โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘บีเจซี’ ลงทุนโรงงานกระดาษทิชชู่ใหญ่รอบ 30 ปี ทุ่ม 1,600 ล. รักษา ‘ผู้นำ’ ตลาด

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 22 ก.ค. 2565 เวลา 06.40 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2565 เวลา 06.37 น.

บีเจซี ขยายกำลังการผลิตกระดาษทิชชูเพิ่ม 27,500 ตันต่อปี ทุ่มงบ 1,600 ล้านบาท ส่งนวัตกรรมเครื่องผลิตและเครื่องแปรรูปกระดาษที่ทันสมัย เพิ่มกำลังการผลิตรวมมากที่สุดในประเทศไทย และในกลุ่ม CLMV

บีเจซี ลงทุนเทคโนโลยีเครื่องผลิตและเครื่องแปรรูปกระดาษที่ทันสมัย เพื่อขยายกำลังการผลิตกระดาษทิชชูเพิ่มขึ้น 27,500 ตันต่อปี ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตในประเทศสูงที่สุด กว่า 75,000 ตันต่อปี พร้อมวางแผนเปิดตัวกระดาษทิชชูแบบม้วนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ ทั้ง เซลล็อกซ์ ซิลค์ และ แม๊กซ์โม่ ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ตอกย้ำตำแหน่งแบรนด์ผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดกระดาษทิชชูที่สามารถครองใจผู้บริโภคอย่างยาวนาน

ดร.ตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ ผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เซลล็อกซ์ จำกัด ภายใต้การบริหาร บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี ได้ใช้งบลงทุนราว 1,600 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตกระดาษทิชชูเพิ่มขึ้น 27,500 ตันต่อปี ซึ่งเป็นเครื่องผลิตกระดาษเครื่องที่ 5 หรือ PM 5” ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมสูงที่สุดในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศกัมพฟูชา ลาว เทียนมา และเวียดนาม หรือCLMV โดยเครื่องผลิตกระดาษ PM5 ได้มีการนำเทคโนโลยีในการบดเยื่อแบบ Papillon refiner และการรีดน้ำออกจากกระดาษแบบ Shoe press มาติดตั้งเพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิต และทำให้กระดาษมีความนุ่มมากขึ้น

“ในส่วนโรงงานแปรรูปกระดาษ มีการนำเทคโนโลยีการขึ้นรูปลายกระดาษแบบ Joint Embosser เพื่อให้ได้กระดาษที่มีลวดลายสวยงาม เพิ่มความหนา และการซึมซับที่ดีเยี่ยม ตอบโจทย์การใช้เช็ดทำความสะอาดของผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมถึงมีการนำระบบ automation และหุ่นยนต์ มาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิต มีความต่อเนื่องในด้านคุณภาพ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น และในขั้นตอนการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง บริษัทได้ลงทุนระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ แบบ ASRS (Automated Storage and Retrieval System) และระบบ WMS (Warehouse Management System) ส่งผลให้ต้นทุนลดลงแต่ยังคงคุณภาพตามมาตรฐาน การส่งมอบสินค้ามีความเที่ยงตรง และสามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้สูงสุด"

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนการขยายการผลิตกระดาษทิชชูไปยังตลาดต่างประเทศ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ประเทศเวียดนาม 2 แห่ง คือ BJC Cellox Viet Nam Company Limited และ Vina Paper Company Limited และที่ประเทศกัมพูชา 1 แห่ง คือ BJC Cellox Combodia Company Limited ทั้งนี้ ทำให้กำลังการผลิตกระดาษทิชชูรวมของกลุ่มบีเจซี มีมากกว่า 90,000 ตันต่อปี ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในประเทศไทยและในกลุ่ม CLMV”

ส่วนภาพรวมตลาดกระดาษทิชชู่แบบม้วนมีมูลค่าตลาดราว 3,000-4,000 ล้านบาท ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตทรงตัวราว 4-5% ขณะที่บีเจซีตั้งเป้าหมายการเติบโตมากกว่าตลาด ที่อัตรากว่า 11% โดยปัจจัยที่ทำให้ตลาดเติบโตมากจากความต้องการหรือดีมานด์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับพฤติกรรมการใช้กระดาษเช็ดหน้าเพื่อการแต่งหน้าขยายตัว การใช้เพื่อซับเหงื่อบนใบหน้าและลำคอ รวมถึงการใช้สำหรับเช็ดมือ อีกทั้งการใช้ทิชชู่เปลี่ยนไป จากอดีตใช้กระดาษชำระทำความสะอาดทุกอย่าง เปลี่ยนเป็นใช้ให้สอดคล้องกับกิจกรรมมากขึ้น เช่น กระดาษทิชชู่เช็ดหน้า เช็ดปาก กระดาษเอนกประสงค์ เป็นต้น

ด้านแนวทางด้านการตลาดปีนี้ บริษัทยังใช้งบร่วม ‘“ร้อยล้านบาท”เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และสื่อสารการตลาดสื่อและกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจร ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และอินฟลูเอนเซอร์ และวางแผนร่วมมือกับ ไลน์เฟรนด์ คาแรคเตอร์ยอดฮิตระดับโลก ออกลายใหม่ เพื่อตอกย้ำตำแหน่งแบรนด์ผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดกระดาษทิชชูที่สามารถครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

บีเจซี มีผลิตภัณฑ์กระดาษทิชชู ทั้งหมด 3 แบรนด์หลัก คือ เซลล็อกซ์ (Cellox) กระดาษทิชชูพรีเมี่ยม มีความเหนียวนุ่ม มีทั้งสำหรับซับหน้า กระดาษชำระ กระดาษเปียก ซิลค์ (Zilk) กระดาษทิชชูคุณภาพดีเกินคุ้ม และ แม๊กซ์โม่ (Maxmo) กระดาษอเนกประสงค์ทำความสะอาดงานบ้านทั้งในครัวและนอกครัว นอกจากนี้บีเจซียังได้ผลิตกระดาษทิชชูให้กับซัพพลายเออร์ แบรนด์ต่างๆ อาทิ Lotus’s , Aro, Happy Price Pro ของบิ๊กซี และ Smarter เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0