โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บ้านเล็กในป่าใหญ่ ฉบับ ‘ลูกอีสาน’ : คำพูน บุญทวี - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 17 ต.ค. 2563 เวลา 17.03 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

หากคุณเคยอ่าน ‘ลูกอีสาน’คงจำเด็กชาย ‘คูน’ กับเรื่องราวของเขาได้เป็นอย่างดี

เพราะแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ต้องอดมื้อกินมื้อ ต้องดิ้นรนสารพัด แต่ชีวิตของเขาก็ไม่เคยหมดความสุข สรรหาความสนุก จากสิ่งที่อยู่รอบกายทั้ง อาชีพ อาหาร การละเล่น หรือแม้แต่ผู้คนหลายเชื้อชาติที่มารวมตัวกันในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้

ไม่แปลกเลยที่เหตุใด หนังสือเล่มเล็กๆ นี้ จึงสามารถเอาชนะใจผู้คนได้มาได้นานกว่า 40 ปี แถมยังคว้ารางวัลซีไรต์เล่มแรกของเมืองไทยมาครองได้สำเร็จอีกด้วย

แต่เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือแรงบันดาลใจของลูกอีสาน มาจากวรรณกรรมเยาวชนบันลือโลก‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ของ ลอร่า อิงกัลส์ ไวล์เดอร์

ยอดมนุษย์..คนธรรมดาขอพาทุกคนไปสัมผัสกับมุมมองของ‘คำพูน บุญทวี’ นักเขียนลูกข้าวเหนียวพันธุ์แท้ ผู้เปิดประตูให้โลกนักอ่านรู้จักภาคอีสานในมุมที่ลึกขึ้น 

01

กว่าจะเป็นลูกอีสาน

“..พี่อาจินต์ถามว่าเคยอ่านบ้านเล็กในป่าใหญ่ไหม..”

ใครจะเชื่อว่า ประโยคสั้นๆ ของบรรณาธิการใหญ่ อาจินต์ ปัญจพรรค์จะเปลี่ยนชีวิตนักเขียนโนเนมจากยโสธรคนนี้ จากหน้ามือเป็นหลังมือ

คำพูนเป็นเด็กอีสาน แต่ช่วงกลางคนมาใช้ชีวิตอยู่ที่ปักษ์ใต้เป็นผู้คุมเรือนจำถึง 5 แห่ง

ต่อมาเมื่อริจะเป็นนักเขียน ผลงานหลายเรื่องจึงวนเวียนกับเรื่องหลังตะรางเป็นส่วนใหญ่ กระทั่งวันหนึ่ง หลังเขียนผลงานเรื่องยาว ‘มนุษย์ร้อยคุก’ เสร็จเรียบร้อย คำพูนก็เริ่มหมดพล็อต ไม่รู้จะเขียนอะไรต่อดี จึงไปปรึกษาอาจินต์

เวลานั้น บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย เห็นว่า คำพูนมีถิ่นกำเนิดจากแดนอีสาน และที่ผ่านมาความรู้ของนักอ่านเกี่ยวกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้อยมาก จึงน่าจะหาประเด็นที่แปลกใหม่ น่าสนใจมาถ่ายทอด จึงแนะนำหนังสือชุด ‘บ้านเล็กในป่าใหญ่’ ให้ทดลองอ่าน

“ผมเบิกเงินได้แล้วก็ไปแถวหลังวังบูรพา ไปซื้อมาอ่านสองเล่มก่อน พี่อาจินต์บอกคุณมีของดี เหมือนหญิงสาวกำลังมีนมเต่งตึง แต่ไม่รู้ตัวเอง คุณเป็นลูกอีสานใช่ไหม ผมบอกว่าใช่ อ่านไป แม้มันจะเป็นชีวิตของคนอเมริกัน แต่ก็คล้ายชีวิตเราตั้งแต่เล็กๆ เลย พ่อพาไปหาปลาน้ำมูลน้ำชี เขามีหมาเราก็มีหมา แต่ไล่พังพอนเก่ง ก็มาเขียนให้พี่อาจินต์ดู 2-3 บท แกก็บอกว่าพยายามเขียนมาเรื่อยๆ

