สาวสวยยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ จังหวัดเชียงใหม่ หัวก้าวหน้าสานต่อธุรกิจปลูกพืชเมืองหนาวของครอบครัว พัฒนาคุณภาพขยายตลาดส่งห้างสรรพสินค้า สร้างรายได้สัปดาห์ละแสนกว่าบาท
คุณภัคจิรา ยาวงค์ (คุณยุ่งยิ่ง) ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ปี 2561 อยู่บ้านเลขที่ 36 หมู่ที่ 1 ตำบลบ่อหลวง07 อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ก่อนที่จะยึดอาชีพเกษตรกรรม ตนเรียนจบการเงินการธนาคารมาก่อน หลังจากเรียนจบได้ทำงานเทศบาล และใช้ช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ช่วยที่บ้านทำงานเกษตร ซึ่งเดิมพี่ชายเป็นคนริเริ่มทำมาก่อน ตนกับแม่มีหน้าที่ช่วย และซึมซับเทคนิควิธีการมาเรื่อยๆ จนชำนาญ กระทั่งช่วง 2 ปีหลังที่ผ่านมา พี่ชายสอบบรรจุข้าราชการเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ไม่ค่อยมีเวลา ตนจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาช่วยงานที่บ้านอย่างเต็มตัว
ที่บ้านเริ่มทำอาชีพเกษตรกรรมมานาน 6-7 ปี ตอนนี้ปลูกผัก 25-30 ชนิด บนพื้นที่ 20 ไร่ โดยสภาพพื้นที่ปลูกเป็นที่ราบสูง มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,200-1,300 เมตร เหมาะกับการปลูกพืชผักเมืองหนาวเป็นอย่างมาก ตนจึงมองเห็นโอกาสและเลือกชูผักสลัดมาเป็นอันดับหนึ่งในการสร้างรายได้ เพราะคนกินทุกวันและปลูกได้ตลอดทั้งปี
นอกจากผักสลัดก็ยังมีผักอีกหลายชนิดปลูกผลัดเปลี่ยนให้มีความหลากหลาย ทั้งมะเขือเทศเชอรี่ มะเขือเทศท้อ และมะเขือเทศหลากสี ต้นหอม ผักโขม เบบี้แครอท พืชตระกูลผักหัว บร็อกโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำหัวใจ กะหล่ำกลม ผักกาดขาว บีทรูท คะน้าฮ่องกง คะน้าเห็ดหอม
และผักตัวใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแต่หายากในตอนนี้คือ คะน้าเคล (Kale) เป็นคะน้าใบหยิก ที่นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาจากประเทศฮอลแลนด์ ถือเป็นผักที่ตลาดกำลังต้องการแต่หาซื้อยาก เนื่องจากคะน้าเคลมีคุณประโยชน์ทางสารอาหารเยอะ ผู้บริโภคสามารถบริโภคแทนเนื้อสัตว์ได้ เหมาะกับลูกค้าที่อยากกินเนื้อสัตว์ แต่มีปัญหาระบบขับถ่าย ในคะน้าเคลจะมีแคลเซียม โอเมก้าสาม ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของเซลล์ผิว ผักตัวนี้เราสามารถปลูกได้ทั้งปีในระบบโรงเรือน สามารถควบคุมการผลิตได้ ตอนนี้พยายามศึกษาข้อมูล คุณประโยชน์ไปเรื่อยๆ เพื่อในอนาคตจะขยายตลาดให้กว้างกว่านี้
**ปลูกผักเมืองหนาว 30 ชนิด บนพื้นที่ 20 ไร่
ดูแลยังไงให้ทั่วถึง**
