โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดโพลล์! ยูนิฟอร์มแบบไหนได้ใจคนทำงาน

นิตยสารคิด

อัพเดต 06 มิ.ย. 2566 เวลา 23.56 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2566 เวลา 23.56 น.
uniform-design-cover
uniform-design-cover

ยูนิฟอร์ม หรือ ชุดเครื่องแบบ เป็นสิ่งที่ผู้คนทั้งรักและเกลียดไปพร้อมกันได้อย่างน่าประหลาด จะบอกว่ารัก อยากสวมใส่ทุกวันก็ไม่ใช่ จะบอกว่าเกลียดหรือไม่เห็นประโยชน์ใด ๆ เลยก็ไม่เชิง

โดยถ้าไปค้นหาความหมายของคำว่า ยูนิฟอร์ม (Uniform) จากพจนานุกรม collinsdictionary.com จะพบว่า

ยูนิฟอร์ม (คำนาม) หมายถึง ชุดเสื้อผ้าที่ทำมาเป็นพิเศษสำหรับบางคน เช่น ทหาร ตำรวจ เพื่อใช้สวมใส่ในการปฏิบัติงาน หรือชุดเสื้อผ้าสำหรับให้เด็ก ๆ สวมใส่ไปโรงเรียน

ยูนิฟอร์ม (คำนาม) หมายถึง รูปแบบการแต่งกายแบบเฉพาะซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ใส่เป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

เช่นนี้แล้ว ยูนิฟอร์ม หรือ ชุดเครื่องแบบ จึงเกี่ยวพันกับผู้คนทั้งในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และอาชีพการงาน หลายคนเชื่อว่า การสวมชุดเครื่องแบบในโรงเรียน ทำให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงความเท่าเทียมกัน การสวมยูนิฟอร์มช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมืออาชีพและความน่าเชื่อถือ ในอุตสาหกรรมการบริการ การสวมเครื่องแบบของพนักงานนับเป็นเรื่องสามัญที่พบได้ทั่วไป ส่วนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การสวมยูนิฟอร์มอาจขัดกับการแสดงออกซึ่งตัวตนของผู้สวมใส่ แต่เหตุผลด้านความเชื่อของการสวมและไม่สวมยูนิฟอร์มที่ว่ามานั้น จะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ยังเป็นสิ่งที่ต้องถกเถียงกันได้อย่างสร้างสรรค์เสมอ

1.jpg

Hunters Race / Unsplash

เหตุผล (แบบจับต้องได้) ของคนชอบสวมชุดเครื่องแบบ
ประหยัด การสวมชุดเครื่องแบบเป็นเรื่องเรียบง่าย มันประหยัดทั้งเวลาและเงินตรา ตื่นเช้า หยิบชุดมาสวมใส่และออกไปลุยงาน ไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าจะแต่งกายอย่างไรในแต่ละวันทำงาน สำหรับบางอาชีพ เช่น เชฟ บาริสต้า งานที่เกี่ยวกับสารเคมี การสวมยูนิฟอร์มยังช่วยให้เสื้อผ้าในชีวิตประจำวัน (โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่มีราคาแพง) ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนจนต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ให้ปวดใจ

สวมใส่สบาย บรรดาพนักงานอาจรู้สึกดีกับชุดเครื่องแบบที่บ่งบอกถึงความเป็นองค์กรหรือแบรนด์ ในขณะเดียวกันก็ต้องสวมใส่สบายและสะดวก ช่วยส่งเสริมให้ปฏิบัติงานได้ดี เช่น มีเนื้อผ้าเหมาะสมกับสภาพอากาศทำให้สวมใส่ได้ทั้งวัน ในทางตรงกันข้าม ชุดยูนิฟอร์มที่สวมใส่แล้วอึดอัด อาจส่งผลเสียให้พนักงานทำงานกับองค์กรได้ไม่ยืนยาว

สร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ทั้งความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับทีมและเป็นตัวแทนหรือภาพลักษณ์ขององค์กร การสวมยูนิฟอร์มยังทำให้ลูกค้าแยกแยะพนักงานผู้ให้บริการออกจากผู้รับบริการอื่น ๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ ชุดเครื่องแบบจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและการจดจำต่อแบรนด์ ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่พนักงานสวมยูนิฟอร์ม พวกเขามักจะรักษามารยาทและความสุภาพโดยอัตโนมัติ เพราะชุดที่สวมใส่ระบุถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ตนทำงานอยู่

2.jpg

Freepik

แล้วในมุมของผู้เห็นต่างล่ะ
เมื่อมีคนรู้สึกโอเคกับการใส่ยูนิฟอร์ม ย่อมมีคนคิดเห็นต่างออกไป นอกจากเรื่องของการลิดรอนสิทธิ์หรือรสนิยมส่วนบุคคลแล้ว ยังมีอีกหลายเหตุผลที่พนักงานจะไม่อินกับการใส่ยูนิฟอร์ม อาทิ