“ตอนนั้นพี่อาจินต์บอกว่าให้เขียนไปตามแนวของเรา เสียงอึ่งอ่างร้อง ฝนตกเป็นยังไง อ่านของคนอื่นได้ แต่อย่าไปตามเขา ผมอ่านบ้านเล็กในป่าใหญ่ไปถึงเล่มที่ 4-5 จำไม่ได้ อ่านยังไม่จบเลย เขียนไปถึงบทที่ 7-8 จดหมายผู้อ่านก็หลั่งไหล่เข้ามา”

จุดเด่นของลูกอีสานคือ การหยิบยกประสบการณ์ใกล้ตัวมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงาน นำเสนอผ่านชีวิตของ ‘คูน’ เด็กชายตัวน้อยที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางชนบทกับครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่ และน้องสาวอีก 2 คน คือ ยี่สุ่น และบุญหลาย โดยตัวละคร คูน คำพูนจำลองมาจากชีวิตของตัวเอง 

“ตอนแรกบอกเพื่อนว่า กูจะเขียนเรื่องชีวิตกู เพื่อนบอกมึงไม่อายเค้าเหรอ นักเขียนอีสานเยอะแยะ ไม่เห็นเค้าเขียน เอาฟอร์มเท่อท่า ความเด๋อด๋า กินปลาแดก ปลาร้า ไปเขียน ไม่อายเหรอ คนอีสานมีปมด้อย ขี้อาย แต่ผมก็บอกเพื่อนว่า ไม่อายหรอก กูเลือกเกิดไม่ได้ แล้วก็เลยเขียน”

ลูกอีสานฉายภาพสภาพสังคมของชาวอีสานในยุคปี 2480 ซึ่งเต็มไปด้วยความแห้งแล้ง ปีๆ หนึ่งแทบไม่มีฝนตกเลย เด็กๆ ยุคนั้นต้องจับกบ จับเขียดมากิน

แต่เมื่อมาอยู่ในสายตาของเด็กน้อย ภาพความลำบากจึงถูกตีความออกมาเป็นความสนุก การผจญภัย ยิ่งมาบวกกับสายสัมพันธ์ของคนในสังคม ความรักถิ่นฐาน ที่แม้จะต่างเชื้อชาติ แต่ทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว กลายเป็นเสน่ห์ที่ยากจะหาในเมืองใหญ่

ไม่เพียงแค่นั้น คำพูนยังผสมผสานภูมิปัญญาของคนท้องถิ่นที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งอาหาร งานหัตถกรรมท้องถิ่น การล่าสัตว์ ลงไปในงานสร้างสรรค์ เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพว่าทำไมคนอีสานจึงสามารถอยู่รอด ในชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดสนได้

นอกจากนี้ ลูกอีสานยังเป็นนวนิยายเล่มแรกๆ ของเมืองไทยที่นำภาษาถิ่นมานำเสนออย่างจริงจัง ซึ่งแม้จะถูกท้วงติงจากผู้อ่านบางคนว่า แปลไม่ออก แต่คำพูนก็เชื่อว่า ถ้อยคำที่กลั่นมาจากใจ จะสามารถสะท้อนอารมณ์และความรู้ที่เป็นจริงได้ดีกว่า

“ผมต้องการถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึกในช่วงนั้นให้ผู้อ่านได้ทราบว่า คนอีสาน เขาประสบความแร้นแค้นทุกข์ยากเพียงใด เมื่อแผ่นดินแตกระแหง เพราะขาดฝน เขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ด้วยวิธีต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยเห็น และไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นในแผ่นดินทองนี้ได้ทราบข้อเท็จจริง ตลอดจนความภูมิใจที่ชาวอีสานพบว่า แผ่นดินไทยนี้ยังมีน้ำในห้วย ในลำคลองให้ความเบิกบานกับชีวิตเขาต่อไปอีก”

