โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

‘คาราบาว’ ตีตลาดเบียร์ โตแบบยกกำลัง

The Bangkok Insight

อัพเดต 31 ม.ค. 2566 เวลา 11.49 น. • เผยแพร่ 31 ม.ค. 2566 เวลา 05.45 น. • The Bangkok Insight
‘คาราบาว’ ตีตลาดเบียร์ โตแบบยกกำลัง

ธุรกิจทั่วไปอาจจะมองแค่การเติบโตแบบเส้นตรง โดยการเพิ่มฐานลูกค้า จากการขยายธุรกิจเดิมที่ตัวเองมีความถนัดไปเรื่อย ๆ

แต่การคิดที่จะสร้าง การเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือExponential Growth คงต้องคิดไปไกลกว่านั้น ซึ่งเส้นทางที่สามารถทำได้ก็คือการเข้าไปตีตลาดในธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล

อุตสาหกรรมเบียร์ในประเทศ เป็นอีกหนึ่งตลาดที่หอมหวานมาก ข้อมูลจากการวิจัยตลาดโดย Euromonitor ระบุว่า ตลาดเบียร์ในประเทศไทยปี 2563 มีมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท ส่วนแนวโน้มอนาคต คาดว่าจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4% ต่อปี

คาราบาว
คาราบาว

แต่อย่างที่ทุกคนทราบว่า ตลาดนี้เกือบทั้งหมดถูกครอบครองโดย 2 เจ้าใหญ่ ได้แก่"บุญรอดบริวเวอรี่" กับ "ไทยเบฟเวอเรจ" ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 95% หากแบ่งเป็นรายแบรนด์ พบว่า ลีโอ ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมาคือ ช้าง 31.2% สิงห์ 11.2% ไฮเนเกน 3.8% และอาชา 2.4%

อย่างไรก็ดี ล่าสุด บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG เจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดง ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่ตลาด ด้วยการตัดสินใจกระโดดเข้ามาเขย่าส่วนแบ่งตลาดเบียร์ โดยเผยว่า บริษัทกำลังมีแผนเตรียมที่จะเปิดตัวแบรนด์ "เบียร์" ของตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าอาจจะใช้ชื่อแบรนด์ว่า "เบียร์คาราบาวแดง" หรือ "เบียร์ตะวันแดง"

CBG มีแผนจะทำผลิตภัณฑ์เบียร์ออกมา 2-3 รสชาติ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย และจะวางขายให้ได้ทั่วประเทศ คาดว่า จะจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการได้ประมาณช่วงไตรมาส 4 ของปี 2566 เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุน 4,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบครบวงจรที่จังหวัดชัยนาท รองรับการผลิตสุราทุกประเภท ทั้งสุราขาว สุราสี วิสกี้ บรั่นดี รวมถึงเบียร์ กำลังการผลิตอยู่ราว 400 ล้านลิตร

ก่อนหน้านี้ CBG ได้เข้าไปลุยในธุรกิจเหล้าแล้ว ภายใต้ บริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด โดยมีแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จัก เช่น ข้าวหอม Tae Yang GALAXY ทว่าการที่จะโตอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องขยายไปสู่ธุรกิจเบียร์ด้วย เนื่องจากซื้อง่ายขายคล่องกว่า นอกจากนั้นกลุ่มคาราบาวยังสามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจ"โรงเบียร์เยอรมัน ตะวันแดง" ที่มีประสบการณ์มากว่า 20 ปี

คาราบาว
คาราบาว

น่าสนใจว่า การเข้ามาแข่งขันของเบียร์แบรนด์ใหม่ของ CBG จะแย่งชิงส่วนแบ่งเจ้าตลาดได้มากน้อยแค่ไหน

ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าบริษัทมีกลยุทธ์ตีเจ้าตลาดอยู่บ่อยครั้ง เช่น เครื่องดื่มวิตามินซี กาแฟกระป๋อง และเครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น

บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองเป็นปัจจัยบวกต่อกรณีที่หุ้น CBG ประกาศเปิดตัวเบียร์แบรนด์ใหม่ของกลุ่มบริษัท โดยเตรียมวางจำหน่ายทั่วประเทศในไตรมาส 4/66 เพราะถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจที่ดี พร้อมต่อยอดด้านการขายสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอยู่แล้ว เช่น สินค้ากลุ่มเหล้าขาว วิสกี้ และโซจู เป็นต้น

ดังนั้น กลยุทธ์นี้จะช่วยหนุนยอดขายเพิ่มขึ้นอีกทาง และมีแนวโน้มอัตรากำไรที่ดีขึ้นจาก Economy of Scale ของโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในบทวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมในประมาณการ แต่เชื่อว่าจะเป็น Potential Growth ที่ดีในอนาคตแน่นอน จึงคงคำแนะนำ"ทยอยซื้อ" หุ้น CBG

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ประเมินว่าการที่ราคาหุ้น CBG ปรับบวกแรงตามข่าวเตรียมประกาศเปิดตัวเบียร์ของทางเครือ มุมมองเห็นว่าเป็น Upside risks ต่อราคาเป้าหมายของ CBG ราว 16.6 บาท จากตลาดเบียร์ที่มีผู้เล่นน้อยราย และสร้าง Gross Profit Margin ราว 10%

คาราบาว
คาราบาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น