โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชม “สุสานโปรเตสแตนต์” มองประวัติศาสตร์ พินิจคุณค่าการตอบแทนคุณแผ่นดิน กับ We are CP

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 30 พ.ค. เวลา 17.48 น. • เผยแพร่ 07 ก.ย 2566 เวลา 04.48 น.
IMG_3278

เมื่ออดีตคือรากเหง้าสำคัญของปัจจุบัน We are CPจึงได้จัดกิจกรรมสำรวจประวัติศาสตร์แบบฉบับใหม่ ภายใต้ชื่องาน Untold Story#1 Protestant Cemeteryเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2566 ชักชวนพนักงานบ. เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัทในเครือ ร่วมชมประติมากรรมยุโรป ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ณ สุสานโปรเตสแตนต์หรือ“สุสานฝรั่ง”สถานพำนักแห่งสุดท้ายของผู้วายชนม์ โดยเฉพาะชาวยุโรป และผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ที่มีอายุเก่าแก่ย้อนกลับไปในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

Untold Story#1 Protestant Cemetery พาทุกคนไปสำรวจสุสานโปรเตสแตนต์ แลนด์มาร์คสำคัญอีกจุดหนึ่งของเขตบางคอแหลม ซึ่งสามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์อย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกเรื่องความกตัญญูและการตอบแทนคุณแผ่นดิน

โดย คุณธาดา เศวตศิลาที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์ ได้ให้เกียรตินำชม และชวนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำความรู้จักบุคคลสำคัญชาวตะวันตกผู้เข้ามาอยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย ก่อนจะสร้างคุณประโยชน์ไว้อย่างมากมายให้คนรุ่นหลัง หลายคนเป็นบุคคลมีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ และมีคุณูปการต่อชาติบ้านเมืองไม่น้อย แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนแต่เดิมของพวกเขาก็ตาม

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะเข้าร่วมทริปด้วย เนื่องจากเป็น 1 ในกิจกรรม One Day Trip ย่ำเท้าเล่าเรื่อง ถิ่นเก่าเจริญกรุง ซึ่งคุณชัชชาติมีความเห็นถึงการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และอยากพัฒนาทางเดินริมน้ำในย่านดังกล่าวให้เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของคุณธาดาที่ต้องการส่งเสริมให้สุสานฝรั่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในย่านเจริญกรุง เพื่อช่วยปลูกฝังเรื่องการตอบแทนคุณแผ่นดินและความกตัญญู เป็นแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียนใน กทม. สะท้อนคุณค่าประวัติศาสตร์ความกตัญญู และอยากให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเข้ามาเยี่ยมชม

สุสานโปรเตสแตนต์ที่เต็มไปด้วยสงบและร่มรื่นแห่งนี้ ตั้งอยู่ถัดจากโรงงานยาสูบ 1 ซอยเจริญกรุง 72/5 ถนนเจริญกรุง เขตบางคอแหลม อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ ในอดีตฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาคือด้านหน้าสุสาน แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นด้านถนนเจริญกรุงตามสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2396 เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในสยามขณะนั้น ภายในสุสานยังแบ่งเป็นสุสานของชาวยิวอีกประมาณ 2 ไร่

พูดคุยกับ “ธาดา เศวตศิลา” ประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์

คุณธาดา เศวตศิลา ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้น นอกจากจะเป็นประธานมูลนิธิสุสานโปรเตสเแตนต์ เป็น “เหลน” ของเฮนรี อาลาบาศเตอร์ หนึ่งในร่างที่ทอดกายอยู่ใต้ชั้นดินสุสานแห่งนี้ คุณธาดายังเป็นพุทธศาสนิกชนเพียงคนเดียวในคณะกรรมการมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์ เพราะที่เหลือคือชาวคริสต์โปรเตสแตนต์ทั้งหมด

คุณธาดาเล่าว่า สุสานโปรเตสแตนต์มีความเก่าแก่ เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 งานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมต่าง ๆ ล้วนมีกลิ่นอายความเป็น “ฝรั่ง” หรือแบบตะวันตก ที่ดินบริเวณนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งพระราชทานที่ดินราว 7 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ฝังศพและประกอบพิธีทางศาสนาคริสต์ ในห้วงเวลาที่สยามเปิดประตูรับผู้คนและวิทยาการจากตะวันตก ซึ่งมีชาวตะวันตกหลายประเทศ เช่น โปรตุเกส อังกฤษ เข้ามามากมาย

