป็นปูชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในทะเล มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำมาปรุงสดเป็นอาหาร
ปูทะเลหรือปูดำ มีกระดองกลมรีเป็นรูปไข่ สีดำปนแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ขอบระหว่างนัยน์ตามีหนาม 4 อัน ส่วนด้านข้างนัยน์ตาแต่ละข้างมีหนามข้างละ 8-9 อัน ก้ามจะมีหนามแหลม ส่วนขาอื่นๆ ไม่มีหนาม ตัวผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่แข็งแรงกว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด เจริญเติบโตด้วยวิธีการลอกคราบ โดยตรงขอบหลังของกระดองจะเผยออกให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกว่า ปูสองกระดอง ถ้าหากเป็นตัวเมียที่มีความสมบูรณ์เพศจะมีไข่อยู่ในกระดอง ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลม เรียกว่า “ขาเดิน” ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้าย เรียกว่า “ขาว่ายน้ำ” ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย ใช้สำหรับว่ายน้ำ
ปูที่เกิดใหม่ จะใช้เวลาลอกคราบจนกระทั่งกระดองแข็งแรงแล้วออกมาหากินได้ ใช้เวลาประมาณ 7 วัน การเจริญเติบโตจนถึงวัยเจริญพันธุ์ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ตัวผู้ขนาดโตเต็มที่อาจหนักได้ถึง 3.5 กิโลกรัม ขนาดกระดองกว้างกว่า 24 เซนติเมตร ปูทะเลในบางแหล่งจะมีสีสันที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ทั้ง สีเขียวหม่น สีฟ้า สีขาวอ่อนๆ หรือสีเหลือง ซึ่งปูเหล่านี้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทองโหลง ปูทองหลาง ปูขาว เป็นต้น
การขยายพันธุ์ ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่จะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง
ทั้งนี้ ปูทะเลหรือปูดำ พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบชายฝั่งของแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงออสเตรเลีย โดยอาศัยอยู่ในโคลนตมตามป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำที่น้ำท่วมถึง กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซากพืช ซากสัตว์ต่างๆ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
ปูทะเลนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์ในฐานะของสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมนำมาปรุงสดเป็นอาหาร เช่น ปูผัดผงกะหรี่ ปูนึ่ง เป็นต้น โดยทางการ เช่น กรมประมง สนับสนุนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง โดยมักจะเลี้ยงในตะกร้าใกล้กับทะเล ปูทะเลเป็นที่นิยมกินอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเวลาที่กำลังลอกคราบ เพราะเนื้อปูจะนิ่ม กระดองยังไม่แข็งเท่าไร จึงถูกเรียกว่า “ปูนิ่ม”
เลี้ยงปูนิ่ม รายได้ดี
ก่อนหน้านี้ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริและกิจกรรมพิเศษ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย คุณวีระพร สุขสมจิตร และคุณเชาว์ ศรีวิชัย กลุ่มวิจัยและพัฒนา คุณวัชรินทร์ รัตนชู สํานักงานประมงจังหวัดสตูล ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอาชีพการเลี้ยงปูนิ่มของเกษตรกรต้นแบบ 6 ราย ในพื้นที่ป่าชายเลน โครงการหมู่บ้านพิทักษ์ป่ารักษาสิ่งแวดล้อม บ้านหัวทาง ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ซึ่งมีพื้นที่การผลิตตั้งแต่ 2-10 ไร่ (เฉลี่ย 4.83 ไร่)
คุณการีม เก็บกาเม็น โทร. 084-632-5344 หนึ่งในเกษตรกรต้นแบบเลี้ยงปูนิ่มในตะกร้าพลาสติก โดยมีบ่อดินที่มีขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2 ไร่ขึ้นไป มีทําเลอยู่ใกล้บริเวณชายฝั่งทะเลหรือปากแม่น้ำ สามารถนําน้ำกร่อยเข้าบ่อได้ง่ายและน้ำหมุนเวียนได้สะดวก โดยน้ำกร่อยมีค่าความเค็มอยู่ระหว่าง 10-30 พีพีที สถานที่ตั้งบ่อ อยู่ใกล้แหล่งจำหน่ายพันธุ์ปูและปลาเป็ด
วิธีการผลิตปูนิ่มในบ่อดิน เกษตรกรสร้างแพรองรับตะกร้าโดยจะใช้ท่อพีวีซีสีฟ้าขนาด 2 นิ้ว ปลายปิดทั้งสองข้างแล้วต่อเป็นแพยาว 10-20 เมตร จํานวน 4 ช่อง ใช้ไม้ไผ่วางพาดขวางยึดท่อให้มีระยะห่างพอดีรองรับกับ 33 ตะกร้าที่ใช้บรรจุปูแพสําหรับเลี้ยงปูนิ่มต้องเคลื่อนที่ไปมาได้โดยการดึงเชือกที่ผูกยึดกับแพ
โดยทั่วไป แพ 1 แพบรรจุกล่องพลาสติกสําหรับเลี้ยงปูได้ 400 กล่อง การเลี้ยงปูนิ่มในกล่องพลาสติก ขนาด 15×20 เซนติเมตร อัตราปล่อย 1 ตัว/กล่อง ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 12 เดือน ปูที่นํามาเลี้ยงจะเป็นปูดํามีขนาด 10-12 ตัว/กิโลกรัม ราคาประมาณกิโลกรัมละ 130 บาท ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 45 วัน/รุ่น ในรอบ 1 ปีสามารถเลี้ยงปูนิ่มได้จํานวน 8 รุ่น
อาหารที่ใช้เลี้ยงปูคือ ปลาหลังเขียว ปลาข้างเหลือง ที่ซื้อมาในราคากิโลกรัมละ 18 บาท เป็นอาหารเลี้ยงปูนิ่ม โดยนำปลาสดหั่นเป็นชิ้นขนาด 1-2 นิ้ว นำไปเลี้ยงปูนิ่ม 3-4 วัน/ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เกษตรกรจะเริ่มเช็กปูลอกคราบในวันรุ่งขึ้นหลังจากวันที่ปล่อยปูลงในกล่องพลาสติก โดยทั่วไปปูจะลอกคราบในช่วงน้ำขึ้นลงเต็มที่ในช่วงระหว่างขึ้น 15 ค่ำและแรม 3 ค่ำ เช็กปูลอกคราบทุก 4 ชั่วโมง
เมื่อพบว่ามีปูลอกคราบก็จะเก็บปูที่ลอกคราบขึ้นแล้วนําปูใหม่ลงไปเลี้ยงแทน เกษตรกรสามารถจำหน่ายปูนิ่มในราคากิโลกรัมละ 230-250 บาท เฉลี่ยขนาด 8 ตัว/กิโลกรัม เรียกว่า การเลี้ยงปูนิ่ม ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรชาวจังหวัดสตูลไม่แพ้อาชีพอื่นเลยทีเดียว
ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสตูล และสำนักงานประมงจังหวัดสตูล กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนข้อมูลและภาพประกอบข่าว
…………………….
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ความเห็น 0