เสียเวลา เป็นความจริงว่าสำหรับบางอาชีพ การสวม “เครื่องแบบ” ทำให้เสื้อผ้าที่ใช้สวมใส่ในชีวิตจริงไม่เปรอะเปื้อนจากการปฏิบัติงาน แต่พนักงานเองก็ต้องใช้เวลามากมายเพื่อทำความสะอาดชุดเครื่องแบบที่เลอะเทอะเหล่านั้นให้ดีและให้พร้อมใช้ในวันถัดไป เพราะบางคนก็ไม่ได้มีชุดยูนิฟอร์มจำนวนมากเท่ากับจำนวนวันทำงาน

ขาดความสะดวกสบาย ใช่ว่าชุดเครื่องแบบของทุกบริษัทจะถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพการทำงานจริง ในหลายองค์กร ชุดเครื่องแบบที่ออกแบบมาโดยไม่คำนึงถึงการใช้งานจริง ก็ทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายต่อพนักงานได้ เช่น กระโปรงทรงดินสอที่แคบและพอดีตัวของแอร์โฮสเตสบางสายการบินที่อาจไม่เหมาะกับการสวมใส่ปฏิบัติงานจริง

3.jpg

Lookstudio / Freepik

ยูนิฟอร์ม ≠ ภาพลักษณ์องค์กร การบังคับให้พนักงานสวมยูนิฟอร์มไม่ใช่วิธีเดียวที่จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรหรือแบรนด์เป็นที่จดจำ องค์กรควรลงทุนกับพนักงานที่มีศักยภาพและสร้างการมองเห็นคุณค่าในแต่ละหน้าที่มากกว่าจะมาโฟกัสเรื่องชุดเครื่องแบบ ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดที่ว่าชุดเครื่องแบบช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กรยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยหน่าย เพราะพวกเขาต้องคอยระมัดระวังตัวเองและแบกรับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอยู่ตลอดเวลา

4.jpg

Drobotdean / Freepik

ออกแบบยูนิฟอร์มอย่างไรให้โดนใจพนักงานและองค์กร
เมื่อมีทั้งความรู้สึกชอบและไม่ชอบกับการสวมใส่ยูนิฟอร์ม ดังนั้น ในฐานะดีไซเนอร์ที่ต้องดูแลการออกแบบให้กับแบรนด์หรือองค์กรก็ต้องพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบด้วยเสมอ เพื่อให้ผลงานที่ออกมาสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ถามใจผู้สวมใส่จริง ข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ลองทำแบบสำรวจความคิดเห็นของพนักงานที่ต้องสวมใส่ชุดเครื่องแบบดูว่าพวกเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร มีความต้องการพิเศษใดบ้าง เช่น ต้องมีกระเป๋าเสื้อไว้ใส่อุปกรณ์การทำงาน เนื้อผ้าเหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำและสภาพอากาศ หากต้องการความคิดเห็นแบบตรงจุด ให้ทำแบบสำรวจแล้วรวบรวมข้อมูลมาสรุปดู การทำแบบสำรวจแบบนิรนามจะทำให้ผู้ตอบสบายใจและตรงไปตรงมาได้มากขึ้น อย่าลืมว่านอกจากจะเป็นภาพลักษณ์ขององค์กรแล้ว ชุดเครื่องแบบยังสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับพนักงานได้เช่นกัน
5.jpg
  • Wayhomestudio / Freepik

  • มองจากมุมของลูกค้า นอกจากพนักงานผู้สวมใส่จริง อย่าลืมนึกถึงใจลูกค้าหรือผู้รับบริการขององค์กรนั้น ๆ ว่าพวกเขาคิดเห็นเช่นไรกับชุดเครื่องแบบที่พนักงานสวมใส่ เพราะพวกเขานับเป็นกลุ่มคนที่ต้องข้องเกี่ยวโดยตรงกับพนักงานผู้สวมยูนิฟอร์ม ชุดยูนิฟอร์มควรต้องสร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

  • มองจากมุมขององค์กร พิจารณาว่าองค์กรที่ต้องการยูนิฟอร์มนั้นเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ประเภทของธุรกิจจะเป็นตัวกำหนดหน้าตาของยูนิฟอร์ม ยกตัวอย่างเช่น เครื่องแบบของพนักงานร้านสปาและร้านฟาสต์ฟู้ดย่อมแตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาพลักษณ์และการจดจำแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ สีประจำองค์กร หรือแม้กระทั่งสีที่ทางองค์กรต้องการหลีกเลี่ยง