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ลูกอีสานกลายเป็นวรรณกรรมที่กระแทกใจผู้คนในสังคมยุคนั้นไม่น้อย มีจดหมายจากลูกอีสานทั้งในและต่างประเทศหลั่งไหลมายังกองบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทย 

หลายคนบอกว่า เคยรู้สึกอับอายที่เกิดมาเป็นคนอีสาน แต่พอได้อ่านผลงานของคำพูนก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปบ้าง ที่สำคัญยังทำให้คนภาคอื่น เข้าใจคนอีสานมากขึ้น

“ชาวอีสานบางคนไม่ยอมบอกว่า ข้ามาจากอีสาน มันเป็นปมด้อยนะ เขากลัวถูกล้อ กลัวถูกดูถูก ว่าเป็นลูกบักข้าวเหนียว ลูกบักเสี่ยว บักขาลาย โง่เง่าเต่าตุน อย่างปู่ของผม แกไปบวชเป็นเณร อยากเรียนธรรมะ แกก็อุตส่าห์มาที่วัดแถวมักกะสัน ปู่ผมสักลายเต็มตัว พระในกรุงกลัวว่าแกเป็นผีปอบ กลัวแกมากินตับ เลยไม่ให้เข้าวัด ปู่ผมเลยน้อยใจ สึกออกไปรับจ้างเกี่ยวข้าว เดินกลับไปถึงบ้าน ”

หลังลูกอีสานตีพิมพ์ในนิตยสารครบทั้ง 36 ตอน เมื่อปี 2519 คำพูนอนุญาตให้สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเช่าลิขสิทธิ์ การรวมเล่มครั้งนั้นส่งผลให้ลูกอีสานคว้ารางวัลนวนิยายดีเด่น จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519 กลายเป็นหนังสือขายดี และชื่อคำพูนเริ่มพูดถึงมากขึ้น

หลังจากนั้นอีก 3 ปี นักเขียนอีสานผู้นี้ก็สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง เมื่อลูกอีสานถูกเลือกให้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือซีไรต์เล่มแรกของเมืองไทย ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และยังเป็นหนังสือนอกเวลาของโรงเรียนมัธยมอีกหลายแห่ง

และนั่นเองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนของนักเขียนวัย 50 กว่าไปตลอดกาล

02

ปราชญ์แห่งอีสาน

ความสำเร็จของลูกอีสานทำให้คำพูนเริ่มสร้างงานเกี่ยวกับชีวิตในชนบทอย่างต่อเนื่อง นำเสนอผ่านหลากรูปแบบ ตั้งแต่ นวนิยาย เรื่องสั้น นิทาน ความเรียง และสารคดี 

อย่าง ‘เลือดอีสาน’มีเนื้อหาต่อเนื่องจากลูกอีสาน บอกเล่าชีวิตชาวบ้านในชุมชนอีสาน ซึ่งหลายคนมาผจญชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ประกอบอาชีพต่างๆ ทั้ง กรรมกรแบกหาม เลี้ยงม้าแข่ง เลี้ยงควาย รีดนม ถีบสามล้อ หรือ ‘ผจญภัยทุ่งกุลาร้องไห้’นิยายผจญภัยแนวจินตนาการว่าด้วยความเชื่อ และตำนานพื้นบ้านอีสานแถบทุ่งกุลาร้องไห้ 

อีกเล่มที่สำคัญมาก คือ ‘นายฮ้อยทมิฬ’ บอกเล่าเรื่องราวของนายฮ้อย ผู้นำขบวนค้าควายฝูงใหญ่เดินทางข้ามเขตหลายจังหวัด ผ่านป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้าย บางครั้งก็มีโจรปล้น แต่สุดท้ายเขาก็นำคณะเดินทางอย่างปลอดภัย

