โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“น้ำตาล” สินค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 3 ส่งออกไปที่ไหนบ้าง?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 13 มี.ค. เวลา 11.14 น. • เผยแพร่ 13 มี.ค. เวลา 05.45 น.
Cover photo
ทิวทัศน์จากท่าเรือโบทคีย์ (Boat Quay) ไปยังป้อมแคนนิงฮิลล์ (Fort Canning Hill) ในช่วงทศวรรษ 2430 ซึ่งในยุคนั้นสิงคโปร์ยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในภูมิภาค (ภาพ : Andrew Tan Collection, courtesy of National Archives of Singapore อ้างถึงใน https://biblioasia.nlb.gov.sg/vol-16/issue-2/jul-sep-2020/cholera/)

สยามในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 อยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ซึ่งสมัยรัชกาลที่ 3 นั้น เป็นยุคที่บ้านเมืองเริ่มมั่นคง มีการค้าขายติดต่อกับต่างชาติมากขึ้น มีสินค้าหลายชนิดเป็นที่ต้องการในตลาดโลก เช่น ของป่าต่างๆ ครั่ง น้ำตาล ฯลฯ แล้วน้ำตาล สินค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 3 ส่งออกไปที่ไหนบ้าง?

ธุรกิจน้ำตาลยุค “พระนั่งเกล้าฯ”

น้ำตาล เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผลิตในสยามมากเสียจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้
ธุรกิจน้ำตาลก้าวหน้าอย่างมาก เพราะแม้แต่รัชกาลที่ 3 ก็ทรงลงทุนโรงงานน้ำตาล โดยระหว่าง พ.ศ. 2380-2382 ทรงตั้งโรงหีบอ้อยขนาดใหญ่ที่เมืองนครชัยศรี 2 โรง และที่เมืองฉะเชิงเทรา 1 โรง ใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนกว่า 30,712 บาท

การนี้ทรงมอบหมายให้พระยาวิเศษฤๅไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา เป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายเงินดังกล่าว และมีพระยาศรีพิพัฒน์ฯ (ทัต บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมดูแลอีกขั้นหนึ่ง

ตอกย้ำความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมน้ำตาล ด้วยบันทึกของ สังฆราช ฌ็อง-บัปติสต์ ปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ที่ระหว่างเดินทางไปดูแลชุมชนชาวคริสต์ทางตะวันตกของสยามในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2386 ได้แวะพักที่เมืองนครชัยศรี และบันทึกสิ่งที่พบเห็นว่า

“ไร่อ้อยที่เห็นกินบริเวณกว้างอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ บอกให้เรารู้ว่ากำลังเข้าเขตนครชัยศรีแล้ว ไม่นานเราก็เห็นโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่เรียงรายต่อเนื่องกันไป แทบไม่มีสิ่งปลูกสร้างอื่นคั่นกลาง ข้าพเจ้าลองนับดูได้มากกว่า 30 โรง แต่ละแห่งก็จะใช้แรงงานกรรมกรชาวจีนไม่น้อยกว่า 200-300 คน…”

น้ำตาล สินค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 3

ผลิตแล้วก็ต้องมีตลาดระบายสต็อก สยามยุคนั้นติดต่อค้าขายกับต่างชาติ อาทิ ชาติตะวันตกยักษ์ใหญ่อย่างอังกฤษ ชาติมหาอำนาจแห่งโลกตะวันออกอย่างจีน เป็นต้น

การค้ายุคนั้นเป็นการค้าขายตามเมืองท่าต่างๆ ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากสยามที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญในภูมิภาค ก็ยังมี “สิงคโปร์” เมืองขึ้นของอังกฤษ ที่เป็นเมืองท่าและเป็นตลาดโดดเด่นไม่แพ้กัน

สิงคโปร์ในยุครัชกาลที่ 3 โดยเฉพาะทศวรรษ 2370 เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิดของยุโรป อินเดีย (ตอนนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว) และจีน รวมทั้งผลผลิตจากหมู่เกาะอินโดนีเซียและประเทศเพื่อนบ้าน โดยสินค้านำเข้าจากแหล่งหนึ่งสามารถเป็นสินค้าส่งออกไปยังอีกแหล่งหนึ่งได้

เพราะฉะนั้น สิงคโปร์จึงมีลักษณะการเป็นศูนย์รวมสินค้าจากยุโรปและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อส่งต่อไปยังจีน และเป็นศูนย์รวมสินค้าจากจีนเพื่อส่งต่อไปยังยุโรปและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่สิงคโปร์มีพ่อค้าหลายชาติหลายภาษาเข้าไปทำการค้ากันอย่างคึกคัก

สยามเองก็มีสินค้าไปจำหน่ายที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน โดยระหว่าง พ.ศ. 2374-2376 มีหลักฐานบันทึกการค้าเรือสำเภาจีน-สยาม เรื่องสินค้าส่งออกจากสยามไปสิงคโปร์ ซึ่งสินค้า 10 อันดับแรก คือ เกลือ, น้ำมัน, ครั่ง, น้ำตาล, ข้าว, ข้าวเปลือก, ไม้ฝาง, ไม้มะเกลือ, กระทะเหล็ก และยาสูบ

ส่วน จีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของสยาม ใน พ.ศ. 2387 ปรากฏหลักฐานรายการสินค้าบนสำเภาหลวงของสยามจำนวน 4 ลำ ที่เดินทางไปจีน ได้แก่ ไม้ฝาง, พริกไทย, ไม้แดง, ไม้พลอง, ครั่ง, ดีปลี, น้ำตาลทรายแดง, ดีบุก, นอแรด, กระวาน, หมากแห้ง, หางเสือเรือ, สมอเรือ และไม้ประดู่ (ไม้จันทน์แดง) รวมมูลค่าทั้งหมด 103,332 บาท

ขณะที่รายการสินค้าสำเภาของสยามจำนวน 3 ลำ ที่แล่นไปจีนในปีเดียวกัน ประกอบด้วย ไม้ฝาง, พริกไทย, ไม้แดง, ไม้พลอง, ครั่ง, ดีปลี, น้ำตาลทรายแดง, หางเสือเรือ, ไม้ประดู่, ดีบุก และนอแรด รวมมูลค่าทั้งหมด 67,457 บาท

ถึงอย่างนั้น ราคาน้ำตาลในช่วงทศวรรษ 2380 กลับค่อนข้างผันผวน โดยก่อนหน้าที่รัชกาลที่ 3 ทรงประกาศผูกขาดในปี 2382 การผลิตและส่งออกน้ำตาลได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นมีการกำหนดราคาส่งออกให้สูงขึ้น น้ำตาลทุกระดับคุณภาพมีราคาขายหาบละเกือบ 10 บาท ทำให้ทั้งการผลิตและการส่งออกเริ่มลดลง

น้ำตาล สินค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางการค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับชาติตะวันตกและจีน โดยมีสิงคโปร์และจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก อย่างไรก็ดี อาจมีการส่งสินค้าไปยังแหล่งอื่นอีกก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

คุชแมน เจนนิเฟอร์ เวย์น. ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ, แปล. การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2568.

ปวีณา หมู่อุบล. อำนาจนำพระนั่งเกล้าฯ: การเมืองวัฒนธรรมของชนชั้นนำต้นรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มีนาคม 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “น้ำตาล” สินค้าสำคัญสมัยรัชกาลที่ 3 ส่งออกไปที่ไหนบ้าง?

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com