เจ้าของบอกว่า เนื่องจากพี่ชายมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านการเกษตร จึงได้เปรียบกว่าที่อื่น ก่อนทำลงมือปลูกพืชผักชนิดใด พี่ชายจะมีการศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียดก่อน แล้วจึงมาบอกต่อกับเราและคุณแม่ ในการถ่ายทอดความรู้แต่ละครั้งจะต้องใช้ความตั้งใจและละเอียดกับพืชที่จะปลูก มีการแบ่งพืชเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนและแม่นยำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ยกตัวอย่างพืชที่ต้องปลูกในโรงเรือน ต้องรู้ว่าพืชตัวนี้สามารถปลูกในโรงเรือนได้นานเท่าไร ปลูกได้เดือนไหนถึงเดือนไหน เมื่อได้ข้อมูลมาเราก็จะมาวางแผนการผลิตให้ออกขายได้ทั้งปี เช่น มะเขือเทศ ต้องปลูกในโรงเรือนเท่านั้น หรือถ้าเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่จำเป็นต้องปลูกในโรงเรือน เราก็จะดูว่าเขาอยู่ในโรงเรือนได้ฤดูไหนถึงฤดูไหน และพืชตัวไหนที่สามารถอยู่กลางแจ้งได้ตลอดทั้งปีก็จะจับแยกไป ผักทุกชนิดต้องศึกษาความเหมาะสม ถึงจะควบคุมการผลิตได้ แต่ในกรณีหน้าฝนพืชจะถูกย้ายมาปลูกในโรงเรือนเกือบทั้งหมด เพื่อควบคุมเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และปริมาณน้ำ เพราะผักบางตัวไม่ชอบน้ำเยอะ
ขั้นตอนการเตรียมแปลง
การเตรียมแปลงไม่แตกต่างจากพืชชนิดอื่น จะต่างเฉพาะมะเขือเทศที่ต้องปลูกในถุงใส่ขุยมะพร้าวพร้อมระบบน้ำหยดปลูกในโรงเรือน ส่วนถ้าเป็นพืชกลางแจ้งปลูกลงดิน ให้ใช้รถไถเล็กพรวนดิน เกลี่ยแปลงให้เสมอ แล้วปลูกสลับซ้ายขวาผักใบกะความกว้างระยะที่พอดี คือ หนึ่งคืบ ส่วนผักหัว ให้ยกแปลงนิดเดียว เพียง 20 เซนติเมตร แล้วปลูกห่างกันสองคืบ ในการบำรุงดินให้ปั่นขี้ไก่ผสมลงในแปลงปลูกเพื่อเสริมแร่ธาตุในดิน
วิธีการเพาะเมล็ด
ถ้าเป็นผักสลัดทุกชนิด แนะเทคนิคสำคัญคือ ให้เพาะเมล็ดในกระดาษทิชชูแล้วแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ 4 วัน แล้วค่อยนำมาชำใส่ถาด วิธีนี้เมล็ดพันธุ์เติบโตได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อก่อนเคยเพาะลงถาดเหมือนที่อื่นทั่วไป คือได้เมล็ดมาแล้วเพาะลงถาดเลย ผลคือ ทำให้เมล็ดชื้นและเน่าก่อน ได้ประสิทธิภาพไม่เต็มที่ จึงลองศึกษาหาวิธีอื่น จนได้ค้นพบว่าก่อนปลูกให้นำกระดาษทิชชูชุบน้ำพอหมาดมาวางใส่ในกล่องพลาสติก หลังจากนั้นให้โรยเมล็ดลงบนกระดาษทิชชูในปริมาณที่เหมาะสม แล้วนำไปแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ 4 วัน แล้วจึงค่อยนำออกมาชำลงถาด
วิธีนี้ใช้แล้วได้ผลดี ช่วยลดต้นทุนค่าเมล็ด และลดแรงงานในการชำกล้าได้มากพอสมควร เมื่อชำกล้าลงถาด หลังจากนั้นเลี้ยงไว้ 20-25 วัน และค่อยย้ายลงดินปลูก และนับไปอีก 20-30 วัน เริ่มเก็บผลผลิตได้ ยกเว้นสลัดแก้วจะยืดเวลาไปอีก 10 วัน
ส่วนพืชชนิดอื่น เช่น ปวยเล้ง คะน้า บีทรูท จะใช้วิธีหยอดเมล็ดไว้หลุมละ 1-2 ต้น ไม่ต้องแช่เมล็ด หลังจากนั้นขึ้นอยู่ที่การงอกของเมล็ดพันธุ์แตกยอดยากง่ายต่างกัน หากพืชชนิดไหนมีอายุการเก็บเกี่ยวเท่ากันก็สามารถปลูกในแปลงเดียวกันได้ อย่าง กรีนโอ๊ค กับเรดโอ๊ค แต่ถ้าเป็นกรีนโอ๊คปลูกกับเบบี้คอสไม่ได้ เพราะเบบี้คอสอายุการเก็บเกี่ยวนานกว่า
งานดูแลรักษา