เสน่ห์ของคำพูน คือการสอดแทรกความรู้เรื่องวิถีชุมชนได้ลงตัว โดยเฉพาะภูมิปัญญาต่างๆ อย่าง อาหาร เขาสามารถอธิบายได้อย่างละเอียด และเห็นภาพชัดเจน เช่นตอนทำลาบปลาร้า 

“..คูนสับปลาร้าในเขียงเบาๆ ตามแม่บอก พอปลาร้าละเอียด แม่จึงหยิบตะไคร้กับหัวข่าอ่อนที่ฝานไว้โรยลงไปให้คูนสับต่อ สักครู่แม่ก็หยิบหัวหอมแห้งกับพริกสดโรยลง พอคูนสับได้ 10 นาที แม่บอกหยุดแล้วตักข้าวคั่วโรยลงไปอีก..”

แม้แต่เรื่องชวนดรามา อย่างการจับจิ้งหรีด นก งู ตุ๊กแก มากิน คำพูนก็มีกลวิธีการแปลงสารให้น่าสนใจและดูสนุก เช่นทำให้เหมือนเป็นการผจญภัย พร้อมชี้ให้เห็นถึงการต่อสู้ของคนอีสานเพื่อเอาชีวิตรอดไปในตัว

“ผมต้องการให้อนุชนรุ่นหลังต่อไปอีก 100-200 ปี เห็นภาพว่าคนอีสานในอดีตเคยใช้ชีวิตอย่างไร การหากบ หาเขียดมากินทำกันอย่างไร กบตัวผู้มันร้องแบบไหน เสียงอึ่งเวลาถูกจับลงข้องมันร้องอย่างไร วิธีการเอาหมาไปไล่พังพอน หรือแม้แต่การจับจิ้งหรีดที่แม่เคยสอน กินเขาทำอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมเขียนมาจากจิตใจของผมทั้งสิ้น”

เช่นเดียวกับ คติความเชื่อแบบดั้งเดิม ก็มีทั้งเต็มไปหมดในงานของคำพูน อาทิ ความเชื่อเรื่องพญานาค ปลาบึก การขอฝนจากพญาแถน วัฒนธรรมเรื่องผญา (ภาษิตของชาวอีสาน) การเป่าแคน รวมไปถึงประเพณีฮิตสิบสองคองสิบสี่ ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายชาวบ้านที่ช่วยกำหนดพฤติกรรมของชาวอีสาน ให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข 

คลังความรู้ของคำพูน ส่วนหนึ่งสั่งสมมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ขณะที่อีกส่วนมาจากการพูดคุยกับบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น รวมทั้งหาความรู้ใส่ตัวจากการอ่านหนังสือ ติดตามข่าวสารเพื่อบันทึกความเป็นไปของสังคมแต่ละสมัย 

“ผมชอบฟังนิทานตอนเป็นเด็ก ตัวละครมีอิทธิฤทธิ์มาก อยากเป็นพระเอกเหมือนตัวละคร โตใหญ่ขึ้นมาก็ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญของโลก…

“แต่สำหรับ ชีวิตคนอีสาน ผมเขียนได้ไหลลื่น ไม่ต้องสร้างจินตนาการเลย เพราะได้ฟังกับหู ดูกับตา จนจำได้ติดตา เช่น อาการหิวจัด ร้อนจัด หนาวจัด ผิดหวังจัง  คนจนไม่ได้รับความยุติธรรม และจารีตประเพณีที่เขายึดถือมาจากปู่ย่าตายาย เวลาชาวบ้านทำบุญฮีตสิบสอง ก็สนใจไปดูทุกเดือน และสอบถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมกบเขียดจึงชอบอยู่รูยามฤดูแล้ง ทำไมพังพอนชอบกินงูและกินไก่ ทำไมจึงมักมีขโมยวัวควายในฤดูแล้งเลิกทำนา

ไม่แปลกเลยว่าทำไมหลายคนจึงยกให้คำพูนเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีบทบาทในการส่งต่อวัฒนธรรมอีสานไปสู่วงกว้าง และช่วยยกระดับศาสตร์ท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับจนถึงวันนี้

