โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

วิษณุแย้ม 18 กค.ซักฟอกรบ.

สยามรัฐ

อัพเดต 27 มิ.ย. 2565 เวลา 16.30 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2565 เวลา 16.30 น.
วิษณุแย้ม 18 กค.ซักฟอกรบ.

"ปธ.สภา" นัด "วิป 3 ฝ่าย" หารือเคาะวันเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล ยันญัตติ "ฝ่ายค้าน" ไม่เถื่อน "วิษณุ" เผยญัตติอภิปรายฯ ถึงทำเนียบฯ แล้ว พร้อมถกครม. 28 มิ.ย. คาดเริ่มซักฟอก 18 ก.ค. อนุชา ลั่นซักฟอก 4 วัน เยอะแล้ว ด้านกกต.เคาะส.ส.400 เขต เลือกตั้งปี 66 "กทม." เพิ่มขึ้น 3 ที่นั่ง

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.65 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ว่า จะนัดวิปฯ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี(ครม.) วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน มาหารือช่วงกลางสัปดาห์นี้ เพื่อกำหนดกรอบวันเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดว่าจะเป็นช่วงระหว่างวันที่ 18 ก.ค.เป็นต้นไป ส่วนจะอภิปรายกี่วันนั้น จะต้องหารือกัน เนื่องจากผ่านการอภิปรายมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเฉพาะเป็นภารกิจที่รัฐบาลจะต้องมาชี้แจงต่อสภา คาดว่าการจัดสรรเวลาก็คงไม่ต่างกันมาก
นายชวน กล่าวถึงคำร้องปมปัญหาญัตติการอภิปรายไว้วางใจของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 151 หรือไม่ ว่า ฝ่ายค้านได้ตอบยืนยันมาว่าการลงนามมีการลงนามถูกต้อง และแม้จะมีการไปยื่นร้ององค์กรภายนอก หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ก็จะไม่ส่งผลต่อไทม์ไลน์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะคำวินิจฉัยชี้ขาดอยู่ที่รัฐสภาว่าญัตตินั้นถูกต้องหรือไม่ ในกรณีนี้ก็ไม่มีปัญหา จึงได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาล
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฯ มายังทำเนียบรัฐบาลเพื่อหารือกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า สภาส่งมาแล้วรัฐบาลได้รับแล้ว และได้บรรจุวาระเข้าหารือครม.ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณากันว่าครม.จะพร้อมตั้งแต่วันที่เท่าไหร่เป็นต้นไป ส่วนจะกี่วันนั้นให้วิปฯทั้งสองฝ่ายตกลงกันเอง เมื่อถามว่า กรอบของรัฐบาลวางไว้ว่าจะเริ่มอภิปรายในวันที่ 18 ก.ค.ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ประมาณนั้น เพราะก่อนหน้านั้นมีวันหยุด
นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ในวันที่ 28 มิ.ย. จะมีการนำเรื่องญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่ประธานสภาฯส่งมาเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันอภิปราย ซึ่งสภาเป็นผู้ขอความเห็นจาก ครม.ว่าพร้อมในวันไหน หลังจาก ครม.กำหนดวันแล้ว วิปฯสองฝ่ายจะไปหารือกันเพื่อเคาะจำนวนวัน รวมถึงฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้เวลาเท่าไหร่
ส่วนกรณีที่ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลระบุจำนวน 5 วัน เยอะเกินไปนั้น ตนเห็นว่าจากการอภิปรายที่ผ่านมา 4 วัน เยอะสุดแล้วไปลงมติในวันที่ 5 แต่ก็ยังใช้เวลาไม่หมด ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ยังไม่ได้สั่งการอะไร ตอนนี้ต้องรอที่ประชุม ครม.กำหนดไทม์ไลน์
นายอนุชา ยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมจัดโรดโชว์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ว่า ยังไม่ทราบ ส่วนตนยังไม่ได้รับฟัง เพราะไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และคงต้องรอคำสั่งจากหัวหน้าพรรค ที่อาจจะมีอะไรออกมา ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคมีแผนงาน จัดแบ่งคิวกันลงพื้นที่จริงหรือไม่ นายอนุชา กล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามย้ำว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มอบหมายแกนนำลงไปดูแลในแต่ละภาคแล้ว นายอนุชา กล่าวว่า ตอนนี้กำลังจัดหลายๆอย่าง เดี๋ยวค่อยว่ากัน
ส่วน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสุนทร รักษ์รงค์ ลาออกจากสมาชิกพรรค ว่า พรรคมีกระบวนการในการคัดเลือกสมาชิกพรรคที่ได้แสดงเจตจำนงเสนอตัวลงสมัครเป็นสมาชิกสภาฯ ในนามพรรคชัดเจน ในเขตเลือกตั้งใดที่มีผู้เสนอตัวมากกว่าหนึ่งคนก็จะมีขั้นตอนในการคัดเลือกตามข้อบังคับพรรค ซึ่งมีหลายเขตที่มีการทำโพลในพื้นที่ ขณะนี้หลายเขตก็อยู่ในกระบวนการดังกล่าว รวมถึงเขตที่คุณสุนทรเสนอตัวด้วย สุดท้ายก็จะไปจบที่คณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารพรรค
พรรคเคารพในการตัดสินใจของนายสุนทร แต่ไม่ควรให้ร้ายพรรคหรือด้อยค่าพรรคด้วยถ้อยคำที่ไม่ควรพูด ถ้าจะมาบอกว่าบ้านหลังนี้หลังคารั่ว ฝาผนังพัง ยากที่จะดีกลับคืน ถือว่าพูดเกินไป พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองผ่านระยะเวลามายาวนาน หากเปรียบเป็นบ้าน คุณอาศัยบ้านหลังนี้มา ถ้าคุณคิดเห็นเช่นนั้นทำไมไม่หาวิธีการช่วยกัน แต่กลับมาให้ร้ายหลังคาฝาบ้านที่คุณเคยอาศัยอยู่ ตอนกินข้าวนั้งกินในบ้านได้ แต่ขึ้นไปโทษหลังคาฝาบ้านคงไม่ถูกต้อง
ด้าน นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ แนวทางแลนด์สไลด์ที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการปราศรัยในกิจกรรมครอบครัวเพื่อไทย พร้อมพาดพิงถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ว่าตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ของเล่น ไม่ต้องรีบชิงสุกก่อนห่ามนั้น ขอขอบคุณสำหรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของนายวันชัยที่ชี้แนะทางการเมืองให้กับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับทุกความคิดเห็นที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ นายวันชัยไม่ควรวิจารณ์เพียงเพราะต้องการดิสเครดิตหรือเกาะกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ นายวันชัยควรจะใช้ความเป็นอาวุโสกว่าพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และควรหยุดการกระทำที่มีส่วนทำให้บ้านเมืองมาถึงจุดนี้ เพราะที่ผ่านมานายวันชัยเป็นหนึ่งคนที่ทำผิดพลาดครั้งใหญ่มาแล้วในปี 2560 ที่พูดอย่างภาคภูมิใจว่าเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ให้ ส.ว. 250 คน มีสิทธิ์ร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกฯ ทั้งที่ ส.ว.เหล่านั้นไม่ได้รับอนุญาตจากประชาชนให้เข้ามา ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นมรดกบาปที่นายวันชัยและพวกโรยกลีบกุหลาบไว้ให้พล.อ.ประยุทธ์และองคาพยพ ได้มาซึ่งอำนาจจนถึงปัจจุบัน
นางสาวธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า การที่นายวันชัยพูดถึงการรัฐประหารว่าให้นางสาวแพทองธารแบ่งให้ครอบครัวอื่นบ้างนั้น คำพูดดังกล่าวของนายวันชัยเสมือนว่ามองการรัฐประหารเป็นเรื่องปกติที่อาจจะเกิดขึ้นและผูกขาดโดยคนใดคนหนึ่งหรือไม่ การรัฐประหารไม่ใช่การกระทำตามวิถีทางการเมืองทางแนวคิดประชาธิปไตย ทำลายคุณค่าพื้นฐานทางหลักกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายซึ่งนานาประเทศไม่ยอมรับ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศและเข้าสู่ตำแหน่งโดยได้รับฉันทามติจากพี่น้องประชาชน ไม่สมควรต้องถูกรัฐประหารยึดอำนาจไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนที่จะบอกว่าผู้นำประเทศสมควรไปต่อหรือไม่ คือประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงเท่านั้น
นางสาวแพทองธาร ยังไม่เคยเอ่ยปากเรื่องการเข้ามาเป็นแคนดิเดตนายกฯ สักครั้ง นายวันชัยไม่ควรตีโพยตีพายไปมากกว่าความเป็นจริง ในโลกปัจจุบัน ไม่มีอะไรที่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ทุกคนสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศได้หากมีความปรารถนาดี มีความรู้ ความสามารถ ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้เข้ามา ไม่ใช่ชงเอง ตบเองเหมือนที่นายวันชัยและพรรคพวกเคยทำ

วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เผยแพร่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยคำนวณจากจำนวนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 โดยจะมีจำนวน ส.ส.เขต ทั่วประเทศ 400 คน
ทั้งนี้ จำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดที่มี ส.ส. 1 คน 4 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 2 คน 10 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 3 คน 19 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 4 คน 12 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 5 คน 7 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 6 คน 5 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 7 คน 4 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 8 คน 5 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 9 คน 4 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 10 คน 2 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส. 11. คน 2 จังหวัด จังหวัดที่มี ส.ส.16 คน 1 จังหวัด และจังหวัดที่มี ส.ส. 33 คน 1 จังหวัด
จากจำนวน ส.ส.ดังกล่าวส่งผลให้ภาคกลางมี ส.ส. รวม 122 คน จากเดิม 106 คน ภาคเหนือ 39 คน จากเดิม 33 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี ส.ส. 132 คน จาก 116 คน ภาคตะวันออกมี ส.ส. 29 คน จากเดิม 26 คน ภาคตะวันตกมี ส.ส. 20 คน จากเดิม 19 คน และภาคใต้มี ส.ส. 58 คน จากเดิม 50 คน

โดยมีจังหวัดที่มีการเพิ่มขึ้นของ ส.ส. 3 คน 1 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ส.ส.เพิ่มขึ้น 2 คน 5 จังหวัด คือ นครราชสีมา, ชลบุรี, เชียงใหม่, บุรีรัมย์, นนทบุรี และจังหวัดที่ ส.ส.เพิ่ม 1 คน 37 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, เชียงราย, ตรัง, ตาก, นครนายก, นครปฐม, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, บึงกาฬ, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, พังงา, เพชรบูรณ์, แพร่, ภูเก็ต, มหาสารคาม, แม่ฮ่องสอน, ร้อยเอ็ด, ระยอง, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร, สงขลา, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุโขทัย, สุพรรณบุรี, สุราษฎร์ธานี, สุรินทร์, อ่างทอง, อุดรธานี, อุตรดิตถ์ และ อุบลราชธานี

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0