โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

ตุรกี-UN-ยูเครน เปิดวงเจรจา ถกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

PPTV HD 36

อัพเดต 19 ส.ค. 2565 เวลา 14.08 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2565 เวลา 13.14 น.
ตุรกี-UN-ยูเครน เปิดวงเจรจา ถกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อีกไม่กี่วัน สงครามยูเครนจะดำเนินมาครบ 6 เดือน หรือครึ่งปีแล้ว นอกจากความสูญเสียของทั้งบ้านเมืองและชีวิตพลเรือนยูเครน ในเดือนที่หกนี้โลกกำลังเผชิญหน้าความเสี่ยงจากหายนะนิวเคลียร์
ตุรกี-UN-ยูเครน เปิดวงเจรจา ถกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หลังจากที่มีการโจมตีพื้นรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย จนอาจทำให้ระบบของโรงงานดังกล่าวเสียหาย และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลตอนนี้หลายฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ แต่ก็ยังไม่บรรลุผล

ล่าสุดมีความพยายามเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เมื่อวานนี้เลขาธิการยูเอ็นได้ตัดสินใจเดินทางไปยังยูเครนเพื่อหารือประเด็นดังกล่าว

รัสเซียส่งขีปนาวุธเหนือเสียงไปคาลินินกราด ด่านกันชนสหภาพยุโรปและนาโต

จับตาประชุม G20 เดือน พ.ย. นี้ “สีจิ้นผิง-ปูติน” เข้าร่วมด้วย

วานนี้ (18 ส.ค.) อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเดินทางไปยังเมืองลวิฟ ทางภาคตะวันตกของยูเครน เพื่อหารือร่วมกับโวโลดิมีร์ เซเลนสกีประธานาธิบดียูเครน และเรเจป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี

โดยประเด็นหลักในการหารือรอบนี้มี 2 ประเด็นคือ ประเด็นเรื่องการขนส่งธัญพืชในพื้นที่ทะเลดำ และปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย

หลังจากการเจรจาเสร็จสิ้น ผู้นำยูเครนได้ออกมาแถลงข่าวกับสื่อมวลชนว่า ทางยูเครนเห็นด้วยกับเลขาฯยูเอ็นเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย

โดยต้องกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นตามกฎหมายและรัสเซียต้องถอนทหารออกไปจากพื้นที่ดังกล่าวแบบทันทีโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ

ขณะเดียวกันเลขาธิการยูเอ็น ซึ่งร่วมแถลงข่าวร่วมผู้นำยูเครนก็ได้ระบุว่า ทางรัสเซียควรถอนกำลังและอาวุธต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ของโรงงานไฟฟ้าซาโปริซเซีย และทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลอดทหาร (Demilitaried Area) พร้อมย้ำว่า การโจมตีหรือต่อสู้ใด ๆ ในพื้นที่ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นการฆ่าตัวตาย และอีกฝ่ายที่พูดประเด็นการสร้างพื้นที่ปลอดทหารรอบ ๆ โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซียคือ สหรัฐฯ

โดยเน็ด ไพร์ซ โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า สหรัฐฯ มีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นอย่างมาก และสหรัฐฯ ขอให้รัสเซียถอนทหารออกจากพื้นที่ของโรงไฟฟ้าทันที

อย่างไรก็ดี หลังจากที่ยูเอ็น ยูเครน และสหรัฐฯ ออกมาแถลงในทิศทางเดียวกันว่าต้องการให้กองทัพรัสเซียถอนกองกำลังออกจากพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้า ทางรัฐบาลรัสเซียก็ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ทันที

อีวาน นิชาเยฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมาแถลงเมื่อวานนี้ว่า คำขอของทั้งสามฝ่ายที่ต้องการให้รัสเซียถอนทหารออกจากพื้นที่รอบ ๆ โรงไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะยูเครนเป็นฝ่ายที่ทำการโจมตียั่วยุก่อน

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงในการเจรจาสามฝ่าย นอกจากประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ การยุติสงครามในยูเครน

ซึ่งคนที่เปิดเผยเรื่องนี้คือ ประธานาธิบดีตุรกีแถลงว่า การเจรจาในรอบนี้ผู้นำสามฝ่ายได้พูดคุยหารือถึงความเป็นไปได้ในการยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และได้มีการประเมินความเป็นไปได้ในการใช้บรรยากาศความร่วมมือที่เป็นมิตรที่ตุรกี เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพถาวรระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในอนาคต

อย่างไรก็ดี สันติภาพที่ผู้นำตุรกีพูดถึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน และความขัดแย้งในยูเครนอาจส่งผลสะเทือนไปถึงยุโรปด้วย

หลังจากที่เมื่อวานนี้ รัสเซียได้ขนเครื่องบินรบพร้อมหัวรบขีปนาวุธไปประจำการที่แคว้นคาลินินกราด ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของทั้งยุโรปและนาโต

โดยเมื่อวานนี้ กระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกมาแถลงว่า ได้ย้ายเครื่องบินรุ่นมิก-เทอร์ตี้วันอี (MiG-31E) ที่ติดขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงคินซัลจำนวน 3 ลำ ไปประจำการที่แคว้นคาลินินกราด

แคว้นคาลินินกราดตั้งอยู่ที่ไหนและสำคัญอย่างไร

แคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad) เป็นเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซียที่มีพื้นที่ราว 15,100 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลบอลติกระหว่างโปแลนด์และลิทัวเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกนาโต

อย่างไรก็ดี แคว้นคาลินินกราดถือเป็นจุดอ่อนของประเทศสมาชิกนาโต เนื่องจากถ้ารัสเซียปิดล้อมพื้นที่บริเวณนี้ ชาติสมาชิกนาโตอื่น ๆ จะไม่สามารถส่งเรือรบมาให้ความช่วยเหลือประเทศบริเวณนี้ได้เลย

หลายฝ่ายประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า การส่งเครื่องบินรบที่ติดขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงไปยังคาลินินกราดเมื่อวานนี้เป็นไปเพื่อข่มขู่และลงโทษลิทัวเนีย

หลังจากที่ลิทัวเนียบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรตามสหภาพยุโรป ซึ่งรวมเรื่องการจำกัดการเดินทางและการขนส่งสินค้าบางประเภทของรัสเซีย จากบริเวณช่องสุวาลกิที่ตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่โปแลนด์ เบลารุส และลิทัวเนีย ไปยังแคว้นคาลินินกราดด้วย

อย่างไรก็ดี เครื่องบินรบที่รัสเซียส่งไปยังคาลินินกราด ไม่ได้สร้างความไม่พอใจให้แค่กับประเทศแถบทะเลบอลติกเท่านั้น แต่ยังสร้างความไม่พอใจให้กับฟินแลนด์ด้วย

เนื่องจากเครื่องบินทั้งสามลำได้รุกล้ำน่านฟ้าของฟินแลนด์เข้ามาถึงหนึ่งกิโลเมตร ทำให้รัฐบาลของฟินแลนด์ต้องส่งเครื่องบินของกองทัพอากาศขึ้นไปขับไล่ หลังจากนั้นจึงได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0