03

ชีวิตที่ผ่านมาแล้วทุกอย่าง

หากบอกว่า ชีวิตของผู้ชายคนนี้ โลดโผนโจนทะยานไม่แพ้ใครก็คงไม่ผิด เพราะเขาเป็นหมดแล้ว ตั้งแต่สามล้อ ครูประชาบาล ผู้คุมคุก

คำพูนออกจากบ้านที่ยโสธร หลังเรียนจบชั้นมัธยม ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่

“ผมอยากเป็นเจ้าคนนายคน เพราะได้เห็นตัวอย่างที่หมู่บ้านของตัวเอง เวลาศึกษาธิการอำเภอหรือจังหวัดมาที่หมู่บ้านก็จะขี่ม้าตัวใหญ่ๆ ไปพักอยู่ตามบ้านผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน พวกนี้จะได้กินแต่ของดีๆ ชาวบ้านจะล้มหมู ล้มวัว พวกเราเด็กๆ ก็จะยืนน้ำลายไหลยืดๆ เมื่อเห็นเขาเอาเป็ดไก่ชิ้นใหญ่ๆ ขึ้นมากิน คิดในใจเลยว่าโตขึ้นมา กูต้องเป็นนายให้ได้”

หากแต่เส้นทางชีวิตกลับไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เพราะเพราะพอมาถึงก็ไม่มีงานทำ ต้องไปช่วยน้าหาบฝรั่งดอง มะยมดองขายที่ท่าเรือคลองเตย บางทีก็ไปกรรมกร เป็นสามล้อถีบรับจ้างอยู่นานถึง 5 ปี พยายามสอบเข้าทำงานดีๆ ก็ไม่เคยติดสักที

กระทั่งเมื่อเพื่อนคนหนึ่งมาบอกว่า ปักษ์ใต้รับสมัครครูจำนวนมาก คำพูนต้องตีตั๋วรถไฟถึงสตูล อ่านหนังสือนานอยู่เกือบเดือน จนสอบได้ บรรจุเป็นครูประชาบาลสมใจอยาก

แต่ชีวิตที่สตูลก็ไม่ได้สุขสบายอย่างที่คิด เพราะการเดินทางสมัยนั้นไม่ได้สะดวกเลย เขาจึงขอย้ายไปอยู่บ้านเกิดที่ยโสธร ทำเรื่องอยู่นานไม่ผ่านสักที

ในที่สุด เขาก็เลยตัดสินใจย้ายงานแทน ไปเป็นผู้คุมเรือนจำอยู่ที่พัทลุง 

การคลุกคลีกับคนคุก ทำให้เขาได้เห็นโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยความมืดหม่นมากมาย

“พวกที่เป็นกลากเกลื้อน ผู้คุมจะให้กินคางคก บางคนช้ำในเพราะถูกผู้คุมซ้อม ให้กินลูกจิ้งจก จับหางมัน อ้าปาก หย่อนปุ๊บกลืนลงท้องไปเลย ผมเป็นทั้งผู้คุม ทั้งครู คำว่าครูนี่แหละที่ทำให้ผมไม่เคยซ้อมนักโทษ..

“บางครั้งนักโทษถูกซ้อมถูกตีก็วิ่งมากอดขา คุณครูครับ ช่วยผมด้วย จนเราถูกมองว่าเอาใจนักโทษมากเกินไป คนไหนไม่มีเงินจ้างทนายมาปรึกษา ให้ไปหาทนายความถูกๆ ให้ เราก็ไปให้ให้เขา จนถูกเขม่น เพราะเราเอาอุดมคติของความเป็นครูไปใช้ในเรือนจำ”

คำพูนใช้ชีวิตเป็นผู้คุมนานหลายปี จนเจอเรื่องที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เมื่อภรรยาคนแรกป่วยเป็นมะเร็งเต้านม รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ต้องกู้หนี้ยืมสิน แถมลูกอีก 5 คนกำลังอยู่ในช่วงวัยเรียน 