คุณธาดากล่าวว่า “ถ้านับจากรัชสมัยรัชกาลที่ 4 มาจนปีนี้ก็ราว 170 ปีแล้ว… ตอนนั้นราชการไทย-คนไทย ไม่รู้พิธีเกี่ยวกับคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ จึงให้สถานทูตอังกฤษดูแล สถานทูตอังกฤษก็ดูแลมาประมาณร้อยปี พอถึงจุดหนึ่งจึงบอกว่า น่าจะเป็นเรื่องของชุมชนทางนี้ดูแลต่อ”

ขณะนี้ “สุสานโปรเตสแตนต์” มีผู้วายชนม์ฝังอยู่มากกว่า 1,500 หลุม ในอดีตดูแลด้วยระบบขายเช่าที่ดิน เป็นชุมชนของชาวต่างชาติดูแลร่วมกัน แต่เนื่องจากว่าพื้นที่เหลือน้อยลงทุกที จึงมีกรรมการคนหนึ่งเชิญชวนให้คุณธาดา ซึ่งเป็นเหลนของ “เฮนรี อาลาบาศเตอร์” มาเป็นกรรมการสุสาน เพื่อดูแลและบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้นในลักษณะของการเป็นมูลนิธิ มีการเก็บค่าเช่าบำรุง และการทำระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้

“ผมรับผิดชอบดูแลมูลนิธิสุสานโปรเตสแตนต์มาเป็นปีที่ 7 แล้วครับ ภารกิจที่จะต้องทำคือ การดูแลเรื่องน้ำท่วม เพราะที่นี่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และเขื่อนก็ทรุดโทรม ดังนั้นในปี 2559-2560 จึงได้ประสานไปยังสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ให้ช่วยเข้ามาดูแล ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้มาช่วยสร้างเขื่อนใหม่ต่อท่อไป”

คุณธาดายังเล่าถึงเหตุการณ์ประทับใจที่ทำให้มุ่งมั่นดูแลสุสานโปรเตสแตนต์แห่งนี้อย่างดีที่สุดว่า เป็นเพราะได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเคยเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ เมื่อครั้งพระองค์ทรงเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ท่านรับสั่งกับผมตอนงานพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อผม (คุณสิทธิ เศวตศิลา) เมื่อปี 2558 ว่า ‘ช่วยดูแลหน่อย หลุมศพพวกนี้น่าสงสาร เพราะน้ำท่วมทุกปี’ ผมจึงนำกระแสพระราชดำรัสและคำแนะนำของพระองค์มาบูรณาการ เป็นชาวพุทธคนเดียวที่เป็นคณะกรรมการดูแลสุสานโปรเตสแตนต์ ที่เหลือเป็นโปรเตสแตนต์หมดเลยนะครับ ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสภาคริสตจักรประเทศไทยมากพอสมควร” คุณธาดากล่าว

เรื่องการดูแลและพัฒนานั้น คุณธาดาให้ข้อมูลว่า หลังจากสุสานโปรเตสแตนต์ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันได้เปิดให้มีการใช้พื้นที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์และละคร จึงมีศักยภาพพอที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ สำนักงานเขตบางคอแหลมก็เล็งเห็นว่า ที่นี่เหมาะที่จะทำเป็น One Day Trip ร่วมกับคณะของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งทางคุณธาดามองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี จึงตอบรับ

“ผมอยากจะเผยแพร่คอมมูนิตี้ตรงนี้ไปสู่กระแสของความนิยมชมชอบประวัติศาสตร์ไทย อยากจะให้เกิดคอนเทนต์ประวัติศาสตร์กับพื้นที่ตรงนี้ อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเยี่ยมชม มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณค่าของการตอบแทนบุญคุณของคนต่างชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทย”

ใครอยู่ใน “สุสานโปรเตสแตนต์” ?

จากการพูดคุยกับคุณธาดา เราได้รายชื่อคนสำคัญ ๆ ที่หลับใหลอยู่ ณ สุสานแห่งนี้หลายคนด้วยกัน แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือคุณทวดของคุณธาดาคือ เฮนรี อาลาบาศเตอร์(Henry Alabaster) ต้นสกุล “เศวตศิลา”

มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ทำหน้าที่รักษาการกงศุลใหญ่ประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย ในช่วงเวลาที่สยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ทั้งเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เมื่อรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ณ หาดหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ท่านยังเป็นราชเลขานุการด้านการต่างประเทศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

