โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ครั้งหนึ่งเราเคยฆ่าวาฬฟินไป 750,000 ตัว แต่พวกมันก็กลับมา เมื่อได้โอกาส

Environman

เผยแพร่ 02 พ.ค. เวลา 01.00 น.

ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยฆ่า ‘วาฬฟิน’ ในมหาสมุทรไปกว่า 750,000 ตัว จนเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตัว ผลักดันพวกมันไปสู่ขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์ แต่เมื่อเราให้โอกาส ธรรมชาติก็มักกลับมาได้เสมอ วาฬฟิน สัญลักษณ์แห่งความหวังและการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จ

วาฬฟิน หรือ Fin whale สัตว์ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจาก วาฬสีน้ำเงิน พวกมันสามารถใหญ่ได้ถึง 26 เมตรซึ่งยาวกว่ารถเมล์ 2 คันต่อกัน ไม่เพียงเท่านั้นมันยังหนักได้กว่า 72 ตัน แถมยังมีอายุยืนยาว 70-80 ปีในธรรมชาติ

แต่สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดก็คือในช่วงตลอดศตวรรษที่ 20 วาฬฟินถูกฆ่ามากถึง 700,000 ตัวในระหว่างปี 1904 ถึง 1976 หรือ 72 ปี บางรายงานประเมินว่าตัวเลขอาจสูงถึง 725,000-750,000 ตัว เมื่อคิดเป็นตัวเลขกลม ๆ แล้วเราฆ่าวาฬฟินเฉลี่ยไปปีละ 100,000 ตัว นับเป็นปริมาณมหาศาลที่น่าตกใจ

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าในช่วงเวลายุคมืดที่สุด วาฬฟินมีประชากรเหลือไม่ถึง 1% เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนมีการล่าวาฬ แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าอาจเหลืออยู่ราว 2-3% ของประชากร แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ลบล้างความจริงที่ว่า เราเคยผลักดันสายพันธุ์นี้ให้ใกล้กับขอบเหวแห่งการสูญพันธุ์มากแค่ไหน

“หากคุณลดจำนวนประชากรลงเหลือ 1% หรือ 2% นั่นคือใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่งแล้ว” ดร. Helena Herr นักนิเวศวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก เยอรมนี กล่าว “และคุณไม่สามารถแน่ใจได้ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดนั้นจะฟื้นตัวได้เลย”

นักล่าวาฬ ชาวประมง นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้คนทั่วไปในยุคนั้นรับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขาเห็นวาฬฟินน้อยลงเรื่อย ๆ จนกลายเป็นสัตว์หายาก กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศหยุดการล่าวาฬเชิงพาณิชย์โดยสิ้นเชิง

ต้องใช้เวลาหลายปีกว่ามนุษย์จะรู้ตัว บางครั้งมันก็เกือบสายเกินไป ท้ายที่สุดคำร้องก็ได้รับการตอบสนอง คณะกรรมาธิการได้ลงมติห้ามล่าวาฬหลายสายพันธุ์ในที่สุดไม่ว่าจะเป็น วาฬฟิน วาฬหัวทุย และวาฬอื่นตั้งแต่ปี 1982 นับตั้งแต่นั้นมา เหล่ายักษ์ใหญ่แห่งมหาสมุทรก็ได้อยู่อย่างสงบ (ปัจจุบันยังมี 2 ประเทศที่ล่าวาฬอยู่คือ ญี่ปุ่น และ ไอซ์แลนด์)

ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า วาฬฟินที่เหลืออยู่น้อยนิดจะสามารถฟื้นตัวเองกลับมาได้ และมหาสมุทรก็เป็นสถานที่ที่ใหญ่เอาเรื่อง แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 40 ปี นักวิทยาศาสตร์ทุกคนก็ประหลาดใจ

“นี่เป็นหนึ่งในการสังเกตการณ์ที่น่าตกใจที่สุดในชีวิตฉัน” ดร. Herr บอก

สำหรับดร. Herr แล้ว ความประหลาดใจดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่กำลังสำรวจแอนตาร์กติกาเพื่อติดตามวาฬมิงค์ (Minke whale) อยู่ ทีมงานก็ได้เห็นสิ่งแปลกตาที่เส้นขอบฟ้า มันเป็นเหมือนควันที่พุ่งออกมาจากปืนใหญ่ในการต่อสู้ยุคเก่าของยุโรป แต่แท้จริงแล้วมันคือ ไอน้ำที่ถูกพ่นออกมาจากสัตว์ยักษ์อันดับสองของโลก

มันคือไอน้ำของวาฬฟินที่รวมกลุ่มกันเพื่อกินตัวเคยกันอย่างเอร็ดอร่อยใกล้ ๆ กับเกาะช้างซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสุมทรแอนตาร์กติกา “วาฬฟินดูเหมือนจะวุ่นวายมากเพราะมีอาหารอยู่มากมาย มันน่าตื่นเต้นมาก” ดร. Herr กล่าว