เบื้องต้นแปลงปลูกต้องสะอาด ดายหญ้าให้เตียน หญ้ายิ่งเยอะจะเป็นแหล่งสะสมแมลงชั้นดี ผักเมืองหนาวถือว่าดูแลไม่ยาก เพียงแค่ต้องเอาใจใส่ มีการฉีดพ่นสารชีวภัณฑ์ผสมกับน้ำหมัก มีการใช้เชื้อแลคโตบาซิลลัสในการฉีดพ่นเพื่อกระตุ้นให้เชื้อเดินได้ดี และถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้ผสมเชื้อแลคโตบาซิลลัสกับนมสด หรือนมถั่วเหลือง หมักทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำไปพ่นผักช่วยล่อแมลงให้มากิน จึงออกฤทธิ์ภายในสามวันแมลงก็จะตายก่อนที่ผักจะโต หรืออีกวิธีคือไม่ปลูกซ้ำที่เดิม ต้องมีการหมุนเวียนแปลงปลูกตลอดทั้งปี
ระบบน้ำ… ที่นี่ขุดสระใช้เอง 3 บ่อ การให้น้ำแล้วแต่ความเหมาะสมของพืช ถ้าเป็นมะเขือเทศต้องให้ระบบน้ำหยดปักตามต้น ส่วนผักชนิดอื่นใช้คนรด ในแต่ละวันจะใช้น้ำรดผัก วันละเกือบ 10,000 ลิตร หน้าแล้งจะรดตอนเช้า 1 รอบ ช่วง 4-6 โมงเย็น อีกหนึ่งรอบ แต่ถ้าเป็นพืชระบบน้ำหยด รดวันละ 1 ครั้ง นาน 10-15 นาที
ปุ๋ยละลายน้ำ… มีการเพิ่มมิเตอร์วัดปริมาณเพื่อที่จะสามารถควบคุมพืชที่ปลูกได้ สมมุติว่าใส่ปุ๋ยเท่านี้ ผสมน้ำ 1,000 ลิตร จะปลูกได้กี่แปลง เพื่อคุณภาพและความแม่นยำ
ต้นทุนการผลิต
เริ่มแรกลงทุนมากพอสมควร เพราะต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด ทั้งการปรับพื้นที่ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าโรงเรือน ค่าแรงงาน และค่าจิปาถะอื่นๆ เกษตรกรมือใหม่หากจะทำต้องศึกษาข้อมูลดีๆ หากไม่มีประสบการณ์ทำให้ตายก็ไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เมื่อใดที่มีประสบการณ์ทำได้จนอยู่ตัวแล้ว รับรองว่ารายได้คุ้มค่าเหนื่อย ยกตัวอย่าง ตอนนี้ที่สวนทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว จะเสียแค่ค่าเมล็ดพันธุ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนเราทำเมล็ดพันธุ์เอง
และที่ต้องยอมเสียมากหน่อยคือ แรงงาน ที่ต้องใช้มากถึง 20 คน ใช้ขึ้นแปลงตัดแต่ง และเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่รายได้ถือว่าคุ้มค่า อย่างตอนนี้ที่สวนมี คะน้าเคล ราคาพ่อค้ารับจากสวน กิโลกรัมละ 300 บาท รองลงมาคือ ผักปวยเล้ง ราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ส่วนผักชนิดอื่นๆ ราคาขึ้นอยู่ตามฤดูกาล รายได้เป็นรายสัปดาห์นับหลักแสน หักต้นทุน 30,000 บาท ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีมาก แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ก็ไม่ง่ายเช่นกัน
เทคนิคการตลาดทำอย่างไร
ให้สินค้าได้มาตรฐาน ส่งเข้าห้างสรรพสินค้าได้
คุณยุ่งยิ่ง บอกว่า อันดับแรกของการผลิตสินค้าส่งห้าง เกษตรกรต้องรู้กฎระเบียบของห้าง และต้องศึกษาพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้าใจ ภายในสวนหรือแปลงปลูกต้องได้มาตรฐาน GMP และ GAP รับรองคุณภาพ ต้องมีทั้งสองมาตรฐานนี้ควบคู่กัน ในทุกสัปดาห์ต้องมีการส่งผลผลิตเข้าตรวจสารปนเปื้อน เพื่อรับรองคุณภาพ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลนานกว่า 4 เดือน ศึกษาทั้งในเรื่องของกฎระเบียบของห้าง และศึกษาถึงคู่แข่งทางการตลาด