มิสเตอร์เฮนรี อาลาบาศเตอร์ ยังสร้างคุณประโยชน์อีกมากมาย มีส่วนสำคัญในการวางแนวถนนสายสำคัญสายแรก ๆ ของประเทศ ทั้ง ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ฯลฯ ที่สำคัญคือ ท่านเป็นผู้นำลอตเตอรี่เข้ามาในประเทศไทยเป็นคนแรก

คนต่อมาเชื่อว่าคนไทยน่าจะคุ้นชื่อของท่านอยู่แต่เดิมคือ “หมอบรัดเลย์”หรือ แดน บีช แบรดลีย์(Dan Beach Bradley) นายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทำการ “ผ่าตัดใหญ่” ด้วยวิทยาการการแพทย์แบบตะวันตกครั้งแรกในสยาม และเป็นผู้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของสยามนั่นเอง

คนต่อมาคือ ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์(George B. McFarland) หรือ “หมอแมคฟาร์แลนด์”อีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์คนสำคัญของไทย ท่านเป็นบุรุษผู้มีสมญานามว่าเป็น “อิฐก้อนแรกของโรงเรียนแพทย์” หรือ “อิฐก้อนแรกของศิริราช” ซึ่งภายหลังท่านได้รับยศเป็น อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม

“แหม่มโคล”แห่งโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หรือ เอ็ดนา ซารา โคล(Edna Sarah Cole) เป็นอีกท่านหนึ่งที่อยู่ที่นี่ ท่านเป็นครูฝรั่งผู้มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานให้แก่โรงเรียน “วัฒนาวิทยาลัย” หรือโรงเรียนมิชชันนารีหญิงแห่งแรกของสยาม

อีกคนคือ “กัปตันบุช”หรือจอห์น บุช(John Bush) บ้างรู้จักในนาม “พระยาวิสูตรสาครดิฐ” เป็นเจ้าของอู่ต่อเรือชาวอังกฤษผู้รับราชการในสยาม และกรมเจ้าท่าในสมัยรัชกาลที่ 5

นอกจาก 5 ท่านข้างต้นแล้ว เรายังพบหลุมศพบุคคลผู้มีชื่อเสียงท่านอื่น ๆ เช่น แซมมวล เจ. สมิธ(Samuel J. Smith) เจ้าของโรงพิมพ์หมอสมิธ จอร์จ ดูปองท์(George Dupont) หรือ“ยอด”ชายชาวสยามคนเดียวที่ได้เข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองอเมริกา ผู้เข้าร่วมกับฝ่ายสหภาพ และเชื่อว่าคงมีอีกหลายท่านที่ฝากเกียรติประวัติไว้บนผืนแผ่นดินไทย หลับใหลอยู่ในสุสานแห่งนี้เช่นกัน

ในกิจกรรมที่เปี่ยมด้วยความรู้ประวัติศาสตร์เช่นนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงความสำคัญของเขตบางคอแหลมในฐานะการเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม เพราะมีทั้ง วัด โบสถ์ มัสยิด รวมถึงการมีอยู่ของสุสานโปรเตสแตนต์ ที่ภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญและบูรณาการร่วมกันอย่างยั่งยืน

ด้านคุณธาดาได้กล่าวทิ้งท้าย เชิญชวนให้ทุกคนมาเยี่ยมชมสุสานโปรเตสแตนต์ โดยแนะนำให้มาช่วงเย็นซึ่งบรรยากาศดี มีลมแม่น้ำพัดมาเป็นระยะ สร้างความผ่อนคลายสบายใจ ภายในสุสานมีเจ้าหน้าที่ดูแล สามารถติดต่อสอบถามได้ คุณธาดายังบอกด้วยว่า นอกจากสถาปัตยกรรมตะวันตกที่น่าชมภายในสุสานแล้ว หากผู้เข้าชมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของบุคคลสำคัญที่อยู่ในสุสานแห่งนี้ ที่ล้วนมีส่วนพัฒนาชาติบ้านเมือง ก็จะทราบว่าพวกเขาล้วนเป็นคนต่างชาติที่รักแผ่นดินไทยทั้งสิ้น

“Untold Story#1 Protestant Cemetery” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ จาก We are CP และนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการอนุรักษ์มรดกความทรงจำของชุมชน ที่สามารถชูคุณค่าเรื่องความรักชาติ และต่อยอดไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ชม “สุสานโปรเตสแตนต์” มองประวัติศาสตร์ พินิจคุณค่าการตอบแทนคุณแผ่นดิน กับ We are CP

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น