หลังจากการพบกับฝูงวาฬฟินกลุ่มใหญ่โดยบังเอิญ ดร. Herr ได้ตัดสินใจขอทุนเพื่อศึกษาการฟื้นฟูของวาฬสายพันธุ์นี้ และพวกเขาก็กลับไปยังสถานที่เดินอีกครั้งในปี 2018 และ 2019

จากการสำรวจทางอากาศ นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจนับจำนวนวาฬฟินได้คร่าว ๆ เป็นจำนวน 150 ตัวที่กำลังง่วงอยู่กับการกินตัวเคย นี่เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งบอกว่า ยักษ์ใหญ่เหล่านี้เริ่มกลับสู่มหาสมุทรแล้ว

ดร. Herr อธิบายว่าการอยู่ท่ามกลางงานเลี้ยงของวาฬฟินนั้นราวกับยืนอยู่บนน้ำทะเลเดือด ๆ “น้ำรอบตัวเรากำลังเดือด เพราะสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นมาตลอดเวลา” เธอ กล่าว “แค่การยืนดูเฉย ๆ ก็น่าตื่นเต้นมาก” ทีมวิจัยประเมินว่าอาจมีวาฬฟินเกือบ 8,000 ตัวในพื้นที่แอนตาร์กติกานี้

การฟื้นฟูนี้ยังคงดำเนินต่อไปและถูกถ่ายทำโดยทีมของ National Geographic ในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์ประเมินจำนวนการการถ่ายภาพด้วยโดรนระบุว่ามีมากกว่า 300 ตัว นับเป็นปริมาณที่มากที่สุดเท่าที่เคยสำรวจกันมา

“เป็นการยืนยันว่ารูปแบบ(การฟื้นฟู)นี้ยังคงดำเนินต่อไป และกำลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” Jarrod Santora นักชีววิทยาด้านการประมงจากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิจัยกลุ่มแรก ๆ ที่บันทึกจำนวนประชากรวาฬฟินที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ศึกษาตัวเคย กล่าว

วาฬฟินเหล่านี้มารวมตัวกันเพื่อกินตัวเคย ซึ่งเกิดจากสารอาหารที่ถูกพัดมาจากน้ำลึกในมหาสมุทร กระแทกเข้ากับกำแพงสูงชันของไหล่ทวีป สารอาหารเหล่านี้เป็นอาหารให้แพลงก์ตอนพืช ซึ่งก็เป็นอาหารให้กับตัวเคยอีกทอดหนึ่ง ทำให้บริเวณนั้นอุดมไปด้วยอาหาร และวาฬก็เข้ามากินกันอย่างเอร็ดอร่อย

งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้เผยให้เห็นว่า การฟื้นตัวของวาฬฟินไม่ได้เป็นเพียงผลดีต่อวาฬสายพันธุ์นี้เท่านั้น แต่ยังดีต่อระบบนิเวศทั้งหมดด้วย เนื่องจากวาฬฟินกินตัวเคยเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะขับถ่ายออกมาเป็นธาตุเหล็ก แร่ธาตุเหล่านี้จะไปช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช

สิ่งสำคัญก็คือแพลงก์ตอนพืชเหล่านั้นเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง ดังนั้นวาฬฟินจึงช่วยโลกดูดซับคาร์บอนส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อยออกมาทางอ้อม ยิ่งมีพวกมันเยอะขึ้นผลกระทบก็มากขึ้นไปตาม การฟื้นฟูของมันจึงดีต่อทั้งเราและดีต่อทั้งดาวเคราะห์โลก

“เมื่อมีการกำจัดวาฬ สิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องสูบวาฬ’ ก็ถูกกำจัดออกไป ฟังก์ชั่นพื้นฐานของระบบนิเวศถูกนำออกไปโดยการกำจัดวาฬ ดังนั้นหากสายพันธุ์วาฬกำลังฟื้นตัว เราก็สามารถฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศเหล่านี้ ซึ่งดำรงอยู่มานานหลายร้อยปี” ดร. Herr กล่าว

ขณะที่วาฬฟินผลักดันตัวเคยให้ขึ้นสู่ระดับผิวน้ำ พวกมันก็ช่วยให้สัตว์นักล่าอื่น ๆ ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็น นกทะเล และแมวน้ำ ซึ่งเป็นความร่วมมือและการพึ่งพากัน ท้ายที่สุดทุกคนก็ได้รับประโยชน์

ปัจจุบัน มนุษย์ยังคงเร่งการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจำนวนมากในอัตราที่รวดเร็ว ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของวาฬฟินเป็นสัญญาณแห่งความหวังว่า ‘หากเราให้โอกาส ธรรมชาติก็มักจะกลับมาได้เสมอ’

ขอแค่เราสร้างโอกาสและปกป้องมันเอาไว้

ที่มา

https://polarjournal.ch/…/significantly-more-fin…/

https://www.nytimes.com/…/fin-whales-antarctica.html

https://www.1ocean.org/…/sparking-hope-of-recovery-fin…

https://www.swoop-antarctica.com/…/antarcticas-fin…/

https://www.nationalgeographic.com/…/watch-the-largest…

https://www.nature.com/articles/s41598-022-13798-7

https://www.theguardian.com/…/vast-group-of-southern…

Photo : Helena Herr

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0