ด้วยความที่อยากหาเงินให้ได้มากๆ เขาก็เลยเข้าสู่วงการพนัน แต่แทนที่ได้เงินมากขึ้น กลับได้หนี้มาแทน เงินเดือนพัศดีแต่ละเดือน มีเจ้าหนี้สองรายมาแย่งกันรับ

เพื่อยุติปัญหาหนี้สิน ลุงจึงตัดสินใจเลิกเล่นพนันเด็ดขาด หันไปคลุกอยู่ในห้องสมุดเป็นปี เพื่อลืมความทุกข์ พร้อมกับอ่านหนังสือของนักเขียนที่ชอบ เพื่อศึกษาวิธีต่อสู้ชีวิตของตัวละครหวังจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาของตัวเอง จนมาเจองานของ มนัส จรรยงค์ เขียนชีวิตลูกทุ่งเป็นส่วนใหญ่ รู้สึกว่าเข้ากับตัวเองดี และตัวเองก็น่าจะพอเขียนได้บ้าง จึงตัดสินใจทดลองเขียนหวังจะได้เงินมาช่วยรักษาโรคร้ายของภรรยา โดยหยิบชีวิตในคุกมาเขียน ความยาวเกือบ 20 หน้า ส่งไปยังนิตยสารฟ้าเมืองไทย

แค่เรื่องแรกก็ได้ลงเลย เพียงแต่ บก.อาจินต์ ขอเปลี่ยนชื่อจาก 'รักในเหวลึก' เป็น 'นิทานลูกทุ่ง' แทน โดยได้รับค่าเรื่องครั้งแรก 150 บาท

อาจินต์ เคยบอกว่า งานของคำพูน มีค่าและมีเสน่ห์ เพราะเขาเขียนอย่างหนักแน่นแม่นยำจากความรู้จริง เขียนด้วยภาษาของคนซื่อ และที่สำคัญ คือเรื่องที่เขาเขียน อ่านแล้วจำไปอีกนาน

“ผมบอกให้เขาเขียนเรื่องต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดพุง ไม่กะเกณฑ์ว่าจะจบเมื่อไหร่ ถ้าผู้อ่านยังเขียนจดหมายมาบอกว่าสนุกก็จงเขียนต่อไป เขาก็ทำได้ดี และดีวันดีคืนอีกขั้นหนึ่ง จนเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพแล้ว”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผลงานของเขาหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับชีวิตในคุก จึงถูกเพ่งเล็งถึงขั้นส่งหนังสือมาแจ้งเตือนหลายหน มาหนักเข้า คำพูนก็เริ่มรู้สึกทนไม่ไหว จึงตัดสินใจขอลาออก

“พัศดีบอกว่าเขียนแต่ชีวิตคนคุก เป็นผู้คุมแล้วเอาเรื่องในคุกมาแฉแบบทุบหม้อข้าวตัวเอง เจ้านายเขาเลยสั่งมาว่า อย่าเขียนเรื่องนักโทษมีเซ็กซ์ หรือผู้คุมรีดไถ เลยตัดสินใจลาออก ทั้งที่เมียก็ยังเจ็บหนัก แต่เราก็ต้องทน ต้องกลั้น มุ่งมั่นแล้ว ขอตายคาปากกา”

โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นาน ผลงานของเขาได้รับรางวัลต่างๆ กลายเป็นหนังสือขายดี แถมบางเรื่องยังถูกขอซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นละคร ภาพยนตร์ ส่งผลให้คำพูนหยัดยืนในอาชีพนี้ได้นานกว่า 30 ปี

04

การต่อสู้ครั้งสำคัญของลูกอีสาน

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนซีไรต์คนแรกของเมืองไทย รวมทั้งยังได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2544 แต่ชีวิตของคำพูนก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เขาต้องต่อสู้กับความยากลำบาก และความอยุติธรรมหลายครั้ง