จุดนี้ถือว่าต้องใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมาก มีการวางแผนมองจุดอ่อนและจุดแข็งของตัวเอง เพื่อที่จะไปสู้กับเจ้าอื่น ต้องลงทุนไปหาว่ามีสวนไหนบ้างที่ส่งผักเหมือนเรา แล้วเราสามารถตีตลาดคู่ไปกับเขาได้ไหม เรื่องคุณภาพสู้เขาได้หรือเปล่า แล้วเขาส่งกี่ที่ ต้องทำการบ้านลึกถึงขนาดนี้ เมื่อมีข้อมูลครบ เราหันมามองผลผลิตตัวเองว่าพร้อมที่จะสู้กับคนอื่นได้ไหม หากสู้ได้ก็ติดต่อไปที่ฝ่ายจัดซื้อของทางห้าง เพื่อขอพรีเซนต์สินค้าที่เรามี หากเขาสนใจเขาจะเดินทางมาตรวจที่สวนเราอีกครั้ง ว่ามีการผลิตและได้มาตรฐานอย่างที่พูดไว้ไหม หากเป็นไปตามนั้นตกลงทำสัญญากันได้ ทางห้างจะเริ่มออเดอร์สินค้าเราเอง ซึ่งตอนนี้ทำผักส่งทั้งหมด 3 ที่
- ห้างแม็คโคร ที่เชียงใหม่ 3 สาขา ส่งผักกว่า 25 ชนิด หมุนเวียนตามฤดูกาล ส่งผักสัปดาห์ละ 2 ครั้ง
- ส่งคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- โรบินสัน เชียงใหม่ ในรูปแบบฝากขาย กำหนดจำนวนและราคาเอง หากของเสียก็รับผิดชอบเอง
ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่ ปรับตัวอย่างไร หากสินค้าล้นตลาด
เจ้าของบอกว่า อาชีพเกษตรกรรมไม่ง่าย ก่อนที่จะลงมือปลูกให้นึกถึงตลาดก่อน ถ้าปลูกแล้วมีตลาดรองรับไหม หรือความต้องการของตลาดตอนนี้เป็นอย่างไร พยายามเลือกปลูกพืชที่ตลาดมีความต้องการ อันดับถัดมาคือ ต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่จะปลูกว่าเหมาะกับพืชที่จะปลูกไหม ถ้าสองอย่างนี้ควบคู่กันได้ ให้ลงมือปลูก แต่อย่าลืมว่าในการปลูกพืชแต่ละชนิด
ก่อนอื่นต้องเข้าใจธรรมชาติก่อน อย่างผักใบ จะไม่ทนต่อสภาพอากาศและโรคแมลง ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่ถ้าทำได้การตลาดนับว่าสดใส เพราะผักใบเป็นอะไรที่คนกินทุกวัน ตลาดต้องการเยอะ เช่น คะน้า ผักชี ต้นหอม ผักสลัด กะหล่ำปลี วางแผนการปลูกได้ไม่ยาก ถ้าเป็นหน้าหนาวผักสลัดออกเยอะที่ไหนก็ปลูกได้ ผักล้นตลาด แนะให้วางแผนลดการผลิตตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม แล้วให้คำนวณถาดที่เพาะ ปลูกออกมาแล้วจะได้ผักกี่กิโลกรัม เพื่อจัดการผลผลิตไม่ให้ล้นตลาด ราคาก็ไม่ตก เราจะไม่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเชิงเดียว ให้ปลูกแบบผสมผสานแทน เพราะถ้าวันไหนผักตัวนี้ราคาตก เรายังมีผักตัวอื่นมารองรับ
หากเกษตรกรท่านใดสนใจอยากได้ความรู้เพิ่มเติม ทางสวนผักดอยโอเค ยินดีให้ทุกคนเข้ามาศึกษาดูงานก่อนได้ เพราะอยากให้ทุกคนมีรายได้ และเรียนรู้การตลาดที่ดี ป้องกันราคาตก โทร. 089-635-2235 คุณภัคจิรา ยาวงค์ (คุณยุ่งยิ่ง)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562
ความเห็น 1
Fon
เป็นความรู้ที่ดี ควรเสนอข่าวแบบนี้เยอะๆค่ะ
02 เม.ย. 2562 เวลา 02.32 น.
ดูทั้งหมด