6.jpg
  • Freepik

  • โอบรับกับทุกสรีระ เพราะคนเรามีสรีระที่แตกต่างกันไป ชุดเครื่องแบบจึงต้องมีไซส์ที่หลากหลายไปได้กับทุกรูปร่าง และมีสไตล์ที่ทุกคนสบายใจที่จะสวมใส่

  • สวยงามแต่ไม่ละเลยฟังก์ชัน บางองค์ประกอบของยูนิฟอร์มสวย ๆ ในแบบร่าง เช่น รองเท้าส้นสูง ปกเสื้อที่ตั้งแข็ง อาจทำให้ผู้สวมใส่ปฏิบัติงานลำบากและไม่สบายตัว ดังนั้นนอกจากความสวยงามแล้ว ยูนิฟอร์มชุดหนึ่งจำเป็นต้องมีความทนทาน ยืดหยุ่นต่อการใช้งานจริง สกปรกยาก แต่ทำความสะอาดง่าย และสวมใส่สบายเหมาะแก่สภาพอากาศและการทำงานในแต่ละวัน

7.jpg

Mikita Yo / Unsplash

ไม่ใช่ยูนิฟอร์มแต่ก็เป็นยูนิฟอร์ม
นอกจากชุดยูนิฟอร์มที่ตั้งใจออกแบบมาสวมใส่กันโดยเฉพาะ ยังมีเครื่องแต่งกายบางชนิดที่กลายเป็นยูนิฟอร์มหรือภาพจำสำหรับบางอาชีพไปเรียบร้อยแล้ว

  • ชุดดำกับทีมงานเบื้องหลังเวที
    ทีมงานเบื้องหลังเวทีงานแสดงต่าง ๆ (Stage Crew) ล้วนสวมชุดดำล้วนกันจนแทบจะกลายเป็นกติกาสากล เหตุที่พวกเขานุ่งห่มเสื้อผ้าสีดำล้วนในการทำงานเป็นเพราะพวกเขาคือคนเบื้องหลังที่ต้องหายตัวไปในเงามืดเมื่อหมดหน้าที่ตรงหน้าเวที และปล่อยให้บรรดานักแสดงออกสู่แสงไฟเพื่อทำการแสดงและดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้เต็มที่ นอกจากจะแต่งกายด้วยสีดำล้วนแล้ว เหล่าทีมงานเบื้องหลังยังไม่ค่อยจะสวมเครื่องประดับกันเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลเดียวกัน ว่าพวกเขาไม่ต้องการแย่งความสนใจจากสายตาของผู้ชมมาไว้ที่ตนเอง
8.jpg

Freepik

  • ศัลยแพทย์กับรองเท้า Crocs ของพวกเขา
    บางคนอาจมองว่ารองเท้าสไตล์ Crocs ดูเทอะทะ แต่มันกลับเป็นรองเท้าคู่โปรดเมื่อศัลยแพทย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ นั่นเป็นเพราะรูปทรงที่มีหน้าเท้ากว้างและส้นหนา ๆ ที่ช่วยให้คุณหมอยืนนาน ๆ ได้โดยไม่ปวดส้นเท้า และเดินเหินได้สะดวกเพราะหน้าเท้าไม่ถูกบีบรัด อีกคุณสมบัติโดนใจคือ รองเท้าชนิดนี้ยังผลิตจากยางจึงทำความสะอาดง่ายเพราะระหว่างการปฏิบัติงานอาจมีการเลอะคราบเลือดหรือของเหลวต่าง ๆ ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ เราจึงชินตากับศัลยแพทย์ในชุดยูนิฟอร์มพร้อมทำงานและปิดท้ายด้านล่างสุดด้วยรองเท้า Crocs นั่นเอง

กล่าวได้ว่า เครื่องแบบก็เปรียบเหมือน “สื่อโฆษณา” ขององค์กร ชุดที่ช่วยให้พนักงานสวมใส่แล้วดูดี รู้สึกมั่นใจ ก็จะส่งผลกลับมาสู่แบรนด์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันผู้สวมใส่ก็จะเกิดความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญไปสู่การสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรต่อไป

ที่มา :
บทความ “Staff Uniforms: What Matters Most to Your Staff?” โดย Jermyn Street Design จาก https://jsd.co.uk
บทความ “Why Everyone Should Wear A Work Uniform” โดย Sleek team จาก www.sleek-mag.com
บทความ “Top 20 Pros and Cons of Wearing Uniforms at Work” โดย Chitra Reddy จาก https://content.wisestep.com
บทความ “How to choose the best uniform for your team.” จาก https://theuniformstylist.com
บทความ “How to design a company uniform in a few steps” โดย HARALD MEYER-DELIUS จาก https://blog.printsome.com
บทความ “What to Wear on a Stage Crew จาก www.liveabout.com
บทความ “Why Do Surgeons Wear Clogs?” โดย Surgery.com.au จาก www.surgery.com.au

เรื่อง : Chanapha.P

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0