อย่างช่วงที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย ปิดตัวเมื่อปี 2532 ชีวิตของคำพูนก็เคว้งไปพอสมควร เพราะผลงานหลายเล่มก็ไม่ใช่แนวพิมพ์นิยมเท่าใด โดยเฉพาะสารคดี และนิทานพื้นบ้าน มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คำพูนต้องตัดใจยอมขายลิขสิทธิ์แบบขาดแก่สำนักพิมพ์ ทั้งที่ปกติเขาหวงแหนเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาก แต่เมื่อเป็นความจำเป็นก็ต้องยอม

สุดท้ายเขาก็เลยตัดสินใจตั้งสำนักพิมพ์ ‘โป๊ยเซียน’ ตามชื่อดอกไม้ที่ภรรยาคนสุดท้ายชื่นชอบ โดยเขาได้นำหนังสือเก่าที่หมดสัญญากับสำนักพิมพ์ต่างๆ มาพิมพ์ เล่มแรกคือ ‘สัตว์พูดได้’ แต่เล่มที่สำคัญสุดคือ ‘ลูกอีสาน’ ซึ่งคำพูนถือโอกาสปรับปรุง เพิ่มเชิงอรรถ เพิ่มภาคผนวก และภาพประกอบสี่สีด้วย พร้อมกับมีฉบับนักเรียน จำหน่ายในราคาย่อมเยาเพียงเล่มละ 100 บาท

อย่างไรก็ดี วิบากของนักเขียนดังก็ยังไม่จบ เพราะหลังพิมพ์ลูกอีสานขายได้พักใหญ่ ปรากฏว่าไม่มีห้องสมุดสั่งซื้อหนังสือเลย ทั้งที่เป็นหนังสือนอกเวลา กระทั่งคำพูนมาทราบทีหลังว่า สำนักพิมพ์ที่เคยให้สิทธิ์จัดพิมพ์ถึง 23 ปี ยังคงขายลูกอีสานอยู่ ทั้งที่หมดอายุสัญญาไปแล้ว 2 ปี

คำพูนพยายามต่อสู้ เพื่อให้สำนักพิมพ์นั้นยุติการขาย แต่ไม่เป็นผล เขาจึงยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา คดียืดเยื้อมานาน 2 ปี แถมยังโดนขู่ว่า หากแพ้คดีจะถูกฟ้องกลับ ต้องติดคุก แต่คำพูนก็สู้ตาย วิ่งเต้นเดินเรื่อง ยืมเงินคนรู้จักมาเป็นค่าใช้จ่าย สุดท้ายชนะคดี จนกลายเป็นคดีตัวอย่างของวงการน้ำหมึกไทย

 

น่าเสียดายที่รอยยิ้มแห่งชัยชนะของคำพูนอยู่ได้ไม่ถึง 2 เดือน เพราะหลังจากเข้ารับการผ่าตัดอาการลำไส้โป่ง คำพูนเกิดอาการหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546

แต่แม้นักเขียนอาวุโสจะจากไปอย่างกะทันหัน แต่บทเรียนชีวิตของนักสู้แห่งแดนไกลผู้นี้ ก็ไม่เคยจางหายไปไหน หากยังเด่นชัดเสมอทุกครั้งเมื่อพูดถึงคำว่า ‘ลูกอีสาน’

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดาได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

ข้อมูลและภาพประกอบการเรียบเรียง

  • หนังสือปราชญ์อีสาน คำพูน บุญทวี
  • หนังสือลูกอีสาน โดยคำพูน บุญทวี
  • นิตยสารโลกหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 เดือนมกราคม 2521
  • นิตยสารถนนหนังสือ ปีที่ 2 ฉบับที่ 5 เดือนพฤศจิกายน 2527
  • นิตยสารกุลสตรี ปีที่ 28 ฉบับที่ 651 เดือนกุมภาพันธ์ 2541
  • นิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 50 ฉบับที่ 52 วันที่ 21-27 พฤษภาคม 2547
  • หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 6 เมษายน 2546

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0